สัมภาษณ์ทีมอนิเมชั่น Netflix กับการพา “เรื่องของเด็ก” สู่สายตาชาวโลก

สัมภาษณ์ทีมอนิเมชั่น Netflix กับการพา “เรื่องของเด็ก” สู่สายตาชาวโลก

 

 

เมื่ออาทิตย์ก่อนทีมงาน Online Station ได้รับเชิญไปร่วมชมงานคอนเฟอร์เรนซ์ Netflix Anime Festival ครับ ซึ่งหลังจากจบงานเปิดตัวอนิเมะ 16 เรื่อง ก็มีเซสชั่นสัมภาษณ์ต่อ โดยทั้ง 3 ท่านก็ได้แก่ คุณ Taiki Sakurai ตำแหน่ง Chief Producer Netflix, คุณ Shuichiro Tanaka ตำแหน่ง Producer David Production และ คุณ Mari Yamazaki Manga Artist ซึ่งบุคคลเหล่านี้จัดเป็นบุคลากรระดับหัวหอกของอนิเมชั่นของ Netflix นั่นเอง

 

Netflix

 

คิดอย่างไรกับการที่อนิเมะกลายเป็นภาพยนตร์ไลฟ์แอคชั่น และอะไรที่ทำให้ไลฟ์แอคชั่นเรื่องนั้นยากที่จะประสบความสำเร็จดังเช่นเวอร์ชั่นอนิเมะ

Mari: เมื่อฉันเขียนมังงะก็ไม่ได้คิดหรอกว่ามันจะกลายเป็นไลฟ์แอคชั่นรึเปล่า แต่ฉันเคยเป็นคนวาดภาพสีนํ้ามันมาก่อน และแรงขับเคลื่อนของฉันคืองานอาร์ตเหล่านั้นที่ต้องใช้จินตนาการอย่างมากในการสรรค์สร้างขึ้นมา ดังนั้นแล้วเมื่อเห็นงานอาร์ตเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้ จึงคิดว่ามันยอดเยี่ยมมากๆ ซึ่งผลงานของฉัน Thermae Romae ที่ได้เป็นทั้งไลฟ์แอคชั่นและแอนิเมชั่น ส่วนตัวแล้วจึงรู้สึกว่ามันน่าตื่นเต้นมากๆ 

Shuichiro: ใช่เลยครับ ที่ญี่ปุ่นมีละครเวทีงานวัดซึ่งเป็นศิลปะแบบโบราณอยู่ ซึ่งแทนที่เราจะสร้างอะไรที่มันเน้นสมจริงไว้ก่อน มันกลับกลายเป็นการแสดงแบบ Impressionist มากกว่า นักแสดงแต่ละคนถ่ายทอดมันออกมาในมุมมองของตัวเอง นั่นคือสิ่งที่ผมสัมผัสได้จากแอนิเมชั่นเช่นกันในตอนที่ยังเป็นเด็ก ดังนั้นแล้วขั้นตอนการสร้างแอนิเมชั่นสำหรับผมแล้วมันน่าดึงดูดเสมอ

Taiki: ข้อแตกต่างระหว่างแอนิเมชั่นกับไลฟ์แอคชั่นเหรอ? ผมคิดทบทวนหนักอยู่ แล้วก็รู้สึกแปลกใจกับมันหน่อยๆ แต่คำตอบสำหรับผมก็คือไลฟ์แอคชั่นเนี่ยมันเป็นอะไรที่เกี่ยวกับคาแรคเตอร์ล้วนๆ คือเวลาเห็นคาแรคเตอร์ตัวนั้นคุณจะดูออกทันทีว่าเป็นคนที่ไหน เป็นเอเชียหรือคอเคเชี่ยนหรือแบบหมอนี่เป็นคนญี่ปุ่น แต่กับแอนิเมชั่นนั้นเป็นอะไรที่ต่างออกไป เรามักจะไม่ค่อยมองถึงเรื่องเชื้อชาตินัก และมักมองในมุมมองที่เป็นกลางมากกว่า ผมว่านั่นคือข้อแตกต่าง

 

