รำลึกครบรอบ 20 ปี Dreamcast เครื่องเกมคอนโซลรุ่นสุดท้ายของ Sega

รำลึกครบรอบ 20 ปี Dreamcast เครื่องเกมคอนโซลรุ่นสุดท้ายของ Sega

เมื่อวานนี้ (9 กันยายน) เป็นวันครบรอบ 20 ปีของการวางจำหน่ายเครื่อง Dreamcast ที่เป็นเครื่องเกมคอนโซลที่ผลิตโดย Sega ครับ ซึ่ง Dreamcast นี้ถือเป็นความพยายามเฮือกสุดท้ายของ Sega ที่อยากสู้เพื่ออยู่ในสงครามตลาดเกมคอนโซลต่อไป หลังจาก Sega Saturn ที่เป็นเครื่องคอนโซลรุ่นก่อนหน้าดันแป้กไม่เป็นท่า เพราะคนหันไปเล่น PS1 ที่พัฒนาโดย Sony กันหมด ความเป็นมาของเครื่อง Dreamcast นี้เป็นอย่างไร ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไร ทีมงาน Online Station ขอร้อยเรียงเรื่องราวให้เพื่อนๆ ได้ชมกันครับ

รำลึกครบรอบ 20 ปี Dreamcast เครื่องเกมคอนโซลรุ่นสุดท้ายของ Sega

  • ชื่อ Dreamcast เป็นการรวมคำกันระหว่างคำว่า Dream และ Broadcast โดยจากความล้มเหลวในยุคของเครื่อง Sega Saturn ได้ทำให้ทาง Sega ตัดสินใจนำชื่อบริษัทออกไปจากผลิตภัณฑ์เครื่องเกมในรุ่น Dreamcast นี้เอง (ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อเครื่อง Sega Master System ในเจเนอเรชั่นที่ 3, Sega Genesis ในเจเนอเรชั่นที่ 4 และ Sega Saturn ในเจเนอเรชั่นที่ 5) ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ Sega ตัดสินใจเช่นนี้ก็เพราะมี PlayStation เป็นแบบอย่างให้เห็นว่า Sony ไม่ได้นำชื่อบริษัทมาอยู่ในชื่อผลิตภัณฑ์ก็ยังสามารถปังได้
  • ตอนที่ Dreamcast วางจำหน่าย ช่วงนั้นมีกระแสหนาหูมาค่อนข้างมากแล้วว่าทาง Sony กำลังซุ่มทำเครื่อง PS2 อยู่ และมีความเป็นไปได้สูงว่า PS2 จะใช้สื่อในการเล่นที่มีความจุมากกว่า CD-Rom ปกติ (CD-Rom ทั่วไปจะมีความจุ 600 MB) ด้วยเหตุนี้ ทาง Sega จึงไปพัฒนาเครื่อง Dreamcast ให้สามารถอ่านสื่อชนิดใหม่ที่เรียกว่า GD-Rom ซึ่งมีความจุประมาณ 1 GB และยังสามารถอ่านแผ่น CD-Rom รวมถึง Mini-CD ได้อีกด้วย

รำลึกครบรอบ 20 ปี Dreamcast เครื่องเกมคอนโซลรุ่นสุดท้ายของ Sega

  • แผ่น GD-Rom เป็นโปรเจ็กต์ที่ Sega ทำการว่าจ้างให้ Yamaha ออกแบบและพัฒนาให้ แต่เทคโนโลยีในการผลิตแผ่น GD-Rom ยังคงเป็นรูปแบบเดียวกับการผลิตแผ่น CD-Rom จึงเพิ่มความจุได้มากกว่า CD-Rom มาได้เพียง 42% มิหนำซ้ำ ความจุของ GD-Rom ยังน้อยกว่า Optical Disc ของเครื่อง GameCube ที่มีความจุประมาณ 1.5 GB ซะงั้น เนื่องจาก Optical Disc ได้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตแผ่นแบบเดียวกับแผ่น DVD นั่นเอง และนี่ก็เป็นอีก 1 สาเหตุที่ทำให้ Dreamcast ดูด้อยกว่าเครื่องอื่นๆ ที่ออกมาในเจเนอเรชั่นเดียวกัน (PS2 กับ Xbox ใช้แผ่น DVD ซึ่งมีความจุมากกว่า GD-Rom ด้วยเช่นกัน)

