บทความจาก Online Station Magazine
อนิเมะมีการพัฒนามาตลอดเวลานับเวลาหลายปีที่ผ่านมา อาชีพแอนิเมเตอร์ถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ทำให้อนิเมะสามารถผลิตขึ้นมาได้ ซึ่งปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 200 เรื่องต่อปีที่ฉายทางโทรทัศน์ญี่ปุ่น เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามแอนิเมเตอร์ถือว่าเป็นอาชีพที่ว่ากันว่า รายได้น้อยมากๆ รายได้ไม่แน่นอน บ้างก็ว่าน้อยกว่าพนักงานพาร์ทไทม์หรือค่าขนมนักศึกษาอีก มาทำความรู้จักงานด้านนี้ดีกว่า
ห้องทำงานของแอนิเมเตอร์
งานของแอนิเมเตอร์ญี่ปุ่น
การทำงานของแอนิเมเตอร์ของญี่ปุ่นจะต่างกับฝั่งอเมริกาไปบ้าง โดยหน้าที่สำหรับแอนิเมเตอร์ญี่ปุ่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการวาดภาพตัวละคร (อาจมีฉากบางส่วน) แบ่งเป็น 3 หน้าที่หลัก
1. Key Animation คนวาดภาพหลักของแต่ละซีน
2. Secondary Key Animation วาดภาพบางเฟรมเพิ่มเติม
3. In-Between Animation หน้าที่หลักจะอยู่ที่ภาพเคลื่อนไหวระหว่างเฟรมต่างๆ
งานที่เกี่ยวข้องกับการวาดยังมี Character Design, Chief Animation Director และ Animation Director แล้วยังมีหน้าที่อื่นที่เกี่ยวกับพื้นหลัง CG เลย์เอาท์ ลงสี และอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
แอนิเมเตอร์ใช้ทีมงานจำนวนมาก
ถ้าใครเคยลองวาดภาพใส่สมุดมาทำเป็นภาพเคลื่อนไหว อาจจะเข้าใจว่ายากขนาดไหนกับการทำภาคเคลื่อนไหวสั้นๆ แอนิเมชั่นปกติส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 24–30 เฟรมต่อวินาที การวาดภาพแบบลงรายละเอียดมากๆ ใช้เวลานานเหมือนกัน (เฉพาะตัวละคร) ถ้าคิดว่าอนิเมะเรื่องหนึ่งมี 25 เฟรมต่อวินาที หนึ่งนาทีก็จะใช้ภาพ 1,500 เฟรม และ 20 นาที ใช้อย่างต่ำ 30,000 เฟรมขึ้นไปต่อตอน ถึงจะมีวิธีลดจำนวนเฟรมลงด้วยภาพซ้ำ ภาพนิ่ง ฉากย้อนอดีตต่าง แต่ก็ยังคงต้องวาดภาพจำนวนหลักพันปลายๆ ของแต่ละตอน
ทีวีอนิเมะส่วนใหญ่ประมาณ 12 ตอน จะใช้แอนิเมเตอร์เฉลี่ยประมาณ 50-70 คนขึ้นไป ไม่รวมบริษัทที่เข้ามามีส่วนร่วมรับงานในแต่ละตอนเพื่อให้งานเสร็จทันเวลา ซึ่งต้องเผื่อกรณีมีซีนแก้ไขเนื่องจากภาพไม่ต่อเนื่องหรือผิดพลาดกันบ้าง ก่อนส่งไปขั้นตอนต่อๆ ไป
แอนิเมเตอร์อิสระที่ทำงานที่บ้านก็มีกล่าวถึง (ภาพจากเรื่อง Shirobako)
กรณีบางเรื่องที่เร่งด่วน อาจต้องใช้คนมากกว่านั้น ตัวอย่างเรื่อง Mahou Shoujo Madoka Magica (2011) มีรายชื่อ Key Animator ร่วม 233 คนปรากฏในเครดิต 12 ตอน นอกจากคนในสตูดิโอแล้ว ยังต้องใช้สตูดิโออื่นช่วยงาน 2nd Key Animation ประมาณ 33 สตูดิโอ และ In-Between Animation ร่วม 30 สตูดิโอ
แรงกดดันที่เกิดประเด็นอยู่เรื่อยๆ
ข่าวของอาชีพแอนิเมเตอร์ในญี่ปุ่น มีมาเป็นระยะๆ ในช่วงนี้ อย่าง แอนิเมเตอร์ชาวอเมริกาในญี่ปุ่นก็ออกมาระบายถึงวงการแอนิเมเตอร์ญี่ปุ่นกัน ซึ่งมีการใช้คำว่า “ใช้แรงงานทาส” กันเลย ทำให้หลายสื่อเริ่มเอาไปพาดพึงถึงความโหดร้ายของวงการแอนิเมเตอร์ญี่ปุ่นที่เหมือนใช้แรงงานทาสมากกว่า จนเริ่มมีแอนิเมเตอร์ต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นออกมาแย้ง
