Silver Spoon ผลงานล่าสุดจากผู้สร้าง Full Metal Alchemist

แชร์เรื่องนี้:
Silver Spoon ผลงานล่าสุดจากผู้สร้าง Full Metal Alchemist
อาจจะสงสัยว่าทำไมถึงเพิ่งเอามาแนะนำ ความจริงเป็นเรื่องที่ผมคิดจะเขียนแนะนำตั้งแต่เล่ม 1 วางจำหน่ายในไทย เมื่อ 30 พฤษภาคม 2555 เนื่องจากช่วงนั้นไม่ว่างเขียนในเดือนแรกที่ออก เลยตั้งใจรอจะเขียนตอนเล่ม 2 วางจำหน่าย แต่กว่าเล่มสองจะออกก็ผ่านไปหลายเดือน จนเพิ่งออกเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมาเลย ได้มีโอกาสเขียนแนะนำสักที - -'
 
Silver Spoon (Gin no Saji)
ชื่อไทย : ซิลเวอร์สปูน
ประเภท : ดราม่า, การศึกษา, ชีวิต, ตลก
จัดจำหน่าย : สยามอินเตอร์คอมมิคส์
เขียนโดย : อาราคาว่า ฮิโรมุ (Arakawa Hiromu)
ฉบับรวมเล่ม : กรกฏาคม 2554 – ปัจจุบัน
ความน่าสนใจ
- ได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน Manga Taisho ครั้งที่ 5 ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2555 ทั้งที่ตอนนั้นเพิ่งวางจำหน่ายในญี่ปุ่น เพียง 2 เล่มเท่านั้น
- เมื่อเดือนก่อน ชนะเลิศงาน Shogakukan Manga Award ครั้งที่ 58 ในสาขาการ์ตูนสำหรับวัยรุ่นชาย
- ประกาศบนสายคาดเล่ม 6 ที่เพิ่งวางขายเดือนมกราคม ระบุว่า จำหน่ายไปแล้วถึง 6.5 ล้านเล่ม เท่ากับว่า 5 เล่มแรก ขายได้เฉลี่ย 1.3 ล้านเล่ม ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากสำหรับหนังสือการ์ตูนที่ออกเพียงไม่กี่เล่ม (ถ้าเทียบแบบเข้าใจง่ายๆ ก็พอกับยอดขายต่อเล่มของ Naruto ในปัจจุบัน)
  - มีกำหนดทำเป็นอนิเมะภาคในปีนี้ (เคยมีข่าวตั้งแต่ออกเล่ม 3) ฉายทาง Fuji TV ในช่วงเวลา noitamina ซึ่งเป็นช่วงเวลารอบดึกที่ทางสถานีโทรทัศน์เลือกอนิเมะที่มีคุณภาพไปฉาย
- ขายดีจนกลายเป็นเรื่องที่ทาง Shogakukan ต้องสั่งพิมพ์ก่อนขายถึง 1 ล้านเล่มในครั้งแรก ทั้งที่เพิ่งวางขายเพียงเล่ม 4
- การันตีความสนุก จากผู้สร้างการ์ตูนชื่อดังอย่าง Full Metal Alchemist
เนื้อเรื่องย่อ
ฮะจิเค็น ยูโงะ (Hachiken Yuugo) นักเรียนที่เติบโตในเมืองซับโปโร่ ถูกกดดันจากผลการเรียนที่ดูจะธรรมดาในระดับเด็กในเมือง เขาจึงได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ ให้มาสอบชั้นม.ปลายที่โรงเรียนการเกษตรโอเอโสะ ในชนบท ด้วยความเชื่อที่ว่าเขาจะขึ้นเป็นที่หนึ่งของโรงเรียนที่มีแต่เด็กบ้านนอกได้ไม่ยาก แต่เมื่อแนะนำตัวในชั้นเรียน เขาพบว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ทุกคนในชั้นต่างมีความฝันและเลือกเส้นทางเดินเป็นของตัวเอง ผิดกับตัวเขาที่ยังหาสิ่งที่ตัวเองต้องการในอนาคตไม่พบ
เนื้อเรื่องจะโฟกัสไปที่มุมมองของฮะจิเค็น นักเรียนปี 1 ในภาควิชาฟาร์มโคนม ทั้งต้องตื่นตี 5 ทุกวัน (ตี 4 ตอนเข้าชมรม) ต้องออกแรงทั้งเช้า บ่าย เย็น อยู่ในบรรยากาศอบอ้าว เหม็นกลิ่นสาปสัตว์ แล้วยังต้องวุ่นวายกับชีวิตสัตว์และเหล่าเพื่อนๆ ที่นิสัยแตกต่างจากคนเมือง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่หนุ่มชาวเมืองแบบเขาจะอยู่ได้ แล้วจุดหมายในชีวิตที่ว่างเปล่าของเขา จะถูกค้นพบในโรงเรียนชนบทแบบนี้ได้จริงหรือ ?
เรื่องธรรมดาๆ ก็สนุกได้
สำหรับคนที่ไม่เคยอ่านเรื่องนี้ ดูเนื้อเรื่องย่อคร่าวๆ แล้ว อาจจะรู้สึกไม่ต่างจากแนวชีวิตประจำวันทั่วไป แต่การเล่าเรื่องในชีวิตประจำวันให้สนุกก็เป็นเสมือนศาสตร์อย่างหนึ่งของนักเขียนนิยายและนักเขียนการ์ตูน ซึ่งต้องคิดวิธีลำดับภาพ, เหตุการณ์ และการเล่าเรื่อง รวมถึงแต่งเติมจุดเด่นเข้าไปเพื่อให้คนติดตาม 
ย้อนไปดูสมัยที่เขียนเรื่อง Full Metal Alchemist ถ้าให้คนอื่นนำพล็อตเรื่องไปเขียน อาจไม่ต่างจากการ์ตูนบู๊ทั่วไป แต่เหตุผลที่เรื่อง FMA ได้รับความนิยมสูง ไม่ได้อยู่ที่ฉากต่อสู้ แต่อยู่ที่การสอดแทรกมุกตลก, บทดราม่าของตัวละครและข้อคิดเข้าไป ดึงดูดให้คนอ่านติดตามอยู่เรื่อยๆ ซึ่งข้อดีนั้นยังคงแฝงในผลงานอื่นของผู้แต่ง รวมถึง Silver Spoon นี้ก็เช่นกัน
ยิ่งมุกที่ปนบทโหดๆ ตามสไตล์คนแต่ง ก็เข้ากับโลกของปศุสัตว์ที่ต้องมีการฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหาร หรือเอาตัวรอดในป่าเขาเช่นกัน
 
