[รีวิว] The Last Guardian – 10 ปีที่ไม่สมการรอคอย

แพลตฟอร์ม: PS4
ผู้พัฒนา: genDESIGN, SIE Japan Studio
ผู้จัดจำหน่าย: Sony
เรต: 13 ปีขึ้นไป
ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการเล่นจนจบเกม: ประมาณ 10-12 ชั่วโมง (ขึ้นอยู่กับความสามารถในการไขปริศนาของผู้เล่น)
ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการเก็บทุกรายละเอียด: 18 ชั่วโมงขึ้นไป

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ The Last Guardian ขึ้นมาทีไร เกมเมอร์หลายราย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาแฟนๆ ของเครื่อง PlayStation) น่าจะคุ้นหูและในบางรายอาจมีความคาดหวังมากมายเลยด้วยซ้ำ นั่นเพราะหัวเรือใหญ่ของเกมนี้คือคุณฟุมิโตะ อุเอดะ (Fumito Ueda) ที่เคยสร้างชื่อเอาไว้ในสมัย PS2 กับเกมที่กวาดคำชมไปมากมายอย่าง ICO ที่เราต้องรับบทเป็นหนุ่มน้อยมีเขาและคอยปกป้องสาวน้อยที่เราพบเจอจากบรรดาศัตรูที่เป็นเงามืด ซึ่งตัวเกมนั้นโดดเด่นในแง่ของคอนเซ็ปต์เกมที่ไม่มีแม้แต่หน้าจอบอกสถานะตัวละคร รวมถึงเน้นการแก้ปริศนาเพื่อหาทางไปต่อ โดยที่ตัวเกมไม่ค่อยบอกใบ้อะไรให้คนเล่นทราบนัก ตลอดจนงานศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ดูสวยงาม มีแสงฟุ้งสมเป็นโลกในจินตนาการ ซึ่งจากความสำเร็จของ ICO นั้น ก็ได้ก่อเกิดเป็นเกม Shadow of the Colossus บน PS2 เช่นกัน แต่คราวนี้ตัวเกมมีความเป็นแอ็กชั่นมากขึ้น มีระบบการเติบโตของตัวละคร มีการเพิ่มเติมค่าพลังของตัวเอกผู้เป็นชายหนุ่มที่ต้องต่อกรกับศัตรูซึ่งเป็นสัตว์ยักษ์จำนวน 16 ตนด้วยกัน ด้วยหวังที่จะฟื้นคืนชีวิตให้แก่หญิงสาวอันเป็นที่รัก ตัวเกมยังคงให้บรรยากาศแห่งความอ้างว้าง และนอกจากยักษ์ทั้ง 16 ตนเช่นว่าแล้ว ตัวเอกก็ไม่มีเพื่อนร่วมทางอื่นอีกเลยนอกจาก Agro ที่เป็นม้าคู่ใจพร้อมพาตัวเอกไปตะลุยร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ แน่นอนว่าตัวเกมก็กวาดคำชมไปมากมายเช่นเคย ทำเอาหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยเกมที่สร้างสรรค์ชิ้นถัดไปจากมันสมองของคุณอุเอดะอย่างใจจดใจจ่อ

และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อคราวที่ตัวเกม The Last Guardian ถูกประกาศต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกในงาน E3 2009 บรรดาสื่อและเกมเมอร์จึงถึงกับให้ความสนใจอย่างท่วมท้น เพราะตัวเกมประกาศว่าจะลงให้กับ PS3 ที่มีประสิทธิภาพเหนือล้ำกว่า PS2 ทุกคนจึงคาดหวังว่าตัวเกมจะต้องมีอะไรที่เหนือล้ำจินตนาการออกมาให้ได้สัมผัสกันแน่นอน ทว่าในช่วงที่ผ่านมาการพัฒนาเกมก็ดูจะเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเหตุผลที่ทุกคนได้ทราบกันก็คือประสิทธิภาพของ PS3 ก็ยังไม่เพียงพอที่จะตอบสนองวิสัยทัศน์ที่คุณอุเอดะคิดเอาไว้ แต่จนแล้วจนรอดเกมก็พัฒนาต่อจนเสร็จสิ้นและวางจำหน่ายบน PS4 ในที่สุด เรียกได้ว่าพัฒนากันข้ามเจนเลยทีเดียว

