วันที่ 7 เดือน 7 ที่ผ่านมานั้น เป็นวันที่สำคัญอย่างมากสำหรับชาวญี่ปุ่น ซึ่งวันที่ว่านั้นก็คือ “วันทานาบาตะ” เทศกาลเฉลิมฉลองขอพรจากดวงดาวนั่นเอง ตัวเทศกาลจะจัดขึ้นทุกวันที่ 7 กรกฏาคมของทุกปี สำหรับใครที่เคยได้ยินชื่อของเทศกาลนี้ แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปและกิจกรรมที่ทำกันในเทศกาล เราขออาสาพาเปิดตำนาน “วันทานาบาตะ” ให้ทุกคนได้อ่านกัน
วันทานาบาตะ
วันทานาบาตะ คือวันอะไร?
“วันทานาบาตะ” (七夕 Tanabata) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “เทศกาลดวงดาว” เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของประเทศญี่ปุ่นที่จัดขึ้นในวันที่ 7 กรกฏาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ดาวเวกาในกลุ่มดาวพิณ และดาวอัลแตร์ในกลุ่มนกอินทรี ส่องแสงสว่างไสวที่สุดในรอบปีหลังจากที่ปกติจะถูกบดบังโดยทางช้างเผือก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเดือนที่ 7 ในปฏิทินจันทรคติคือเดือนสิงหาคม บางพื้นที่ของญี่ปุ่นที่ยึดวันเดือนปีตามปฏิทินนี้จึงได้เฉลิมฉลองวันทานาบาตะในวันที่ 7 สิงหาคมแทน
ชาวญี่ปุ่นทำอะไรกันในวันทานาบะตะ
ในวันเทศกาล ผู้คนจะเขียนคำอธิษฐานลงในกระดาษทรงแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า “ทันซาคุ” (短冊 Tanzaku) แล้วนำไปผูกไว้ที่ต้นไม้ไผ่ เพื่อขอให้คำอธิษฐานของตนสมปรารถนา กระดาษที่ว่าก็จะมีหลายสีด้วยกัน และแต่ละสีก็มีความหมายที่แตกต่างกัน
- สีดำ: ใช้สำหรับคำอธิษฐานที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา การเรียนและหน้าที่การงาน
- สีแดง: ใช้สำหรับคำอธิษฐานอวยพรให้บรรพบุรุษและบุคคลในครอบครัว
- สีฟ้า: ใช้สำหรับคำอธิษฐานที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง และการพัฒนาตนเอง
- สีเหลือง: ใช้สำหรับคำอธิษฐานที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนฝูงและความรัก
- สีขาว: ใช้สำหรับคำอธิษฐานที่เกี่ยวข้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจและความรับผิดชอบต่อหน้าที่
ประวัติศาสตร์ของวันทานาบาตะ
ที่มาของเทศกาลนี้เริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางของศตวรรษที่ 8 หรือก็คือเมื่อ 1,200 กว่าปีก่อน โดยวันทานาบาตะนั้น มีต้นกำเนิดมาจากเทศกาลหนึ่งของประเทศจีนชื่อว่า “เทศกาลชีซี” และผู้ที่นำเทศกาลนี้เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นก็คือจักรพรรดินีโคเก็ง พระมหากษัตริย์องค์ที่ 46 และ 48 ของประเทศญี่ปุ่น
