ณ ปัจจุบัน ผู้คนที่เลือกเข้าทำงานในอุตสาหกรรมวงการการ์ตูนอนิเมะในญี่ปุ่นนั้นต้องใช้ความรักความชอบในด้านนี้สูงเป็นพิเศษครับ ทว่าปัญหาหลักที่คนในวงการนี้ต้องประสบมาตลอดและยังแก้กันไม่ตกก็คือเรื่องของรายได้ที่มักจะสวนทางกันนั่นเอง โดยสืบเนื่องมาจากการที่เหล่าคนหน้าใหม่ที่เริ่มก้าวมาทำงานสายนี้ต่างก็ได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินเสียเหลือเกินเมื่อเทียบกับจำนวนชั่วโมงทำงานที่ตรากตรำมาทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ทางสภาสงเคราะห์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านอนิเมะ (มีชื่อย่อว่า AEYAC) จึงได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่สั่งสมมานาน เลยจัดทำแบบสำรวจเพื่อประเมินสภาพการทำงาน สวัสดิการต่างๆ และคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มเข้ามาทำงานในวงการอนิเมะกันครับ
ทั้งนี้ แบบสอบถามของ AEYAC ได้ทดลองเก็บตัวอย่างจากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 44 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้หญิงถึง 33 คน และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 23 ปี ซึ่งทุกคนล้วนทำงานอยู่ในวงการการ์ตูนอนิเมะมาไม่เกิน 3 ปี บ้างก็เพิ่งทำงานมา 1 ปี บ้างก็ 5 เดือน เป็นต้น
เมื่อเริ่มสุ่มเก็บตัวอย่าง ทาง AEYAC ได้สอบถามยังผู้ทำแบบสำรวจที่เป็นแฟนการ์ตูนอนิเมะ พบว่าร้อยละ 27.2 ของคนกลุ่มนี้ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน โดยให้เหตุผลว่าการอยู่บ้านมันสะดวกสบายกว่าเพราะไม่ต้องพะวงเรื่องจ่ายค่าเช่าอพาร์ทเมนต์ที่แสนแพง ซึ่งส่วนมากวัยรุ่นในญี่ปุ่นมักจะยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านต่อไปแม้ว่าจะจบการศึกษาแล้วก็ตาม หรือบางคนอาจจะอยู่จนกระทั่งตนเองแต่งงานเลยก็มี แต่โดยทั่วไปมักจะย้ายออกไปอยู่เองหลังได้งานประจำทำแล้วมากกว่า
ต่อมา ผลสำรวจยังได้ระบุว่า ในบรรดาแฟนอนิเมะที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ จะมีคนจำนวนร้อยละ 34.3 ที่บอกว่าพ่อแม่ยังให้เงินใช้เพื่อช่วยประทังชีวิตอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น มีเพียงประมาณร้อยละ 9.4 ของแฟนอนิเมะที่ออกมาอาศัยอยู่เองได้กล่าวว่าพวกเขาสามารถเก็บเงินได้อยู่ ในขณะที่มีอีกร้อยละ 31.3 ที่บอกว่าพวกเขาไม่เคยมีเงินเก็บกับเขาเลย มิหนำซ้ำ ร้อยละ 59.4 ที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของกลุ่มสำรวจนี้ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ มักจะใช้เงินที่เก็บมาหมดไปกับค่ากินอยู่ระหว่างที่ทำงานในอุตสาหกรรมการ์ตูนอนิเมะแทบเกลี้ยงเลยทีเดียว
ข้อเท็จจริงที่ได้จากเรื่องนี้คือ มันมีช่องว่างของรายได้ขนาดใหญ่มากระหว่างคนหน้าใหม่ กับคนที่ได้รายรับเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของวงการครับ ซึ่งแม้ว่าอนิเมะจะเป็นวงการบันเทิงแขนงหนึ่งเหมือนกับสายนักแสดง สายดนตรี และสายนักแสดงตลกก็ตาม
แต่กระบวนการของการจ่ายค่าตอบแทนก็ยังดูต่ำไปอยู่ดี และประเด็นนี้ก็สอดคล้องกับในบางประเทศที่ยังมองการ์ตูนอนิเมะเป็นสิ่งมอมเมา เลยพากันไม่ให้คุณค่ากับอนิเมะในลักษณะของศิลปะหรือวรรณกรรมไปซะอย่างนั้น ก็ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าวงการอนิเมะญี่ปุ่นจะมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหานี้กันในระยะยาวหรือไม่
เครดิต: Rocketnews24
เครดิตรูปภาพ: Goboiano