[รีวิว] Razer Raiju Gaming Controller – จอยชู้ตติ้งสุดแจ่มของชาวจริงจังเกมมิ่ง

Razer Raiju

ทีมงาน OS ขอขอบคุณบริษัท Ascenti Resources ที่เอื้อเฟื้ออุปกรณ์สำหรับการรีวิวครั้งนี้ครับ

หลายคนน่าจะคุ้นตากับรูปลักษณ์ของคอนโทรลเลอร์ (ที่บ้านเราอาจเรียกติดปากว่าจอย) DualShock ที่อยู่คู่กับเครื่องเกมตระกูล PlayStation มาตั้งแต่รุ่นแรก ก่อนที่มันจะถูกเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่ในยุคของ PS4 อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน นั่นแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่จะยึดเอาความสะดวกในการใช้งานมาเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบ ทำให้ DualShock 4 เป็นเป็นหนึ่งในคอนโทรลเลอร์ที่เหมาะกับการเล่นเกมมากที่สุดในตอนนี้ แต่ด้วยความที่มันเป็นคอนโทรลเลอร์สามัญประจำเครื่อง ข้อจำกัดในการออกแบบของมันก็คือต้องทำออกมาให้รองรับการเล่นเกมทุกแนวเอาไว้ก่อน จะออกแบบให้มันมีประสิทธิภาพหรือเหมาะกับการใช้เล่นเกมแนวใดแนวหนึ่งไม่ได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นคอนโทรลเลอร์แบบพิเศษจากบรรดาผู้ผลิตภายนอกออกมาวางจำหน่ายกันอย่างต่อเนื่อง และ Razer Raiju ก็เป็นหนึ่งในคอนโทรลเลอร์พิเศษเหล่านั้น

มองเผินๆ แล้ว Razer Raiju ดูจะมีความคล้ายกับคอนโทรลเลอร์ของ Xbox One มากกว่า DualShock 4 อีกทั้งยังมีขนาดที่ใหญ่กว่าอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้นมันจึงอาจไม่เหมาะกับเด็กๆ หรือผู้ที่มีมือขนาดเล็กสักเท่าไหร่ แต่จุดเด่นของมันไม่ได้อยู่ที่ขนาด หากแต่อยู่ที่ปุ่มจำนวนมากที่ถูกเพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นปุ่ม M1 และ M2 ที่อยู่ข้างๆ ปุ่ม L1 และ R1, ปุ่ม M3 และ M4 ที่อยู่ด้านหลังของคอนโทรลเลอร์ ตลอดจนปุ่มควบคุมเสียงจากเกมและไมโครโฟนทั้ง 4 ปุ่มที่อยู่ด้านล่างของก้านอนาล็อกทั้งสอง นอกจากนี้ความสะดวกอีกอย่างหนึ่งของ Razer Raiju คือเราสามารถกำหนดคุณสมบัติในการใช้งานบรรดาปุ่มพิเศษเหล่านี้ให้เป็นปุ่มต่างๆ ตามที่เราต้องการได้ตลอดเวลาในเวลาแค่ไม่กี่วินาที และสามารถทำได้แม้ระหว่างที่กำลังอยู่ในเกมด้วย ไม่จำเป็นต้องกดพักเกมแล้วค่อยเข้าเมนูปรับปุ่มของ PS4 ให้ยุ่งยากเสียเวลาเลย

ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่าปุ่มพิเศษเหล่านี้ช่วยให้เราสามารถทำอะไรในเกมได้ไวขึ้น อย่างเช่นการตั้งให้ M3 เป็นปุ่มรีโหลดและ M4 เป็นโจมตีระยะประชิด แบบนี้จะทำให้เราไม่ต้องปล่อยนิ้วโป้งจากอนาล็อกทั้งสองข้างเลย เราจึงสามารถเคลื่อนที่และหมุนมุมกล้องได้ตลอดเวลา เพราะให้นิ้วกลางหรือนิ้วนางที่ปกติไม่ได้ใช้ทำหน้าที่ให้แทนได้ แต่การจะทำตัวให้ชินกับการใช้นิ้วกลางหรือนิ้วนางในการกดปุ่ม M3 และ M4 อาจต้องใช้เวลาสักพัก เพราะเราอาจเผลอไปโดนทั้งสองปุ่มนี้โดยไม่ได้ตั้งใจค่อนข้างบ่อยในช่วงแรกๆ แต่ถ้าใครลองแล้วยังไงก็ไม่ถนัดก็สามารถใช้ไขควงที่มีแถมมาให้ภายในกล่องถอดเอาปุ่ม M3 และ M4 ออกไปเลยก็ได้

