รู้หรือไม่ Light Novel และ Visual Novel คืออะไร ?

    เป็นบทความเก่าที่ผมเคยเขียนใน Weekly Online เล่ม 424 ในหัวข้อ “เมื่อนิยายเข้ามามีบทบาทในโลกของการ์ตูน” เนื่องจากใกล้ช่วงมหกรรมหนังสือระดับชาติพอดี (5 – 16 ตุลาคม) จึงเอาบทความเดิมมาลงรอบ ซึ่งพอลงเว็บแล้วไม่จำกัดเรื่อง Text กับรูปที่ใช้แบบในนิตยสารจึงเขียนได้ยาวกว่าบทความเดิมพอสมควรครับ

นิยายกับการ์ตูน
     การ์ตูนในช่วงยุคก่อนปี 2000 เนื้อเรื่องจะไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย เช่น ดราก้อนบอล, โดราเอมอน, อิคคิวซัง เป็นต้น ตอนเด็กๆ เราอาจจะดูอย่างสนุกสนาน ไม่คิดอะไร เพราะไม่ค่อยมีเรื่องเปรียบเทียบ พอกลุ่มคนดูอายุมากขึ้นและดูการ์ตูนหลายเรื่องยิ่งขึ้น โอกาสที่เนื้อเรื่องจะคล้ายกันก็มีสูง จนทำให้ดูเรื่องใหม่บางเรื่องไม่สนุกเพราะเกิดความซ้ำซ้อนด้านเนื้อเรื่อง ด้านบริษัทการ์ตูนก็อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องเพิ่มรายละเอียดหลายอย่างเข้าไปเพื่อให้พัฒนากว่าการ์ตูนยุคก่อน การพยายามใช้เรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ก็มีข้อจำกัดไม่น้อย เพราะไม่มีตัวชี้วัดว่า เรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่แบบไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนจะถูกใจผู้ชมได้
     อีกด้านหนึ่ง ในวงการนิยายในญี่ปุ่นก็แข่งกันไม่น้อย ที่ว่างสำหรับนักประพันธ์หน้าใหม่ก็จำกัด เกิดการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาเนื้อเรื่องให้สนุกถูกใจคนอ่าน เรื่องที่สนุกจริงจึงได้รับความสนใจจากกลุ่มคนอ่าน เหมือนเป็นเครื่องการันตีว่า ถ้าเอาไปทำเป็นมังงะหรืออนิเมะแล้ว น่าจะมีกลุ่มแฟนนิยายหรือที่คนที่ได้ยินชื่อเสียงจากฉบับนิยายมาติดตามพอสมควร ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของวงการมังงะและอนิเมะพอดี ส่งผลให้สื่อจาก Light Novel หรือ Visual Novel มีผลกระทบต่อวงการมังงะและอนิเมะในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมานี้อย่างต่อเนื่อง

Light Novel

    Light Novel ในญี่ปุ่นใช้เป็นคำเฉพาะ เพื่อใช้กำหนดนิยายประเภทหนึ่ง ที่มีเนื้อหาเหมาะสำหรับกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเป็นหลัก เลือกใช้คำที่เด็กและวัยรุ่นญี่ปุ่นเข้าใจง่าย ภายในเล่มมีภาพการ์ตูนประกอบบ้างในสัดส่วนที่น้อย ส่วนเรื่องขนาดในเล่มหรือจำนวนรูปจะขึ้นกับทางสำนักพิมพ์จะเลือกเองมากกว่า

    จุดเด่นของ Light Novel เทียบกับพวกการ์ตูนทั่วไปแล้ว จะอยู่ที่ไม่มีข้อผูกมัดเรื่องจำนวนช่องแบบหนังสือการ์ตูนหรือระยะเวลาฉายแบบอนิเมะ จึงใส่รายละเอียดต่างๆ ในเรื่องได้ค่อนข้างดีกว่าการ์ตูนทั่วไป บางเรื่องอ่านได้ลื่นไหลต่อเนื่องทั้งด้านเหตุผลและมุมมองของตัวละครถูกสอดแทรกเข้าไปอย่างอิสระจนกว่าจะจบเล่ม