คำถามก็คือ…ด้วยระยะเวลาพัฒนาที่ยาวนานขนาดนี้ วิสัยทัศน์ของคุณอุเอดะนั้นยังคงเปี่ยมมนต์ขลังเช่นเดิมหรือไม่? หรือมนต์นั้นเสื่อมไปเสียแล้ว?

เกม The Last Guardian นั้นดำเนินเรื่องราวในโลกที่มีอารยธรรมและกลิ่นอายที่คล้ายคลึงกับสองเกมก่อนหน้านี้อย่าง ICO และ Shadow of the Colossus มาก ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายตัวละคร จนอดสงสัยไม่ได้ว่าแท้จริงแล้วเหตุการณ์ทั้งหมดดำเนินไปในโลกเดียวกัน เพียงแค่ต่างเวลา ต่างสถานที่ และต่างยุคสมัยเท่านั้นหรือไม่

ในเกมนี้เราจะได้รับบทบาทเป็นหนุ่มน้อยรายหนึ่งที่ฟื้นคืนสติขึ้นมาก็พบว่าตนอยู่ในสถานที่อันไม่คุ้นเคย และใกล้ๆ กันนั้นมีสัตว์ขนาดยักษ์ที่ชื่อทริโค่ (Trico) ซึ่งดูจะเป็นส่วนผสมระหว่างแมวและนก นอนบาดเจ็บอยู่ และเมื่อหนุ่มน้อยได้ช่วยเหลือทริโค่ให้ฟื้นกำลังกลับมาได้ สายสัมพันธ์อันแปลกประหลาดระหว่างคนและสัตว์ยักษ์ก็ได้ก่อตัวขึ้น และทั้งสองก็ต้องอาศัยความเชื่อใจกันเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เพื่อเอาชีวิตรอดออกไปจากสถานที่แห่งนี้ให้จงได้

หากจะว่าด้วยการบังคับควบคุมในเกมนั้น คงต้องกล่าวว่าระบบการควบคุมนั้นเข้าใจง่ายไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีการต้องผสมปุ่มต่อคอมโบ ไม่ต้องดักจังหวะเพื่อโจมตีสวน เพราะการเคลื่อนไหวของตัวเรามีเพียงแค่การกระโดด ปีนป่าย หยิบจับสิ่งของ สั่งการให้ทริโค่ทำอะไรบางอย่าง และอื่นๆ อีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตัวเราเองจะไม่มีความสามารถในการต่อสู้เลย เพราะหน้าที่ในการต่อสู้ทั้งหมดจะตกอยู่กับทริโค่ที่ควบคุมด้วย A.I. แต่เพียงอย่างเดียว และที่สำคัญคือแม้จะมีศัตรูให้ต้องเผชิญ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญของเกมนี้แต่อย่างใด นั่นเพราะหัวใจของเกมนี้คือการสำรวจและค้นหาเส้นทางเพื่อผ่านไปยังฉากต่อไป อาจเรียกได้ว่าเกมมีความเป็นพัซเซิลมากกว่าแอ็กชั่นเสียด้วยซ้ำ และเพราะอย่างนั้นตัวเกมจึงไม่มีระบบพัฒนาตัวละครเหมือนอย่างที่ Shadow of the Colossus มี แต่กลับไปใช้รูปแบบเรียบง่ายเหมือนอย่าง ICO อีกครั้ง

