Robot World : โมบิลสูทผู้เฝ้ามองดวงดาว Stargazer

แชร์เรื่องนี้:
Robot World : โมบิลสูทผู้เฝ้ามองดวงดาว Stargazer
     สวัสดีครับ พบกันเช่นเคยกับ Robot World ไม่เจอกัน 1 สัปดาห์เป็นไงกันบ้าง ฝนตกแทบทุกวันเลยนะช่วงนี้ ดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ ส่วนใครที่ป่วยซะแล้ว ก็หายป่วยไวๆ นะ อย่างที่ทิ้งท้ายไว้ในสัปดาห์ก่อนว่าจะพาไปดูโมบิลสูทในยุคอื่นๆ กันบ้าง หลังจากตั้งแต่เริ่มคอลัมน์นี้มา มีแต่โมบิลสูทในยุค UC ก็ขอเอาใจแฟนๆ กันดั้มยุคอื่นกันบ้างนะครับ ส่วนแฟนๆ ยุค UC ก็อย่าเพิ่งน้อยใจนะ เพราะยังมีอีกหลายตัวที่น่าสนใจ แล้วก็ยังไม่ได้เขียนถึงเลย อย่างเช่น F-91 หรือ Crossbone Gundam ที่น่าสนใจไม่น้อย ส่วนวันนี้ขอพาไปยุค Cosmic Era หรือ C.E. กันนะครับ ยุคนี้ก็เป็นยุคของ Gundam Seed แต่วันนี้จะไม่ได้พาไปดูโมบิลสูทตัวหลักๆ ในภาคหรอกนะ แต่จะพาไปดูภาค Side Story กันครับ กับโมบิลสูทที่ได้รับการตั้งชื่อว่า ผู้เฝ้ามองดวงดาว อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงจะรู้กันแล้วใช่มั้ยครับ ว่าโอมจะพาไปรู้จักกับเจ้า Stargazer นั่นเอง
     เจ้า Stargazer มีอยู่ในเกม SD Gundam Online ด้วยนะครับ เป็นโมบิลสูทที่เพิ่งอัพเดตเข้าสู่เซิร์ฟเวอร์เกาหลีไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งโอมเคยลงคลิปไปแล้ว สามารถดูได้ที่ www.online-station.net/news/game/23714 ครับ
GSX-401FW Stargazer
 
     ในปี C.E. 73 องค์กรพัฒนาและสำรวจอวกาศในเชิงลึก DSSD (Deep Space Survey & Development Organization) ได้พัฒนาโมบิลสูทที่มีความสามารถพิเศษในการสำรวจอวกาศอันกว้างไกลขึ้นมา ในชื่อ GSX-401FW เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการสำรวจ ซึ่งการใช้งานปกติจะใช้นักบินขึ้นไปขับ แต่จะติดตั้ง AI พิเศษที่จะทำหน้าที่ควบคุมโมบิลสูทแทน โดยมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมจากฐานปฏิบัติการของ DSSD เอง ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ตกเป็นของ เซเลเน่ แม็คกริฟ และ โซล ริวเน่ ลังเก้ 2 วิศวกรของ DSSD และในการทดสอบครั้งแรก เซเลเน่และโซลก็ได้ตั้งชื่อให้เจ้า GSX-401FW ว่า Stargazer ที่แปลว่า ผู้เฝ้ามองดวงดาว
 
     เนื่องจากเป็นโมบิลสูทที่ใช้ในการสำรวจอวกาศเป็นหลัก จึงมีการติดตั้งระบบ Voiture Lumierre ไว้ในวงแหวนด้านหลัง เพื่อใช้เดินทางระหว่างดวงดาว โดยจะมีการยิงเลเซอร์จากฐานปฏิบัติการของ DSSD ใส่วงแหวนด้านหลังเป็นการขับเคลื่อนระบบ และทำให้ Stargazer เร่งความเร็วสูงสุดในการเดินทางได้ โดยระบบ Voiture Lumierre ที่ติดตั้งบน Stargazer นี้ก็เป็นระบบเดียวกับที่ติดตั้งบน Strike Freedom Gundam และ Destiny Gundam ด้วย นอกจากนั้น Stargazer ยังสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ เนื่องจากมีการติดตั้งระบบ Nanomachine Repair System ลงไปด้วย
 