      ปัจจุบัน ทั้งหนังสือการ์ตูนและอนิเมะที่ใช้เนื้อเรื่องจาก Light Novel มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ Light Novel แทบไม่ต่างจากดูการ์ตูนในแบบตัวหนังสือ ถึงการดัดแปลงจะสื่อละเอียดได้ไม่เท่าฉบับ Light Novel แต่ก็ดึงดูดให้คนที่ชอบในการ์ตูนดัดแปลงนั้น หาซื้อ Light Novel เพื่อเก็บรายละเอียดในส่วนที่ขาดได้เช่นกัน
ในไทยตลาด Light Novel ใหญ่ขึ้นทุกปี มีหลายบริษัทซื้อ Light Novel แปลเข้ามากันมากขึ้น และได้รับความนิยมพอสมควร สังเกตตามร้านหนังสือใหญ่ๆ หรืองานสัปดาห์หนังสือ น่าจะเคยเห็นหนังสือประเภท Light Novel กันบ้าง

    ตัวอย่าง Light Novel แบบทดลองอ่านเรื่อง Toradora! จากเว็บของ Blisspublishing
    http://www.blisspublishing.co.th/file_upload/fileshot505.pdf

ตัวอย่าง Light Novel หรือ Novel ส่วนหนึ่งที่เคยทำเป็นมังงะหรืออนิเมะ

    – Suzumiya Haruhi no Yuutsu (The Melancholy of Suzumiya Haruhi), Fullmetal Panic!
    – Bakemonogatari, Katanagatari, Denpa Onna to Seishun Otoko, Boku wa Tomodachi ga sukunai
     – Ore no Imouto ga Konna ni Kawaii Wake ga Nai (OreImo), Horizon in the Middle of Nowhere
    – To Aru Majutsu  no Index, Shakugan no Shana , Toradora!, Zero no Tsukaima, Hidan no Aria, Yumekui Merry, Kami-sama no Memo-chou, Shigofumi, Read or Die, Okami-san to Shichinin no Nakamatachi
    – Baka to Test to Shokanju, C³ (Cube x Cursed x Curious), Kore wa Zombie desu ka
    – Fate/Zero, Kara no Kyoukai , Toki o Kakeru Shoujo (Novel), Paprika (Novel)
     – Infinite Stratos, Durarara!, Seitokai no Ichizon, Itsuka Tenma no Kuro Usagi, Guin Saga, Mayo Chiki!
     – Chrome Shelled Regios, Dantalian no Shoka, Ghost Hunt, The Legend of the Legendary Heroes, R-15, Spice and Wolf
     – Rental Magica, Maria-sama ga Miteru, Kaze no Stigma, Kino no Tabi, Nogizaka Haruka no Himitsu
    – อื่นๆ

บางส่วนที่ออกในช่วงเดือน 9

Visual Novel / Game

    Visual Novel เป็นนิยายแบบอ่านบนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคอนโซล หรือจะบอกว่าเป็น “เกมประเภทหนึ่ง” ก็ได้เช่นกัน เพียงแต่ Visual Novel จะมีสิ่งที่แตกต่าง คือ เป้าหมายอยู่ที่การขายเนื้อเรื่องกับภาพประกอบมากกว่ารูปแบบการเล่น จึงแทบไม่มีระบบการเล่นที่ซับซ้อน อย่างมากก็มีตัวเลือกเป็นทางแยกกับฉากจบหลายแบบ และอาจมีมินิเกมบ้างเล็กน้อย

    ด้าน Visual Novel มีจุดเด่นพิเศษกว่า Light Novel ตรงที่
     1. เสียงพากย์ ได้บรรยากาศการพูดคุย น้ำเสียง อารมณ์ ความรู้สึกที่แตกต่างกัน
     2. เพลงบรรเลงประกอบ ได้อารมณ์ตามสถานการณ์ ช่วงโรแมนติค, หวาดกลัว หรือเฮฮา จะต่างกันไป
     3. มีการแสดงภาพตัวละครบ่อยครั้ง, ฉากสถานที่ และเปลี่ยนอริยาบทให้เห็น โดยไม่ต้องใช้จินตนาการมากนัก

  ถึง Visual Novel จะดูค่อนข้างสมบูรณ์ในตัวเองอยู่แล้ว แต่กลุ่มคนเล่นยังคงอยู่ในวงแคบ ด้านภาพยังคงไม่ใช่ภาพเคลื่อนไหวเต็มที่แบบอนิเมะ และด้วยราคาที่แพงพอๆ กับเกมทั่วไป ทำให้ไม่สามารถตีตลาดในกลุ่มกว้างแบบมังงะ การเปลี่ยนแปลงเป็นสื่ออื่นจึงทำให้เป็นคนรู้จักในวงกว้างขึ้น เช่นเดียวกับ Light Novel