คำถามถึงคุณ Mari ทำไมถึงมาร่วมกับ Netflix ได้ 

Mari: เมื่อ Netflix มาหาฉัน พร้อมกับคำมั่นว่างานของเราจะได้ออกสู่สายตาคนทั่วโลกแบบ Global ฉันก็แทบไม่อยากเชื่อเลยว่างานของฉันกำลังจะผ่านสู่สายตาผู้คนทั่วโลก คือฉันก็เดินทางมาเยอะ เวลาบอกว่างานฉันคืออะไร หลายๆ คนจะดูสับสนงงงวย แต่ถ้างานฉันได้ฉายผ่าน Netflix นอกจากผู้คนทั่วโลกจะมีโอกาสได้รับชมแล้ว ฉันยังจะตอบคำถามนั้นได้ง่ายขึ้นด้วย แล้วก็บน Netflix เป็นอะไรที่ไม่ต้องคิดถึงแบรนด์หรือสปอนเซอร์ เรามีอิสระมากในการทำงาน ไม่ต้องกังวลถึงการเมืองหรือใดๆ ก็ตาม ได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำจริงๆ ค่ะ

 

ความแตกต่างของการสร้างอนิเมะเพื่อ Netflix กับแบบฉายในประเทศ

Shuichiro: ในแง่ของการทำงานมันไม่ได้ต่างกันมาก แต่การได้ทำงาน “ร่วมกับ” Netflix ทำให้เราสามารถสร้างงานได้อย่างมีอิสระ ทุกข้อมูลที่มีสามารถสรุปได้ในการประชุมครั้งเดียว ไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยว นั่นทำให้ผมรู้สึกว่าการทำงานกับ Netflix พร้อมโอกาสได้เผยแพร่งานแบบ Global นั้นมันจึงเยี่ยมยอดมากๆ

Mari: เห็นด้วยกับคุณ Shuichiro โดยพื้นฐานของแพลตฟอร์มนี้คือสามารถเข้าถึงผู้ชมได้กว่า 119 ประเทศทั่วโลกแล้ว แต่กับแบบฉายในประเทศคือเราจะฉายให้คนญี่ปุ่นได้ดูก่อน แล้วค่อยมาลุ้นกันอีกทีว่าจะมีใครซื้อไปฉายนอกญี่ปุ่นไหม ต่างจากความรู้สึกตอนที่งานถูกฉายบน Netflix ซึ่งรับรู้ได้ทันทีว่ามีคนกำลังรับชมผลงานพร้อมๆ กันจากทั่วทั้งโลก มันยอดเยี่ยมมากๆ และกำลังไปไกลกว่าการฉายในประเทศแบบเดิมๆ ขอบเขตต่างๆ ได้ถูกทำลายลงแล้ว

 

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาในวงการอนิเมะ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง

Shuichiro: ผมว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดโดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีมานี้ บางอย่างไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นวิวัฒนาการที่ทำให้วงการสามารถก้าวข้ามหลายๆ สิ่ง นัยหนึ่งการวิวัฒนาการก็คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ดังนั้นมันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดนั่นแหละครับ

Mari: ตอบยากเหมือนกันนะ คือฉันไม่ได้อยู่ญี่ปุ่นเลยไม่แน่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของวงการแบบเรียลไทม์ แต่เมื่อฉันได้เห็นงานอนิเมะญี่ปุ่นเมื่อไหร่ก็จะตกใจแทบทุกครั้งไป เพราะมันวิวัฒนาการมามากพอดูเหมือนกัน อย่างจิบลีจะมีการใช้เฉดสีที่มากขึ้นจนสังเกตได้รวมไปถึงการเคลื่อนไหวก็สมูธขึ้นอย่างมาก 

 

คิดยังไงกับเทคโนโลยีเรื่องภาพสมัยใหม่ ผลงานใน Netflix จะเปิดรับไหม

Taiki: แน่นอนครับ เราพยายามใช้ CG อยู่แล้ว แต่ก็กำลังหาจุดร่วมที่ลงตัวระหว่าง CG และการวาดมือด้วยเช่นกัน เพื่อทำงานออกมาให้สมดุลย์ที่สุด จริงๆ ก็ยังมีเทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่เราเปิดรับมัน  เช่น Unreal Engine ที่อาจถูกนำมาใช้ในบางจุด เป็นต้น

