รีวิว Sekiro: Shadows Die Twice – เดชนินจาแขนกล คนเล่นตายซ้ำซาก

แพลตฟอร์ม: PS4, Xbox One, PC (ทีมงานทดสอบและรีวิวจากเวอร์ชั่น PS4)
ผู้พัฒนา: FromSoftware


***ทีมงาน Online Station ขอขอบคุณบริษัท Sony Interactive Entertainment สาขาประเทศสิงคโปร์ (SIES) ที่เอื้อเฟื้อโค้ดของเกม Sekiro: Shadows Die Twice เพื่อใช้ในการรีวิวมา ณ ที่นี้ด้วยครับ*** 

หลังเว้นว่างจาก Dark Souls III มาไม่กี่ปี ล่าสุด FromSoftware ก็คลอดเกมหน้าใหม่ที่มีชื่อว่า Sekiro: Shadows Die Twice ตามออกมาในปีนี้ทันที ด้วยธีมที่ฉีกมาสู่วัฒนธรรมญี่ปุ่นบ้าง จากที่เคยไปโลดแล่นกับอารยธรรมยุควิคตอเรียหรือยุคกลางกับซีรีส์ Souls และ Bloodborne มานาน รับประกันผลงานและความโหดหินของเกมโดยคุณฮิเดทากะ มิยาซากิ ในฐานะผู้กำกับขาประจำอีกตามเคย

เนื้อเรื่องของ Sekiro จะอยู่ในช่วงยุคเซ็นโกคุ ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นนินจาหนุ่มผู้สูญเสียแขนซ้ายไปในการต่อสู้ แต่เมื่อเขารอดจากความตายมาได้ ก็พบว่าแขนซ้ายได้ถูกแทนที่ด้วยแขนกลนินจา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ รวมถึงใช้ทุ่นแรงในการต่อสู้ได้หลายอย่าง และภารกิจของเราคือตามหาตัวองค์ชายผู้เป็นนายหัวที่ถูกศัตรูจับตัวไปนั่นเอง

พูดถึงแขนกลนินจากันบ้าง โดยนี่คือฟีเจอร์หลักที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเกม Sekiro เพราะตลอดทั้งเกมเราต้องพึ่งพาแขนนี้บ่อยมาก หลักๆ เลยก็คือการยิงสลิงเพื่อเหินข้ามจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นนินจาของตัวเอก ที่ต้องเน้นลอบเร้น จะมีอยู่หลายพื้นที่ที่เราต้องโหนไปดูลาดเลารอบๆ ฉากเพื่อสังเกตว่าศัตรูอยู่ตรงไหนกันบ้าง จากนั้นก็ค่อยๆ ไล่ลอบฆ่าทีละตัว หรือในบางโอกาส การใช้สลิงจากแขนกลก็ช่วยให้เราสามารถรอดพ้นจากการโจมตีของศัตรูด้วย

ขณะเดียวกัน ระหว่างที่เราผจญภัยไปในแต่ละโซน ก็จะมีไอเทมอัพเกรดแขนกลนินจาให้เราเก็บมาเพิ่มประสิทธิภาพกับแขนกลได้ ไล่ตั้งแต่ พ่นไฟให้ศัตรูติดสถานะไฟคลอก (ลด HP ศัตรูลงไปเรื่อยๆ), ปาดาวกระจาย (ทำลายจังหวะและสร้างความเสียหายกับศัตรูที่ลอยอยู่กลางอากาศ) หรือแม้แต่ยิงประทัด ที่ได้ผลดีกับการสู้กับศัตรูประเภทสัตว์ ซึ่งผู้เล่นจำเป็นจะต้องพลิกแพลงการใช้แขนกลให้เข้ากับสิ่งที่เราเจอตรงหน้าให้ดี

ระบบการต่อสู้ของเกม Sekiro จะมีความแตกต่างจากซีรีส์อื่นๆ ก่อนหน้าอยู่หลายอย่าง ประเด็นแรกเลยคือตัวเกมจะไม่มีเกจ Stamina ให้ผู้เล่นต้องพะวงอีกต่อไป แต่จะแทนที่ด้วยเกจสีส้มซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เราหรือศัตรูทำการป้องกันการโจมตีของอีกฝ่าย หรือโดนโจมตี และหากเราทำเกจของคู่ต่อสู้เต็มเมื่อไหร่ การ์ดจะแตกและเป็นการเปิดช่องให้เราใช้ท่าพิฆาตเพื่อสังหารมันได้ทันที (ถ้าเป็นระดับมินิบอสขึ้นไปจะเสียพลังชีวิตไป 1 เกจ) นั่นเท่ากับว่าเป็นไฟต์บังคับที่เราจะไม่สามารถปัดป้องการโจมตีของศัตรูได้ตลอดเวลา แต่ก็ใช่ว่าเราจะเข้าไปฟันมันรัวๆ ให้เกจมันขึ้นได้ง่ายๆ เพราะเกมนี้จะมีระบบ Parry ที่จะใช้ได้เมื่อเรากดป้องกันในจังหวะที่คมดาบของศัตรูใกล้จะถึงตัวเรา และเมื่อทำ Parry สำเร็จ นอกจากเกจสีส้มของเราจะไม่เพิ่มแล้ว จะยังไปเพิ่มเกจสีส้มให้กับศัตรูแทน (ซึ่งศัตรูก็ทำ Parry ใส่เราได้เหมือนกัน) ดังนั้น การฝึก Parry ด้วยการจับจังหวะ พร้อมกับอ่านการเคลื่อนไหวของศัตรูจนชำนาญจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการเล่นเกมนี้ให้รุ่ง