เทศกาลชีซีถูกดัดแปลงมาเป็นเทศกาลทานาบาตะในช่วงยุคเฮอัง (ศตวรรษที่ 8-12) และเริ่มกลายมาเป็นเทศกาลที่ได้รับความนิยมและเข้าถึงได้ทุกชนชั้นในยุคเอโดะ (ศตวรรษที่ 17-19) นับแต่นั้นเป็นต้นมา วันทานาบาตะก็ได้กลายเป็นหนึ่งในเทศกาลที่โด่งดังและสำคัญที่สุดของประเทศญี่ปุ่นอย่างที่พวกเรารู้จัก
เรื่องราวตำนานของวันทานาบาตะ: เจ้าหญิงทอผ้ากับชายเลี้ยงวัว
ตำนานที่อยู่เบื้องหลังของวันทานาบาตะนั้น ว่าด้วยเรื่องราวที่แสนเศร้าแต่ก็คละคลุ้งไปกลิ่นอายของความรัก ระหว่างเจ้าหญิงทอผ้าโอริฮิเมะกับชายเลี้ยงวัวฮิโกโบชิ
โอริฮิเมะทอผ้าอยู่ฝั่งแม่น้ำของสายธารทางช้างเผือก และเธอสามารถทอผ้าได้งามวิจิตรแบบไร้ที่ติ บิดาของเธอ ผู้ซึ่งเป็นเทพเจ้า ปลื้มปิติกับความสามารถของเธอเป็นอย่างมาก อยู่มาวันหนึ่ง โอริฮิเมะก็รู้สึกว่าตนนั้น ขาดบางสิ่งบางอย่างในชีวิตไป และสิ่งนั้นก็คือความรัก
หลังจากบิดาของเธอทราบข่าวเข้า เขาก็เศร้าและเห็นใจลูกสาวตนเป็นอย่างมาก จึงได้พาเธอมารู้จักกับชายเลี้ยงวัวคนหนึ่งที่อาศัยอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ นามว่าฮิโกโบชิ ทั้งสองตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกเห็นและได้ตกลงปลงใจแต่งงานกันในเวลาต่อมา โอริฮิเมะและฮิโกโบชิครองรักกันอย่างมีความสุข แต่ในเวลาเดียวกัน คู่รักทั้งสองก็ได้เมินเฉยต่อภาระหน้าที่ของตน
บิดาของโอริฮิเมะเห็นเช่นนั้น ก็รู้สึกโกรธเกรี้ยวเป็นอย่างมาก จึงได้แยกทั้งสองออกจากกันและสั่งห้ามไม่ให้พบหน้ากันอีก โอริฮิเมะเศร้าโศรกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างที่ทอผ้าก็ร้องไห้โหยหาสามีที่รักของตน ผู้เป็นพ่อรู้สึกสงสารจึงอนุญาตให้ทั้งสองสามารถเจอหน้ากันได้ปีละครั้งในวันที่ 7 เดือน 7
เมื่อวันนั้นของปีมาถึง นกคาซาซากิก็จะมาก่อตัวกันเป็นสะพานให้เจ้าหญิงทอผ้าและชายเลี้ยงวัวได้ข้ามฝั่งมาพบหน้ากัน แต่ถ้าหากปีไหนมีฝนตกลงมาในวันที่ 7 เดือน 7 นกคาคาซิกิก็จะไม่สามารถบินมาหาได้ ทำให้ทั้งสองต้องเศร้าใจรอไปอีกหนึ่งปีเพื่อที่จะพบหน้ากันอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากว่ามีฝนตกลงมาในวันทานาบาตะ ชาวญี่ปุ่นก็จะเรียกฝนนั้นว่า “หยดน้ำตาของโอริฮิเมะและฮิโกโบชิ”
ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือเรื่องราวของวันทานาบาตะนั่นเอง ใครที่หลงไหลในประเทศญี่ปุ่นคงไม่อยากพลาดเทศกาลที่แสนมีเสน่ห์นี้อย่างแน่นอน แต่สำหรับใครที่ไม่สามารถเดินทางไปไกลถึงประเทศญี่ปุ่นได้ ที่ประเทศไทยเองก็มีอยู่หลายที่เหมือนกันที่จัดเทศกาลนี้ให้ทุกคนได้เข้าร่วมกันทุกปี ใครที่สนใจก็ลองไปเสิร์ชหาดูกันได้เลย
ผู้เขียน: kiwi (กวีกร กังกเวคิน) “เด็กฝึกงานติดเกมท่านหนึ่ง”