นอกจากนี้ Razer Raiju ยังมีสวิตช์ให้เราปรับเพื่อที่จะกำหนดความลึกในการกดปุ่มไกปืนอย่าง L2 และ R2 ได้ด้วย จากการทดสอบพบว่าคุณสมบัตินี้มีประโยชน์มากกับเกมยิงหรือเกมที่ต้องใช้ปุ่มไกปืนในการโจมตีรัวๆ เพราะมันช่วยร่นระยะเวลาในการกดปุ่มของเราได้พอสมควร ทำให้เราสามารถยิงหรือโจมตีได้ถี่ขึ้นในเวลาที่เท่ากัน ส่วนปุ่มพิเศษทั้งสี่ปุ่มทางด้านล่างของก้านอนาล็อกจะประกอบไปด้วยปุ่ม Remap ที่ไว้สำหรับตั้งค่าปุ่มพิเศษต่างๆ บนตัวคอนโทรลเลอร์ ในขณะที่อีก 3 ปุ่มที่เหลือมีไว้สำหรับใช้ควบคุมเสียงจากเกมและไมโครโฟนของหูฟังหรือเฮดเซ็ตที่สามารถเสียบกับพอร์ต 3.5 มิลลิเมตรทางด้านล่าง แต่น่าเสียดายเล็กน้อยที่ทั้ง 3 ปุ่มนี้ไม่สามารถใช้ควบคุมเฮดเซ็ตแบบไร้สายได้ เราต้องไปกดปุ่มที่เฮดเซ็ตกันเอาเองไปตามปกติ

ความเหมือนที่แตกต่างอย่างหนึ่งระหว่าง Razer Raiju และ DualShock 4 ก็คือบรรดาปุ่มทางด้านหน้าของตัวคอนโทรลเลอร์ แม้ตำแหน่งการวางจะไม่ต่างกัน แต่สัมผัสในการใช้งานนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ปุ่มสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม และกากบาทมีแรงต้านและความลึกในการกดที่น้อยมาก อาจจะน้อยกว่าเกมมิ่งเม้าส์บางรุ่นด้วยซ้ำ ข้อดีของมันก็คือเราแทบไม่ต้องใช้แรงในการกดเลย แค่เลื่อนนิ้วโป้งไปให้โดนก็พอ ทำให้เราสามารถสลับการใช้ปุ่มเหล่านี้กับก้านอนาล็อกได้รวดเร็วขึ้น ส่วนปุ่มทิศทางหรือ D-pad มีข้อดีตรงที่ทุกปุ่มถูกแยกออกจากกัน ไม่เหมือนกับ D-pad ของทั้ง DualShock 4 และ Xbox One ที่ถูกเชื่อมกันด้วยปุ่มพลาสติกชิ้นเดียว แม้การวางปุ่มแบบนี้จะทำให้การกดมีความแม่นยำมากขึ้นก็จริง แต่แรงต้านของมันกลับมีมากกว่าคอนโทรลเลอร์ทั่วๆ ไป ทำให้เราต้องใช้แรงกดมากกว่าปกติ ผิดกับปุ่มอื่นๆ บนตัว Razer Raiju เอง

อาจเพราะเพื่อความเร็วและความแม่นยำในการตอบสนองระดับเสี้ยววินาที จึงทำให้ Razer Raiju ไม่มีระบบการเชื่อมต่อแบบไร้สาย เราต้องใช้มันกับสาย USB ความยาว 3 เมตรที่มีแถมมาให้ในกล่องเท่านั้น จริงอยู่ที่สายที่แถมมามันยาวพอที่จะนั่งเล่นห่างจากหน้าจอได้พอสมควร แต่หากเพิ่มระบบไร้สายมาเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ด้วยก็คงจะดีกว่านี้ อีกทั้งปุ่ม PS บนตัวคอนโทรลเลอร์ก็ไม่สามารถใช้กดเพื่อเปิดเครื่องได้ เราต้องเดินไปกดปุ่ม Power บนเครื่อง PS4 หรือกดปุ่ม PS บนคอนโทรลเลอร์ DualShock 4 อีกตัวแทน

อย่างไรก็ตาม หากจะให้อธิบายง่ายๆ ก็คงต้องบอกว่า Razer Raiju ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ eSports หรือเกมยิงที่เราต้องแข่งขันกับผู้เล่นคนอื่นเป็นหลัก เพราะทั้งสัมผัสและปุ่มต่างๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามานั้นจะช่วยให้เราสามารถทำอะไรในเกมได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ตลอดจนพื้นผิวที่เป็นยางบนก้านอนาล็อกและบริเวณด้ามจับก็ช่วยเพิ่มความกระชับได้มากขึ้นไปอีก ถ้าใครเป็นคนที่เล่นเกมยิงอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะมุมมองบุคคลที่ 1 หรือบุคคลที่ 3 เราสามารถยืนยันได้เลยว่า Razer Raiju จะช่วยยกระดับการเล่นของคุณให้มีประสิทธิภาพได้ขึ้นแน่นอน เพราะการมีปุ่มพิเศษเพิ่มเข้ามาแล้วนิ้วโป้งของเรายังสามารถอยู่บนก้านอนาล็อกได้ตลอดเวลานั้นช่วยให้เรารอดพ้นจากสถานการณ์คับขันได้จริงๆ แต่ถ้าใครไม่ใช่สายจริงจังเกมมิ่ง การใช้ DualShock 4 กับเกมทั่วๆ ไปก็เป็นแนวทางที่ดีอยู่แล้ว

จุดเด่น

– ปุ่มพิเศษที่เพิ่มมา ช่วยให้ทำอะไรในเกมได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
– ปรับความลึกในการกดปุ่ม L2 และ R2 ได้
– ไม่ต้องใช้แรงกดปุ่มมากเท่า DualShock 4 (ยกเว้นปุ่มทิศทาง)
– รูปทรงกระชับ น้ำหนักกำลังดี จับถนัดมือ

จุดด้อย

– ไม่รองรับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย
– เหมาะกับการใช้เล่นเกมบางประเภทเท่านั้น

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้