ถ้าใครที่เคยมีประสบการณ์จาก ICO หรือ Shadow of the Colossus มาแล้ว เมื่อได้สัมผัสเกมนี้ปุ๊บก็จะรับรู้ได้ถึงกลิ่นอายอันเป็นเอกลักษณ์ (และอาจเรียกได้ว่าเป็นลายเซ็น) ที่ไม่เหมือนใครในทันที แน่นอนว่าเกมแทบจะไม่บอกอะไรเราอย่างโจ่งแจ้งว่าในจุดนั้นเราต้องทำอะไรถึงจะผ่านได้ แต่คำบอกใบ้อาจมาในลักษณะของพฤติกรรมของตัวทริโค่ (ซึ่งก็ต้องอาศัยการสังเกตโดยตัวผู้เล่นเองอีกนั่นแหละ) เช่น ในจุดที่เราไม่เห็นประตูหรือทางไหนที่จะไปได้ หากแต่ในห้องนั้นมีสายโซ่ขนาดใหญ่ห้อยอยู่ เจ้า Trico ที่มีพฤติกรรมเหมือนสุนัขหรือแมวก็เข้าไปเขี่ยสายโซ่นี้เล่น ทำให้เรารู้ว่า อ้อ…เจ้าโซ่นี่เราสามารถทำอะไรบางอย่างกับมันได้ เป็นต้น และหากคุณใช้เวลาในจุดไหนนานเกินไป ตัวเกมก็จะมีเสียงบอกเล่าความคิดของตัวเราขึ้นมาให้ได้ยิน (ในลักษณะที่เป็นการเล่าอดีต)

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า รูปแบบการเคลื่อนไหวของเรานั้นมีแค่ไม่กี่รูปแบบ แต่การเคลื่อนไหวแค่นั้นก็เพียงพอที่ทีมพัฒนาจะสร้างสรรค์ปริศนาต่างๆ ให้ผู้เล่นต้องขบคิดกันจนหัวแทบระเบิด บางปริศนาก็ง่ายดาย บางปริศนาก็แทบจะจนปัญญา แต่พอรู้ว่าต้องผ่านยังไงก็เป็นเพียงเส้นผมบังภูเขาก็มีไม่น้อย ซึ่งการผ่านปริศนาในแต่ละรูปแบบนั้น ลำพังแค่การบังคับตัวเราอย่างเดียวย่อมไม่สามารถผ่านได้ โดยต้องอาศัยความสามารถพิเศษของทริโค่หลายอย่างตามที่เราสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นการยิงกระแสไฟฟ้าหรือเลเซอร์ออกจากหางเพื่อทำลายสิ่งกีดขวาง หรือแม้แต่สั่งให้ทริโค่ยืดตัวเพื่อที่เราจะได้ปีนขึ้นไปยังจุดที่ไม่สามารถกระโดดถึง ฯลฯ เรียกได้ว่าทุกการเคลื่อนไหวที่เราทำได้ในเกมได้ใช้ประโยชน์หมดแน่นอน

ทางด้านงานภาพยังคงเอกลักษณ์เดิมได้ครบถ้วน รูปแบบภาพที่แสงฟุ้งประหนึ่งความฝัน สถาปัตยกรรมอันดูโบราณและลึกลับ แมกไม้เขียวขจี ที่สำคัญคือความรู้สึกอ้างว้างและไม่คุ้นเคย ซึ่งก็ช่วยให้คนเล่นรับรู้ความรู้สึกของตัวละครได้ไม่ยากนัก เรียกได้ว่าหากคุณโหยหาบรรยากาศและความรู้สึกเหมือนคราวที่ได้เล่น ICO และ Shadow of the Colossus ในลักษณะที่เป็นการเดินทางร่วมฟันฝ่าอุปสรรคของสองชีวิตแล้วล่ะก็ คุณจะได้อย่างที่ต้องการแน่นอน (แค่ว่าในคราวนี้คุณได้เพื่อนร่วมเดินทางเป็น Colossus แทนที่จะเป็นสาวน้อยบอบบางหรือเป็นม้าคู่ใจนั่นล่ะ)

