ไขปริศนาทำไมบางคนเล่นเกมแนว FPS แล้วเวียนหัว

แชร์เรื่องนี้:
ไขปริศนาทำไมบางคนเล่นเกมแนว FPS แล้วเวียนหัว

หลายๆ คนเคยส่งสัยตัวเองว่าทำไมเล่นเกมแนว FPS แล้วเกิดอาการคลื่นไส้เวียนหัว วันนี้เรามีคำตอบให้ แต่ก่อนที่จะรู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรนั้นไปลองรู้จักเกมแนว FPS กันแบบลึกๆ ก่อนดีมั้ยครับ

FPS (First-person shooter) หรือเกมแนวบุคคลที่หนึ่งเป็นแนวเกมที่อยู่คู่ตลาดเกมสำหรับ PC (Personal Computer) มาตั้งแต่สมัยคอมพิวเตอร์อุบัติขึ้นบนโลกครั้งแรก ตามประวัติศาสตร์เท่าที่มีเอกสารบันทึกไว้ เกม FPS เกมแรกได้ถือกำเนิดขึ้นในโลกเมื่อปี ค.ศ. 1973 ซึ่งก็คือเกม Maze War โดยเป็นเกมเขาวงกตแบบง่ายๆ ด้วยความแปลกใหม่ในสมัยนั้นจึงทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่เนื่องจากตัวเกมที่ไม่มีอะไรน่าสนใจมากไปกว่านั้น กระแสก็เลยดับลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1974 ก็ได้มีเกม Spasim ซึ่งเป็นเกม FPS แบบ Multiplayer เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นโปรเจกต์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งในวงการทหารของอเมริกา จนถูกนำไปเป็นต้นแบบสำหรับการจำลองฝึกขับรถถังของกองทัพสหรัฐในเวลาต่อมา

แต่หลังจากนั้นระหว่างปี ค.ศ. 1987-1991 เกม FPS ก็มีออกมามากมายแต่กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1992 ค่ายเกม ID Software ได้สร้างเกม Wolfenstein 3D ขึ้น ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับวงการเกม FPS เนื่องด้วยเนื้อหาที่มีลักษณะต่อต้านลัทธินาซี ซึ่งเคยเป็นศัตรูตัวร้ายของคนค่อนโลก ผสานการเล่นที่มีความลงตัว บู๊แหลกเร้าใจ เดินหน้ายิงศัตรูแบบไม่ยั้ง และต้องแก้ปริศนาเพื่อหาทางออกจากค่ายของนาซี องค์ประกอบทั้งหมดส่งผลให้เกมนี้กลายเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกในเวลาไม่นาน
    
จากกระแสความโด่งดังของ Wolfenstein 3D ในขณะนั้นทาง ID Software ไม่ได้ละทิ้งโอกาสที่สำคัญนี้ไปแม้แต่น้อย ในปีถัดมา (ค.ศ. 1993) ค่ายดังกล่าวได้นำเสนอเกม FPS ที่เป็นตำนานของวงการเกม PC อย่าง DOOM ที่มีการอัปเกรดระบบภาพใหม่ทั้งหมด ในตัวเกมเริ่มมีระดับความสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการจัดการแสงเงา และที่สำคัญที่สุดคือ มีระบบ Multiplayer จึงทำให้เกม DOOM กลายเป็นเกมที่ดังสุดๆ ฉุดไม่อยู่ไปในทันที และนี่ถือเป็นการเปิดตำนานของเกมแนว FPS บนโลกนี้นั่นเอง