     Visual Novel ที่เห็นบ่อยสุด คงเป็นแนวเกมจีบสาวทั้งหลายที่ปรากฏในหลายแพล็ตฟอร์ม เพราะเป็นเนื้อเรื่องเข้าใจง่าย, ระบบไม่ซับซ้อนและขายดีสำหรับกลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่น แต่ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่ใช้เนื้อเรื่องแนวแฟนตาซี, ไซไฟ, สยองขวัญ หรือ ไขปริศนา

    สิ่งหนึ่งที่เข้าใจผิดกันบ่อย คือ บางเรื่องมี Rating สำหรับคนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทำให้บางคนคิดว่า ต้องเป็นเนื้อเรื่องแนวติดเรตหรือเลือดสาดเท่านั้น แต่ความจริงในวงการนั้นก็มีการแข่งขันด้านเนื้อเรื่องไม่น้อย และมีนักประพันธ์ฝีมือดีจำนวนมากเช่นกัน หลายเรื่องก็เพียงเพิ่มฉากแบบนั้นเข้าไปเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ไม่ได้เน้นขายฉากเหล่านั้น ทำให้เมื่อตัดบางฉากออกไป ก็จะได้เนื้อเรื่องดีๆ เรื่องหนึ่งพร้อมที่จะดัดแปลงเป็นมังงะหรืออนิเมะ
     ส่วน Game ที่เป็นแนว RPG หรือพวกวางแผนการรบ บางเรื่องนอกจากจะเล่นสนุกแล้ว ก็มีเนื้อเรื่องที่ชวนน่าติดตามเช่นกัน จึงดัดแปลงมาทำเป็นรูปแบบอื่นได้ง่ายและคนให้ความสนใจ

 ตัวอย่าง Visual Novel / Game ส่วนหนึ่งที่เคยทำเป็นมังงะหรืออนิเมะ
    – AIR, Kanon, Clannad
    – Fate/Stay Night, Tsukihime
    – Steins;Gate, Chaos;Head, Demonbane, Phantom
    – Higurashi no naku koro ni, Umineko no naku koro ni
    – Yosuga no Sora, Akaneiro ni Somaru Saka, Da Capo, Otome wa Boku ni Koishiteru, H2O: Footprints in the Sand, Ef: A Fairy Tale of the Two, Lamune, Koihime Musou, Myself ; Yourself, Canvas
    – Utawarerumono, Tears to Tiara, To Heart, White Album, Kimi no Nozomu Eien, School Days
    – Persona 4, Tales of Abyss, Tales of Vesperia, Super Robot Wars Original, Valkyria Chronicles
    – อื่นๆ

ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
    หนังที่สร้างจากนิยาย อย่างเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ ถึงจะทำรายได้ถล่มทลาย แต่ความสำเร็จของหนังก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายหนังสือนิยายลดลง ในทางกลับทำให้คนรู้จักมากขึ้นและหลายคนอยากหาฉบับนิยายมาอ่านเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนที่หนังไม่สามารถนำมาลงได้ทั้งหมด หรือเกิดความรู้สึกอยากหามาเก็บสะสมไว้หลังจากดูหนังก็มี ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พวกการ์ตูนและนิยายในญี่ปุ่นก็ทำการตลาดแบบนี้เช่นกัน จึงไม่แปลกที่จะเห็นบางเรื่องที่มีทั้งแบบหนังสือการ์ตูน, นิยาย, เกม, เพลง, ของเล่น และสื่อต่างๆ อีกมากมาย

อ้างอิงข้อมูลและภาพประกอบบทความ : wikipedia, yaraon, akibablog

    สำหรับคนไทย Light Novel จะเห็นง่ายกว่านิยายประเภทอื่น เพราะหลายเรื่องมีฉบับแปลเป็นภาษาไทยวางขายในร้านหนังสือทั่วไป ส่วนในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติในวันที่ 5-16 ตุลาคม นี้ มีหลายเรื่องที่ไปวางขายเช่นกัน ส่วน Visual Novel กับ Game อาจพอหาแพตช์เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษหรือตัวเกมเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษได้บ้าง เหมาะสำหรับคนต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษหรือญี่ปุ่นดีพอสมควร

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้