รำลึกครบรอบ 20 ปี Dreamcast เครื่องเกมคอนโซลรุ่นสุดท้ายของ Sega

  • ทาง Sega ได้พยายามต่อยอดระบบบริการอินเตอร์เน็ตบนเครื่องเกมคอนโซลที่มีชื่อว่า SegaNet มาตั้งแต่ยุคเครื่อง Sega Saturn ลากยาวมาจนถึง Dreamcast โดยมีการเปิดบริการนี้มาตั้งแต่ปี 1996 กระทั่งในปี 2000 ระบบ SegaNet ก็มีผู้ลงทะเบียนเข้าใช้มากถึง 1.55 ล้านคน ทว่าไปๆ มาๆ ระบบอินเตอร์เน็ตในยุคนั้นดูเหมือนจะเป็นอะไรที่มาก่อนกาลครับ เพราะเทคโนโลยีการเชื่อมต่อเน็ตของยุคดังกล่าวยังเป็นแบบ Dial-up ที่เวลามีใครโทรเข้ามาขณะที่เราเล่นออนไลน์อยู่ เน็ตก็จะหลุดทันที ในที่สุด ระบบ SegaNet ก็ปิดการให้บริการไปในปี 2002 โดยคนที่ยังเล่นออนไลน์กันจนถึงวันสุดท้าย ก็จะเป็นเกมที่ผู้เล่นสามารถตั้งห้องเองและให้เพื่อนๆ มาแจมกันได้ ส่วนเกมที่เปิดเซิร์ฟเวอร์กลางแล้วให้คนจำนวนมากมาเล่นรวมกันได้ทยอยปิดบริการไปในช่วงปี 2000-2001 กันหมดแล้ว

รำลึกครบรอบ 20 ปี Dreamcast เครื่องเกมคอนโซลรุ่นสุดท้ายของ Sega

  • จากข้อด้านบน ระบบ SegaNet เป็นชื่อที่ใช้เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นครับ ส่วนในทวีปอเมริกาเหนือ ทาง Sega ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Sega NetLink ในขณะที่ทวีปยุโรปก็จะใช้ชื่อว่า Dreamarena ซึ่ง Dreamarena ได้ปิดบริการหลังสุดคือประมาณปี 2003
  • จอยของ Dreamcast จะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนจอยของเครื่องอื่นๆ ที่อยู่ในเจเนอเรชั่นเดียวกันอย่าง PS2, GameCube และ Xbox ครับ กล่าวคือด้านหลังจอยจะมีช่องให้เสียบ Memory Card ที่มีความจุ 128 KB ได้ (แต่ชื่อเรียกของมันจริงๆ คือ VMU ที่ย่อมาจาก Visual Memory Unit) โดย VMU จะมีหน้าจอสี LCD ขนาดเล็กที่แสดงผลข้อมูลเสริมของเกมที่เราเล่น คล้ายกับอุปกรณ์เสริม Pocket Station ของเครื่อง PS1 นอกจากนี้ ใกล้ๆ กับช่องเสียบ VMU ก็ยังมีช่องสำหรับเสียบแพ็คสั่น ที่ทำให้จอยสามารถสั่นได้ด้วยนั่นเอง แต่ลูกเล่นทั้งหมดที่กล่าวมานี้ กลับได้รับคำวิจารณ์จากผู้เล่นและสื่อมวลชนไปในทางลบเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยรูปร่างจอยที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับมือผู้เล่น แถมยังเทอะทะเกินไป

รำลึกครบรอบ 20 ปี Dreamcast เครื่องเกมคอนโซลรุ่นสุดท้ายของ Sega

  • เกมที่ทำยอดขายสูงสุดบนเครื่อง Dreamcast คือ Sonic Adventure ที่ทำไปได้ 2.5 ล้านชุดทั่วโลก
  • น่าเสียดายที่ Dreamcast มีวงจรชีวิตอยู่ในยุคเจเนอเรชั่นที่ 6 ของตลาดเกมคอนโซลเพียง 1 ปีเศษเท่านั้น โดยตัวเครื่องได้ยุติสายการผลิตไปในวันที่ 31 มีนาคม 2001 ด้วยจำนวนยอดขายรวมทั่วโลกอยู่ที่ 9.13 ล้านเครื่อง นับแต่นั้นมา Sega ก็ถอนตัวออกจากธุรกิจผลิตเครื่องเกมคอนโซลอย่างถาวร ก่อนจะเบนเข็มไปผลิตแต่ซอฟต์แวร์เกมป้อนให้กับเครื่องเกมเจ้าอื่นๆ ในฐานะค่ายเกม 3rd Party ที่มีแฟรนไชส์ดังๆ ในมืออย่าง Sonic, The House of the Dead และ Yakuza รวมถึงซีรีส์ Persona จากสตูดิโอ Atlus ที่เป็นบริษัทลูกของ Sega ที่ยังคอยมอบความสนุกแก่เกมเมอร์จนถึงทุกวันนี้

รำลึกครบรอบ 20 ปี Dreamcast เครื่องเกมคอนโซลรุ่นสุดท้ายของ Sega

สุดท้ายนี้ แม้ว่า Dreamcast จะมีอายุสั้นและไปไม่ถึงดวงดาว แต่เกมเมอร์ที่เคยสัมผัสเจ้าเครื่องนี้มาก่อนก็ล้วนมีความทรงจำดีๆ เมื่อได้รำลึกถึงกันนะครับ

บทความนี้มีการดัดแปลงและเรียบเรียงใหม่จาก

https://kotaku.com/the-sega-dreamcast-changed-my-life-1786435067

True Super Fiber Gamer Pro Pack

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้