 

ถามคุณ Mari ในฐานะผู้สร้างสรรค์มังงะที่ต้องผ่านสายตาคนทั่วโลก คุณมีความคิดอย่างไร

Mari: เวลาที่ต้องนำเสนอเนื้อเรื่องที่เป็นโกลบอลเข้าถึงทุกคนทั่วทั้งโลก ฉันจะคิดแบบ Bird eye view ค่ะ มองที่ญี่ปุ่น มองไปยังทั่วโลก มองหาความแตกต่างในด้านของมุมมอง โอบกอดวิวที่ได้พบแล้วกลั่นมาเป็นไอเดียร่วมกับประสบการณ์และความเป็นตัวฉันเอง นั่นคอวิธีที่ฉันทำเสมอค่ะ

 

อยากให้พูดถึงบทบาทของ Netflix ที่จะส่งผลกับอุตตสาหกรรมแอนิเมชั่นหน่อยครับ 

Shuichiro: การได้ทำงานใกล้ชิดกับ Netflix ตอนนี้มันเหมือนทั้งโลกกำลังเข้ามาหาเราที่ญี่ปุ่น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เราต้องโร่เอางานไปขายข้างนอก และรู้สึกคล้ายกำลังถูกกลืนกินเมื่อเราออกไป ดังนั้นแล้วการทำงานกับบริษัทที่เป็นโกลบอลโดยธรรมชาติมันช่วยเราได้ในเรื่องนี้จริงๆ

 

ในอนาคตทาง Netflix จะมีการร่วมทำอนิเมะกับสตูดิโอระดับภูมิภาคในประเทศอื่นมั่งไหม

Taiki: ครับผม ต้องบอกเลยว่าเราคิดจะทำมันอย่างจริงจังเลยแหล่ะ อย่างในตอนนี้ทีมงานหลายๆ ทีมก็มีความเป็นยูนิเวอร์แซลรวมคนหลายๆ ชาติเอาไว้มากๆ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้น แล้วก็สตูดิโอในแถบ SEA หลายเจ้าเลยกำลังถูกเราพิจารณามอบงานแอนิเมชั่นให้ทำครับ ซึ่งยังบอกไม่ได้น่ะนะว่ามีใครบ้าง 

 

คิดยังไงกับความซื่อตรงต่อต้นฉบับของอนิเมชั่นซึ่งถูกสร้างจากมังงะอีกที

Shuichiro: ใช่ครับเมื่อผมต้องทำอนิเมชั่นจากมังงะออริจินอล ก็จะรู้สึกกดดันมากๆ เลยล่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมังงะที่มีคนตามเยอะมากๆ วิธีแก้ไขของเราที่ David Production ก็คือจะมีการประชุมย่อยกันหลายครั้ง หลายๆ ฝ่ายจะมานั่งคุยกัน ว่าอะไรคือคอร์หลักของอนิเมะหรือมีความพิเศษเฉพาะตัวอย่างไร และจะนำเสนอมันออกมายังไง

Mari: ในฐานะคนวาดมังงะอย่างฉัน ก็ไม่รู้สึกว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งของการรีเชคงานที่ส่งมอบไปสักเท่าไหร่ ผู้สร้างควรได้มีอิสระในการทำงานในแบบของตัวเอง และฉันมีหน้าที่ดูแลในส่วนของงานที่ส่งมอบเท่านั้น อย่างไรก็ตามมันจะมีเรื่องของความละเอียดอ่อนบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเรื่องของศาสนา การที่เราเขียนมังงะประวัติศาสตร์ก็ต้องมีเข้าใจในจุดนี้โดยเฉพาะกับงานที่มีคนตามอ่านทั่วโลก แต่ฉันก็ไม่อยากให้ผู้สร้างที่จะมาดัดแปลงงานเราต้องคิดมากเกินไปนัก เพียงแต่ต้องระวังไว้ด้วยก็เท่านั้น

สัมภาษณ์ทีมแอนิเมชั่น Netflix กับการพา “เรื่องของเด็ก” สู่สายตาชาวโลก

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้