สิ่งหนึ่งที่ต้องขอชมคือพฤติกรรมของตัวทริโค่ที่ดูน่ารักและเป็นธรรมชาติไม่น้อย การเคลื่อนไหวในแต่ละอย่างล้วนทำให้เราเชื่อได้ว่าสัตว์ยักษ์ตัวนี้คือสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่จริงในโลกของ The Last Guardian ไม่ว่าจะเป็นการเอาเท้าเขี่ยโซ่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่การใช้จมูกดมสิ่งที่สงสัย การใช้ขาหลังเกาหัว การสะบัดขนหลังขึ้นจากน้ำ ฯลฯ สิ่งที่กล่าวไปนี้หากคุณเป็นคนที่เลี้ยงสัตว์อยู่แล้วก็จะรู้สึกผูกพันกับทริโค่ได้โดยไม่ยากนัก

ส่วนของโลกในเกม หากใครที่คุ้นเคยกับ ICO และ Shadow of the Colossus มาแล้วก็อาจไม่แปลกใจอะไร แต่เกมเมอร์หน้าใหม่ที่เพิ่งเคยได้สัมผัสเกมจากผู้สร้างรายนี้ก็อาจงงและสงสัยได้ ว่าแม้จะเล่นไปจนจบเกมแต่เนื้อเรื่องบางอย่างและเนื้อหาบางส่วนก็ไม่ได้รับการเปิดเผย นั่นเพราะใน The Last Guardian นี้เลือกที่จะใช้วิธีการเล่าเรื่องในรูปแบบเดียวกัน นั่นคือตัวโลกในเกมจะมีร่องรอยเพียงเบาบางให้เรารับรู้รับทราบผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกม แต่ถึงอย่างนั้นหากคุณหวังจะได้เนื้อเรื่องแบบชัดเจนแจ่มแจ้งทุกอย่าง หรืออยากได้ Lore ที่มีความหนาเป็นสิบหน้ากระดาษแล้วล่ะก็…อาจจะต้องผิดหวังสักหน่อย สุดท้ายแล้วผู้เล่นอาจต้องใช้จินตนาการของตนเองในการหาคำตอบว่าสิ่งนั้นคืออะไร เพราะอะไรจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

เมื่อพูดถึงข้อดีกันไปหลายอย่างแล้ว ก็ถึงคิวของข้อเสียกันบ้าง ปัญหาหลักอย่างแรกที่คิดว่าไม่กล่าวถึงไม่ได้นั่นก็คือเฟรมเรตครับ โดยใน The Last Guardian นี้มีหลายจุดหลายจังหวะ หรืออาจจะเรียกได้ว่าตลอดทั้งเกมที่เฟรมเรตตกกราวรูดจนเข้าขั้นย่ำแย่ ในบางครั้งตัวเกมจะมีฉากเซ็ตพีซที่ให้เราต้องวิ่งหนีสถานการณ์คับขันบางอย่างแต่เฟรมเรตก็ตกจนอาจทำให้ผู้เล่นกระโดดพลาดได้เลยเหมือนกัน ซึ่งก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างทำใจยอมรับได้ยากหากพิจารณาจากตัวเกมที่ตลอดทั้งเกมแทบจะไม่มีตัวละครอื่นนอกไปจากตัวเราและตัวทริโค่เท่านั้น ที่สำคัญคือวัตถุในฉากที่เราสามารถหยิบจับหรือทำอะไรได้ก็น้อยมาก ยิ่งไปกว่านั้นตัวเกมยังมีลักษณะเป็นการผ่านฉากต่อฉาก ไม่ได้สร้างฉากให้กว้างใหญ่จนสามารถไปไหนมาไหนได้อิสระตามสมัยนิยม หรือเทียบกับเกมก่อนหน้าอย่าง Shadow of the Colossus นั้นก็มีฉากกว้างใหญ่กว่าหลายเท่าด้วยซ้ำ จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมใน The Last Guardian เฟรมเรตจึงตกได้มากมายขนาดนี้

