มีบทความญี่ปุ่นหนึ่งวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้อนิเมะเรื่องต่าง ๆ สมัยนี้นั้นมีการดำเนินเรื่องที่รวดเร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2005 เป็นต้นมา โดยยกตัวอย่างจากอนิเมะเรื่อง s-CRY-ed ซึ่งเป็นอนิเมะความยาว 26 ตอน ออกอากาศตั้งแต่กลางปีจนถึงสิ้นปี 2001 ว่าเป็นอนิเมะยุคเก่า ซึ่งผู้เขียนนั้นเคยดูแล้วรู้สึกสนุก แต่พอมาชมอีกทีแม้ว่าจะยังสนุกอยู่ แต่กลับรู้สึกว่าดำเนินเรื่องช้าพอสมควร

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงลองชมอนิเมะอีกเรื่องโดยผู้กำกับเดียวกัน นั่นคือ Code Geass: Lelouch of the Rebellion ที่ออกฉายเมื่อปี 2006 นั่นเอง ซึ่งแม้ว่าจะกำกับโดยคุณโกโร่ ทานิงูจิเหมือนกับเรื่อง s-CRY-ed แต่กลับดำเนินเรื่องรวดเร็วกว่ามากแม้จะห่างกันแค่ 5 ปี
โดยเหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนเสนอคืออนิเมะที่สร้างก่อนช่วงปี 2005 นั่นมักจะออกอากาศเป็นเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี แต่หลังจากนั้นกลับสั้นลงจนเหลือแค่ 3 เดือนเท่านั้น จึงต้องอัดเนื้อหาและดำเนินเรื่องให้รวดเร็วมากขึ้น ไม่ยืดเยื้อเหมือนแต่ก่อน

นอกจากนี้ในช่วงปี 1990 การสร้างอนิเมะแบบหลาย ๆ บริษัทเข้ามาร่วมลงทุนโดยตั้งเป็นคณะกรรมการนั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วย ทำให้สตูดิโอต่าง ๆ หันมาสร้างอนิเมะโดยดัดแปลงจากสื่ออื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วเช่นเกมหรือมังงะ แทนที่จะทำอนิเมะออริจินอล เพราะความเสี่ยงต่ำกว่าและเห็นผลลัพธ์ไวกว่าสำหรับบริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาลงทุน
ด้วยเหตุนี้จึงมีการทำอนิเมะแบบแบ่งเป็น Cour กันมากขึ้น (ประมาณ 12-13 ตอน) ทำให้ต้องบีบอัดเนื้อหาและเร่งรัดการดำเนินเรื่องให้ไวยิ่งขึ้น เช่น เรื่อง AIR ที่ดัดแปลงจากวิช่วลโนเวลทั้งเกมมาเป็นอนิเมะความยาว 15 ตอนออกฉายเป็นเวลา 3 เดือน แม้ว่าบางสตูดิโอจะยังอยากสร้างให้ช้าลงจะได้ตรงกับต้นฉบับมากขึ้น แต่สุดท้ายก็ต้องทำตามสมัยนิยม เพราะปัจจัยต่าง ๆ เช่น ผู้ร่วมลงทุนและช่วงเวลาในการออกอากาศ เป็นต้น

แม้ว่าการเร่งให้อนิเมะดำเนินเรื่องเร็วขึ้นจะเกิดจากความจำเป็น แต่ปัจจุบันเหมือนจะกลายเป็นค่านิยมและเอกลักษณ์ของอนิเมะไปแล้ว อีกทั้งยังมีอนิเมะบางเรื่องที่ทำเป็นแบบสั้น ๆ ความยาวแค่ตอนละ 2 นาทีด้วย จึงน่าสนใจว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสมัยนิยมอย่างไรอีก โดยเฉพาะเมื่อแพลตฟอร์มเช่น TikTok ได้รับความนิยม จนหลายคนไม่สามารถดูอะไรยาว ๆ ได้เหมือนแต่ก่อน
แปลและเรียบเรียงจาก
Automaton Media
ติดตามดูอนิเมะถูกลิขสิทธิ์ ได้ที่นี่ Online Station