ต่อมาเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเกมตระกูลนี้ที่พัฒนาโดย FromSoftware นั่นก็คือความตาย ซึ่งชื่อเกมก็มีบอกใบ้ไว้แล้วครับว่าเราตายได้สองครั้ง โดยในซีรีส์ Souls หรือ Bloodborne นั้น เมื่อเราตายปุ๊บ วิญญาณหรือเลือดที่เราเก็บมาจะหล่นจากตัว พอเราเกิดใหม่ก็ต้องไปเก็บคืนมาจากจุดที่เราตาย แต่ใน Sekiro นี้เราจะเสียค่าประสบการณ์กับเงินบางส่วนแทน และจะเริ่มเสียในเรตสูงขึ้นเรื่อยๆ หากเราตายซ้ำซ้อน ขณะเดียวกัน หลังจากที่เราโดนศัตรูอัดตายในทีแรก เราจะมีเวลาสักครู่นึงในการตัดสินใจว่าจะฟื้นคืนชีพตัวเองไปสู้ต่อ หรือปล่อยตายไปเลย โดยการเลือกสู้ต่อ ผู้เล่นสามารถอาศัยจังหวะที่ศัตรูเผลอหรือหันไปทางอื่นเพื่อรีบฟื้นและกินยาเพิ่มพลังชีวิตให้ทันได้ หรือถ้าคิดว่าเร็วพอ ก็ลองเสี่ยงโจมตีศัตรูไปสักทีนึงก็ได้เหมือนกัน ทว่าถ้าเราฟื้นแล้วและดันตายซ้ำอีกรอบ ก็จะถูกส่งกลับจุดเซฟทันที

ระหว่างการผจญภัย เราจะได้เจอเหล่าลูกกระจ๊อกและบอสขวางอยู่ตามทาง ตัวเกมไม่ได้บีบบังคับหรือตีกรอบเราตายตัวว่าต้องสู้แบบซึ่งหน้า ตีๆ บล็อคๆ จนเลือดมันหมดตายไป ซึ่งเมื่อเราเป็นนินจา จึงมีระบบการลอบสังหารเพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยย่นระยะเวลาตรงนี้ โดยเฉพาะมินิบอสและบอสต่างๆ ที่จะมีพลังชีวิตอย่างน้อย 2 เกจ และการแอบเข้าไปใช้ท่าลอบสังหารกับพวกมันจะช่วยลดพลังชีวิตไปได้ทันที 1 เกจ นอกจากนี้ ในขณะที่ระหว่างสู้กับบอสบางตัว เรายังสามารถใช้สภาพแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ในการดักโจมตี หรือไปยืนตรงจุดที่ได้เปรียบแล้วค่อยๆ ตอดพลังชีวิตมันจนตายก็ได้ จากทั้งหมดที่กล่าวมา ยอมรับเลยว่าเกมมีความยากจริง โหดจริง ชวนหัวร้อนจริง แต่บอสส่วนใหญ่ที่เราเจอ จะค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่มีตายตัวว่าต้องใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการปราบ (เว้นแต่บอสบางตัวที่เมื่อเล่นไปสักประมาณกลางเกมเราจะรู้เองว่าผ่านยังไง)

เดิมทีในซีรีส์ Souls จะใช้รูปแบบการอัพเกรดตัวละครด้วยการไล่เก็บวิญญาณที่ได้จากการฆ่าศัตรูมาอัพค่าพลังของเรา แต่การสังหารศัตรูในเกม Sekiro สิ่งที่เราได้มาจะเป็นเงินและค่าประสบการณ์ โดยเงินจะมีไว้เพื่อซื้อไอเทมจาก NPC ที่คอยประจำตามจุดต่างๆ ส่วนค่าประสบการณ์จะเอาไว้ใช้เรียนรู้สกิลใหม่ๆ ซึ่งท่าไม้ตายแต่ละท่าจะมีประโยชน์ในการใช้ในหลายๆ สถานการณ์ บางท่าจะช่วยเพิ่มเพจสีส้มของศัตรูได้ไว บางท่าก็จะช่วยปัดป้องการใช้ท่าสังหารของศัตรูได้ เป็นต้น