สำหรับในด้าน A.I. ของตัวทริโค่นั้น แม้จะมีการแสดงพฤติกรรมแบบสัตว์เลี้ยงที่เราพบได้ในชีวิตประจำวันอย่างน่ารักน่าเอ็นดู แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนสัตว์เลี้ยงของจริงเกินไปก็คือความที่เราคาดเดามันไม่ค่อยได้นี่ล่ะครับ บางครั้งเราอาจจะรู้ว่าตรงจุดนั้นจุดนี้ควรจะต้องผ่านยังไง แต่เรากดสั่งการมันแค่ไหนมันก็ไม่ยอมทำตาม และทีมงานเองก็เคยเจอเหตุการณ์ที่เป็นจุดบังคับในเกม ซึ่งตามเนื้อเรื่องเราจะต้องปล่อยมือจากสภาพที่กำลังโหนราวเหล็กอยู่ และทริโค่ที่อยู่ด้านล่างก็จะคาบเราเอาไว้ได้ทันเวลา แต่ตรงจุดที่ว่านี้แหละครับที่ทีมงานเล่นแล้วเจ้าทริโค่ดันเกิดอินดี้ไม่ยอมคาบเราซะอย่างนั้น เราเลยร่วงลงไปตายจนต้องเล่นใหม่ แน่นอนว่าทีมงานก็ลองเล่นเหมือนเดิมทุกประการ แต่ในรอบหลังนี้เจ้าทริโค่ก็ช่วยคาบตัวเราเอาไว้อย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ทีมงานเลยไม่เข้าใจเหมือนกันว่ารอบแรกนั้นพลาดตรงไหนไป ซึ่งพฤติกรรมที่เอาแน่นอนไม่ได้นี่แหละครับจะเป็นปัญหาสำหรับผู้เล่นสายเก็บโทรฟี่หรือต้องการเล่นแบบสปีดรันกันแน่นอน เพราะหลายครั้งการที่เราเสียเวลาตอนเล่นไปโดยเปล่าประโยชน์นี่ไม่ใช่ความผิดของผู้เล่นหรอกครับ แต่เป็นเพราะตัวทริโค่ไม่ยอมทำอย่างที่เราอยากให้ทำนั่นเอง

มาว่าด้วยการบังคับควบคุมตัวเรากันบ้าง การบังคับตัวเราให้ความรู้สึกค่อนข้างติดขัดและไม่ลื่นไหลตลอดเกมครับ ยิ่งถ้าใครเล่นเกมแอ็กชั่นยุคปัจจุบันที่การบังคับและรูปแบบการเล่นฉับไว ตัวละครปีนป่ายกันแบบปราดเปรียวและมีการควบคุมที่แม่นยำแล้วอาจจะหัวเสียได้เมื่อมาเล่น The Last Guardian นั่นเพราะอากัปกิริยาของตัวเราจะมีการเคลื่อนไหวที่ทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็นบ่อยมาก การกระโดดแล้วลงพื้นตัวเราจะต้องมีท่าทางล้มคว่ำคะมำหงายเล็กน้อยก่อนเสมอ ไม่สามารถลุกขึ้นมาวิ่งต่อได้ทันทีเหมือนเกมอื่นๆ หรือแม้แต่ในจังหวะที่เราปล่อยตัวลงมาจากที่สูงแล้วเกาะพื้นด้านล่างตัวเราจะไม่เกาะขอบอย่างหนักแน่นมั่นคงเหมือนเกมอื่น ซึ่งจะต้องมีอาการตัวเหวี่ยงไปมาครู่หนึ่งก่อนจะตั้งหลักได้บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นอะไรที่ทำให้จังหวะในการเล่นติดขัดมากครับ