วิธีเดินเรื่องที่แตกต่าง
การ์ตูนส่วนใหญ่ ที่กล่าวถึงนักเรียนม.ปลาย จะพยายามโยงให้เข้ากับเรื่อง บทเพื่อน, ความรัก, คู่แข่ง, ชีวิตที่มืดมน, เข้าร่วมกับเพื่อนไม่ได้, ความยากลำบากในชีวิต, ดราม่า หรืออะไรสักอย่างเป็นตัวชูเรื่อง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเขียนการ์ตูนให้เข้ากับกลุ่มผู้อ่าน ต่างจากเรื่อง Silver Spoon ที่เน้นไปที่ตัวละครหนึ่งที่เน้นไปที่บทบาทตัวละคร กับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากตัวเมืองที่ดูจะเรียบๆ แต่ปรุงแต่งบทให้น่าสนใจตลอดเวลา
ฮะจิเค็น นักเรียนจากชินซัทสึโบะโระจูที่เป็นโรงเรียนเตรียม ก่อนย้ายมาที่นี่ก็รู้จักแต่เรื่องการเรียนเท่านั้น แต่การได้เข้ามาเรียนต่อในโรงเรียนสายเกษตรกลับทำให้มุมมองเขาเปลี่ยนไป ถึงจะต้องพบความยากลำบากตลอด แต่จุดดีของฮะจิเค็น อยู่ที่การชอบช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน จนคนอื่นมองว่าเป็นพวกที่ขาดทุนในชีวิต ด้วยนิสัยนั้นทำให้เขาสนิทกับคนอื่นได้ง่าย ถึงจะมีสาวที่ชอบ ก็ไม่ได้มีบทที่มุ่งเน้นที่ไปที่ความรัก ดังนั้นเนื้อเรื่องช่วงแรกจะมุ่งเน้นไปด้านสภาพแวดล้อมชนบทที่หลายๆ คนไม่เคยสัมผัส และมุมมองของคนเมือง
การเลือกเดินเรื่องในโรงเรียนสอนการเกษตรก็น่าสนใจ มีหลายแขนงวิชา ทำให้ตัวละครอื่นมีความชำนาญที่แตกต่างกัน อย่างการทำปศุสัตว์, ผลผลิตการเกษตร, การผลิตอาหาร, ไบโอเทคโนโลยี, บริหารการเกษตร, เครื่องจักรการเกษตร, สุขศึกษา แล้วยังมีการชำนาญเฉพาะทางอย่างการขี่ม้า, แปรรูปอาหาร, บริหารการเกษตร, สัตวแพทย์, โยธาธิการเกษตร, ภาควิชาป่าไม้ และอีกมากมาย การรู้จักตัวละครที่มีความถนัดแตกต่างกัน เป็นตัวเชื่อมเรื่อง ทำให้เรื่องน่าสนใจไม่น้อย
สอดแทรกความรู้
ตามประวัติผู้เขียน เกิดในครอบครัวทำฟาร์มปศุสัตว์ที่ฮอกไกโดซึ่งรู้เรื่องแบบนี้ดีพอสมควรอยู่แล้ว ความรู้ต่างๆ ในชนบทที่คนเมืองไม่ค่อยรู้จึงถูกสอดแทรกเข้าไปด้วย อย่างการจับลูกวัวโดยไม่ต้องไล่ต้อน, ช่องรูทวารรวมที่ใช้ออกไข่ของไก่, พฤติกรรมของม้าที่ดูแข็งแกร่ง แต่จริงๆ เป็นสัตว์ที่เปราะบาง, ไม่ควรตั้งชื่อสัตว์ที่ต้องแปรรูปเป็นอาหาร, ขั้นตอนชำแหละสัตว์, การทำคลอดสัตว์, การแข่งขันในธรรมชาติ และอีกหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นในแต่ละตอน บางเรื่องอาจเป็นความรู้พื้นๆ แต่ก็สื่อสารออกมาได้น่าสนใจ

ฟิกเกอร์ อ.วัว ในงาน Wonder Festival เมื่อสัปดาห์ก่อน

 
หลังอ่านไปสองเล่มก็รู้สึกว่าสมกับเป็นเรื่องที่ได้รางวัลมาเยอะ (จริงๆ ก็สนุกตั้งแต่เล่มแรกแล้ว) สำหรับคนที่อยากหาการ์ตูนแนวสบายๆ เนื้อหาแตกต่างจาการ์ตูนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ก็น่าติดตามครับ
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก : Wikipedia, ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
แชร์เรื่องนี้:

เรื่องที่คุณอาจสนใจ