เมื่อประมาณ 6 มีนาคมที่ผ่านมา เฮ็นรี่ เธอร์โลว์ ชาวอเมริกันที่ได้ไปทำงานเป็นแอนิเมเตอร์ในญี่ปุ่น เคยร่วมงานหลายเรื่อง เช่น Tokyo Ghoul √A, Akatsuki no Yona, Tokyo Ravens, Naruto Shippuden และหลายเรื่องของสตูดิโอ Pierrot แล้วเคยทำงาน Nakamura Productions ได้พูดถึงเรื่องนี้บ้าง เนื้อความสำคัญในทวิตเตอร์เขา กล่าวถึง งานที่หนักมากๆ อาจต้องทำงานถึงเดือนครึ่งแบบไม่หยุดพัก ไม่มีการพูดคุยกันระหว่างงานและดูเหมือนจะไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนแปลงมัน รายได้เขาอาจไม่ถึง 100 เหรียญต่อเดือน (3 พันกว่าบาท)
หลังสื่อต่างๆ คัดเฉพาะท่อนที่เฮนรี่ไม่พอใจสตูดิโอไปลง ทำให้มีแอนิเมเตอร์ต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นอีกหลายคนที่ให้ความเห็นแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะไปในทิศทางเดียวกัน คือ ได้เสนอในมุมมองที่ต่างไป ถึงเงินที่ได้มากกว่าต่อเดือนและไม่เคยไปโรงพยาบาลและรายได้มากกว่านั้นนับ 10 เท่า ถึงงานหนักจริง แต่ก็มีวันหยุดพักผ่อนลายาวได้
Key Animation จากเรื่อง Little Witch Academia
หลังจากนั้น เฮนรี่ ก็มาตอบกลับทวิตเตอร์ของเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกับเขา ถึงบทสัมภาษณ์ที่ยาวของเขาแล้วถูกตัดทอนไปเยอะ ความจริงเขายังคงพอใจกับสตูดิโอใหม่ที่เขาทำงานด้วยอย่าง Pierrot ที่ดูแลดีกว่า ต่างกับสตูดิโอเก่าที่ใช้งานหนัก ค่าแรงน้อย และเขายังพอใจกับอาชีพในฝันของเขาอยู่ ประเด็นถึงจะจบไปด้วยดีแต่ดูเหมือนข่าวด้านลบที่เผยแพร่ไปแล้ว ส่วนใหญ่จะยังคงไม่ถูกแก้ไขจนถึงทุกวันนี้
ก่อนหน้านี้เมื่อปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แอนิเมเตอร์ที่อยู่ในวงการมานาน อย่าง คามิมูระ ซาจิโกะ ได้ลงความเห็นเรื่องที่แอนิเมเตอร์หน้าใหม่มีรายได้เพียง 120 เยน หรือประมาณ 30 กว่าบาทต่อชั่วโมง (ค่าเงินญี่ปุ่นสูงกว่าไทยหลายเท่า) และควรมีรายได้ขั้นต่ำที่มากกว่านี้ แต่ก็มีแอนิเมเตอร์บางส่วนที่แย้งผ่านทวิตเตอร์เช่นกันว่าไม่ควรอ้างอิงจากตัวเธอ
อีกเคสเมื่อกลางปีก่อน แหล่งข่าวไม่ได้ระบุเรื่องอาชีพแต่ระบุเพียงว่าเป็นสต๊าฟจากสตูดิโอ A-1 Pictures วัย 28 ปี ได้ฆ่าตัวตาย โดยมีการพบข้อมูลว่าเขาต้องทำงานถึง 600 ชั่วโมงต่อเดือน (ถ้า 30 วัน ก็วันละ 20 ชั่วโมง) ซึ่งต่างจากหลักฐานการเข้าทำงานของบริษัท
งานหนัก ค่าแรงน้อย แต่ใจรัก
โดยปกติค่าแรงของแอนิเมเตอร์ในประเทศต่างๆ จะอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง เพราะงานหนักมาก แม้จะเป็นทีวีแอนิเมชั่นที่ทำเพียงไม่กี่ตอน แต่กรณีประเทศที่แข่งขันสูงแบบญี่ปุ่นและผลิตแอนิเมชั่นจำนวนมาก ด้วยทุนและผลกำไรที่จำกัด การจ้างแอนิเมเตอร์จำนวนมากทำให้หลายสตูดิโอเลือกจ่ายค่าแรงเป็นผลงานที่ทำมากกว่า อีกทั้งอาจจ้างในลักษณะแอนิเมเตอร์อิสระทำงานที่บ้านเพื่อลดรายจ่ายส่วนต่างๆ ลง
เรื่องค่าแรงน้อย เป็นประเด็นในญี่ปุ่นเหมือนกัน
ถึงแอนิเมเตอร์จะงานหนักมาก แต่คนที่มีประสบการณ์มากขึ้นสามารถทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ลดคุณภาพลง รายได้จึงเพิ่มขึ้นตามลำดับ อีกทั้งอาจเลื่อนตำแหน่งไปเป็นระดับหัวหน้าหรืออาชีพที่เงินดีกว่า อย่าง Character Design, Animation Director และอื่นๆ จนไปถึงตำแหน่งผู้กำกับของเรื่องก็เคยมี ซึ่งเป็นอนาคตที่หลายคนฝันถึง แต่โอกาสจะก้าวไปถึงจุดนั้นก็ไม่ง่าย เพราะอัตราแข่งขันธุรกิจสูงและจำนวนสตูดิโอที่ไม่มากนัก
Key Animation จากเรื่อง Neon Genesis Evangelion
ภาพจากเรื่อง Mahou Shoujo Madoka Magica