เรื่องสุดท้ายที่ต้องพูดถึงก็คือมุมกล้องครับ อาจเพราะมีหลายฉากที่เราต้องเดินทางในที่แคบร่วมกับทริโค่ จึงทำให้มุมกล้องเข้าสู่จุดอับจนมองอะไรไม่เห็นบ่อยครั้ง แถมมุมกล้องมักจะมีการรีเซ็ตเองโดยอัตโนมัติบ่อย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้การทำอะไรของเราในตอนนั้นจะหยุดลงทันที ไม่ว่าจะเป็นการดันคันโยก หรือการกดสวิตช์ เป็นต้น

ข้อดี

– ปริศนาในเกมลึกซึ้งและออกแบบมาอย่างชาญฉลาด ช่วยกระตุ้นให้ใช้สมองได้เต็มที่
– ตัวเกมสื่ออารมณ์ด้านความผูกพันผ่านปฏิสัมพันธ์ของตัวเอกและทริโค่ออกมาได้ดี
– ระบบเกมเข้าใจง่ายมาก แม้ไม่เก่งเกมแอ็กชั่นก็เล่นสนุกได้
– กราฟิกที่แม้จะไม่ละเอียดเท่าเกมอื่น แต่ก็มีความสวยงามตามสไตล์ที่นำเสนอ

ข้อเสีย

– เฟรมเรตตกเยอะและบ่อยมาก หนำซ้ำยังไม่มีความเสถียร
– A.I. ของทริโค่ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ในหลายครั้ง ซึ่งหากเราต้องการเล่นทำเวลาอาจมีหงุดหงิดเมื่อทริโค่ไม่ยอมทำอย่างที่ใจเราต้องการแน่นอน
– มุมกล้องที่มักเหวี่ยงเข้าสู่จุดอับจนทำให้มองอะไรไม่เห็นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ต้องเข้าที่แคบ
– ระบบการควบคุมตัวละครที่ติดขัดไม่ลื่นไหลเหมือนเกมแอ็กชั่นในปัจจุบัน

สรุป

The Last Guardian ถือเป็นเกมแอ็กชั่นพัซเซิลที่ดีเกมหนึ่ง หากคุณชื่นชอบผลงานของคุณอุเอดะเหมือนอย่างที่เคยชื่นชอบ ICO และ Shadow of the Colossus แล้วล่ะก็ คุณก็จะชื่นชอบผลงานชิ้นนี้ได้ไม่ยาก เกมนี้จะตอบสนองทุกอย่างที่คุณอยากได้แน่นอน แต่กระนั้นปัญหาทางเทคนิคมากมายที่เกิดขึ้นก็เป็นตัวฉุดรั้งความดีงามของเกมไปอย่างน่าเสียดาย หากว่าตัวเกมมีการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคให้ครบถ้วนก่อนวางจำหน่ายก็คงจะดีกว่านี้ บางทีอาจเพราะระยะเวลาในการพัฒนาที่เนิ่นนานเกินไปจึงทำให้เกมไม่สามารถหาที่ยืนในวงการเกม ณ ปัจจุบันได้เท่าไหร่นัก รูปแบบของเกมนั้นค่อนข้างเก่าเกินไปเมื่อเทียบกับเกมในทุกวันนี้ ซึ่งทีมงานมองว่าหากเกมนี้วางจำหน่ายก่อนหน้านี้สัก 7-8 ปีก็คงจะสร้างความประทับใจได้มากกว่าที่เป็นอยู่ คงกล่าวได้เพียงแค่ว่าตัวเกมมาช้าเกินไปจนล่วงเลยช่วงเวลาที่มันจะสามารถสร้างปรากฏการณ์อะไรให้แก่วงการได้แล้วล่ะครับ

คะแนน – 6.5

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้