กราฟิกและการนำเสนอในเกมทำออกมาได้ดี บรรยากาศต่างๆ ทั้งตัวปราสาท ป่าเขา ดันเจี้ยน และแสงเงาทำออกมาสวยสมจริง แถมสภาพอากาศและเวลายังผันแปรตามช่วงที่เราดำเนินเนื้อเรื่องด้วย เราจะเห็นว่าในเกมมีทั้งเวลากลางวัน กลางคืน รวมถึงช่วงที่มีหิมะตก ทำให้รู้สึกว่าแวดล้อมของเกมดูไม่จำเจ และอยากจะสำรวจและเห็นหน้าตาโซนใหม่ต่อไปเรื่อยๆ โดยถ้าเพื่อนๆ ลองเล่นเกมนี้บน PS4 รุ่นธรรมดา เฟรมเรตจะมีหล่นบ่อยหน่อยหากเจอศัตรูป้วนเปี้ยนในฉากเยอะ หรืออยู่ในสถานที่ที่กว้างมากๆ แต่ถ้าในกรณีของ PS4 Pro เฟรมเรตจะไหลลื่นกว่าจมเลย

สิ่งสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการแปลภาษาในเกมเป็นภาษาไทยครับ เนื่องจากคุณภาพการแปลจัดอยู่ในขั้นที่เรียกว่าดีมาก และสัมผัสได้ถึงความตั้งใจและละเมียดละไมในเนื้องาน ไม่ว่าจะในหน้าเมนู ซับไตเติ้ลบทสนทนา หรือคำสั่งต่างๆ เวลากดสำรวจจุดเซฟล้วนทำออกมาดีหมด จะมีปัญหาเพียงแค่รายละเอียดไอเทมบางชิ้นที่ยังมีการแปลซ้ำกันบ้าง ซึ่งคิดว่าน่าจะมีปล่อยแพตช์อัพเดตมาแก้ในภายหลัง


จุดเด่น

– ตัวเกมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นมีอิสระในการเดินทางไปยังจุดต่างๆ ได้หลายวิธี รวมทั้งมีทางเลือกในการปราบมินิบอส และบอสทั่วไปค่อนข้างหลากหลาย ตลอดจนการต่อสู้ก็พลิกแพลงได้หลายรูปแบบ
– ภาษาไทยในเกมแปลมาได้ดีงาม คุณภาพดีไม่แพ้เกม Shadow of the Colossus หรือ Secret of Mana ที่ออกมาก่อนหน้าและมีการแปลไทยเต็มรูปแบบเลย
– ระบบการอัพเกรดและเสริมสมรรถนะของตัวเอกทำมาเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน
– พล็อตเรื่องถือว่ามีความเข้าถึงง่ายกว่าตระกูล Souls หรือ Bloodborne พอสมควร และมีฉากจบหลายแบบ ทำให้เกิดความน่าค้นหาและน่าขวนขวายหาฉากจบแบบอื่นๆ
– ศัตรูในเกมถูกออกแบบมาดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หลายตัวเป็นที่จดจำได้ง่ายจากท่าไม้ตายที่มันใช้ ในขณะที่บางตัวก็เป็นที่จดจำง่ายจากสถานที่ตอนสู้กับมัน หรือไม่ก็เครื่องแต่งกายที่มันสวมใส่

จุดด้อย

– มุมกล้องยังมีปัญหาในบางจุด โดยเฉพาะตอนที่เราโดนคู่ต่อสู้ไล่บีบจนติดผนัง ทำให้มองพื้นที่รอบๆ ได้ลำบาก

สรุป

แม้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างในเกมจะถูกปรับให้เข้าหาผู้เล่นมากขึ้น แต่ภาพรวมของเกมก็ยังคงกลิ่นอายของเกมจาก FromSoftware เอาไว้ครบถ้วน ซึ่งก็แน่นอนว่ารวมถึงความยากระดับปาจอยเช่นกัน โดย Sekiro ยังมีความเป็นเกม “เฉพาะทาง” ที่ไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน แต่ถ้าใครอยากจะทำความคุ้นเคยและลองก้าวเข้าสู่เกมแนว FromSoftware สักครั้ง ก็แนะนำตรงนี้ได้เลยว่าการเริ่มที่ Sekiro น่าจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ที่สุดแล้ว

คะแนน 9 / 10
 

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้