     และถึงแม้จะถูกสร้างมาโดยหวังให้เป็นโมบิลสูทเพื่อการสำรวจและพัฒนา โดยไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ แต่ DSSD ก็ได้พัฒนาให้ Stargazer สามารถรองรับภาวะสงครามได้ด้วย ซึ่ง Stargazer ในโหมดสู้รบจะปลด AI ออกแล้วแทนที่ด้วยห้องคนขับขนาด 2 คนแทน (นั่นหมายถึงเซเลเน่และโซลจะต้องมาเป็นนักบินนั่นเอง) Stargazer สามารถสะท้อนและดูดบีมที่ยิงเข้ามา เพื่อเอามาสร้างเป็นวงแหวนบีมรอบตัวได้ นอกจากนั้นยังไปเอาบีมพิสตอลที่เป็นปืนประจำโมบิลสูท Civilian Astray DSSD Custom มาใช้ได้ด้วย
 
     ต่อมาในปี C.E. 74 หน่วยปฏิบัติการลับของพันธมิตรโลกที่ชื่อ แฟนธ่อมเพน (Phantom Pain) นำโดย สเวน คาล บายัง ได้นำกำลังบุกเข้าโจมตี DSSD เพื่อหมายจะยึดครอง Stargazer ทำให้ DSSD ตัดสินใจส่ง Stargazer เข้าสู่สนามรบ (จนได้สินะ ทำออกมายังไงก็ต้องรบได้) โดยมีเซเลเน่และโซลเป็นนักบิน และเมื่อการต่อสู้มาถึงจุดวิกฤติที่ยังไงก็ต้องรักษา Stargazer ไว้ไม่ให้โดนยึดครอง เซเลเน่ก็เลือกที่จะดีดโซลออกจากห้องนักบิน ถึงแม้จะไม่มีพลังงานไร้ขีดจำกัดแบบโมบิลสูทที่ติดตั้ง Neutron Jammer Canceler ไว้ แต่ก็ใช้พลังงานจากเลเซอร์ของ DSSD เร่งความเร็วพา Stargazer และ Strike Noir ของสเวนไปไกลถึงดาวศุกร์ ก่อนจะช่วยสเวนและใช้พลังงานที่เหลืออยู่น้อยนิดจาก Strike Noir พา Stargazer รวมถึงตัวเองและสเวนกลับโลก
     Stargazer เป็นเรื่องที่ผมว่าเรื่องราวมันน่าประทับใจนะ แถมบางฉากยังสื่อให้เห็นว่า ในขณะที่เนื้อเรื่องของ Gundam Seed และ Seed Destiny ดำเนินอยู่ ตัวละครของ Stargazer บางคนอย่างสเวน ก็อยู่ในเหตุการณ์ตรงนั้นด้วย (แต่ไม่กล่าวถึงในภาคหลัก) ซึ่งมันก็คล้ายๆ กับภาค Gundam Seed Destiny ตอนแรกที่เปิดมาเป็นเรื่องราวความเป็นมาของชิน ซึ่งผมชอบนะ
 
     สัปดาห์หน้าเราจะยังอยู่กับ Stargazer นะครับ แต่จะพาไปดูโมบิลสูทของฝั่ง Phantom Pain กันบ้าง ก็ไว้เจอกันวันจันทร์หน้านะครับ สำหรับวันนี้ก็ลากันด้วย Movie สวยๆ เพลงเพราะๆ กันเช่นเคยครับผม สวัสดีครับ
 
Mobile Suit Gundam Seed C.E. 73 Stargazer AMV
Movie 1 : http://www.youtube.com/watch?v=lQF_5SNc0gE
Movie 2 : http://www.youtube.com/watch?v=J4Q9sAIZghM
 
ข้อมูลจาก MAHQ

 

แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