ปัจจัยที่ทำให้เกมแนว FPS เป็นที่นิยมในอเมริกา

การพัฒนาของวงการเกมในอเมริกานั้นค่อนข้างแตกต่างกับฝั่งเอเชียในหลายๆ ด้าน ซึ่งวงการเกมในเอเชียนั้นจะคุ้นเคยกับเครื่องฟามิคอมเป็นหลัก โดยผู้เล่นในฝั่งเอเชียจะชินกับเกมแนวเดินตะลุยด่านซึ่งมีพื้นฐานมาจากมาริโอที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ทิศทางของผู้พัฒนาในตลาดเอเชียจะมีแนวโน้มไปทางนี้เสียส่วนใหญ่ แต่ทว่าเครื่อง NES (ฟามิคอมในอเมริกา) ที่เริ่มวางจำหน่ายในปี 1985 กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะขายช้ากว่าที่ญี่ปุ่นถึง 2  ปี ส่งผลให้ไม่สามารถครองตลาดได้อย่างสมบูรณ์เหมือนในฝั่งเอเชีย ทำให้ตลาด Entertainment Computer ทางอเมริกานั้นถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่ง Console และฝั่ง PC โดยตัว Console นั้นถูกมองในแง่ลบว่าเป็นเกมสำหรับ Nerds (หรือโอตาคุในฝั่งอเมริกา) แต่สำหรับ PC ไม่มีมุมมองเช่นนั้นเพราะภาพลักษณ์ในด้านประโยชน์การทำงานและการผลักดันของรัฐ ส่งผลให้อุตสาหกรรม Software เพื่อความบันเทิงในฝั่งอเมริกาหันไปให้ความสนใจในตัว PC มากกว่านั่นเอง ด้วยลักษณะทางการตลาดที่แตกต่างกันนี้จึงทำให้ความชอบและแนวเกมที่ได้รับความนิยมของฝั่งอเมริกาจึงมีความแตกต่างกับทางเอเชียค่อนข้างมากนั่นเอง

ถึงแม้จะได้รับความนิยมแต่ก็ใช่ว่าจะสามารถเข้าถึงได้ทุกคน 

แม้ว่าเกมแนว FPS จะได้รับความนิยมจากหลายๆ ปัจจัย แต่ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากเกิดอาการเวียนหัวหรือเมาขึ้นขณะเล่น ซึ่งอาการจะคล้ายเมารถและจะเกิดขึ้นขณะเล่นเกมแนว FPS ต่อเนื่องไปสักระยะ อาการนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Motion Sickness หรือ การเมาภาพเคลื่อนไหว จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 10 ถึง 50 ของผู้เล่นเกมทั่วไปอาจเกิดอาการเมาภาพเคลื่อนไหวได้ในขณะเล่นเกม FPS เป็นเวลาหนึ่ง นอกจากนี้จากข้อมูลของกองทัพอากาศสหรัฐยังพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ระบบ Simulator สำหรับฝึกการบินเกิดอาการเมาภาพเคลื่อนไหวในขณะฝึกหัดผ่านระบบ Simulator ด้วย

เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดอาการเมาภาพเคลื่อนไหวนั่นก็คือ การที่ตาและระบบการมองเห็นมีการประมวลว่าเกิดการเคลื่อนที่ขึ้นแต่ระบบประสาทส่วนตรวจสอบความเคลื่อนไหวของร่ายกายที่อยู่ภายในหูชั้นในกลับไม่รับรู้ถึงการเคลื่อนไหว (เนื่องจากไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจริง) ทำให้การทำงานของระบบทั้งสองมีความขัดแย้งกัน ส่งผลให้ระบบการประมวลผลในสมองถูกหลอกว่าเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นกับร่างกายซึ่งอาจเกิดจากการติดพิษหรืออาการผิดปกติอื่น นำไปสู่การตีความของสมองให้แสดงผลลัพธ์ออกมาในลักษณะมึนเมาในที่สุด

อย่างไรก็ดี อาการเมาที่เกิดขึ้นดังกล่าว คิดเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมากในกลุ่มผู้เล่นเกมระดับ Hardcore ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดหลักของเกมแนว FPS ทั้งนี้อาจเนื่องจากการพยายามปรับสภาพ หรือความเคยชินนั่นเอง ดังนั้นด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมาทั้งหมดจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เกมแนว FPS จะเป็นเกมแนวที่ได้รับความนิยมสำหรับตลาดฝั่งอเมริกาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนในอนาคตนั้น ส่วนตัวคาดเดาและเชื่อว่า "มันยังคงได้รับความนิยมอยู่อย่างแน่นอน" อย่างน้อยก็ในชั่วอายุของเรา ด้วยเหตุผลที่ว่า... "เกมในยุคหน้าอาจเป็นยุคของ Virtual Reality ดังนั้น เกมที่เหมาะสมกับพวกแว่นตาสวมใส่ มันก็หนีไม่พ้น FPS อยู่ดีนั่นแหละ"

ที่มา : บทความส่วนหนึ่งจาก นิตยสาร play magazine ฉบับที่ 61

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