รู้จักกับ Chrono Trigger เกม RPG ที่ชาวญี่ปุ่นยกให้เป็นเกมดีที่สุดของยุคเฮย์เซย์

ในรอบไม่กี่เดือนมานี้ เพื่อนๆ ที่ติดตามข่าวสารของประเทศญี่ปุ่นมาบ้าง อาจจะพอทราบข่าวที่สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ปัจจุบันกำลังจะสละราชสมบัติกันนะครับ ซึ่งก็จะรวมถึงการเปลี่ยนปีรัชศกของญี่ปุ่นจากคำว่า เฮย์เซย์ ไปเป็น เรวะ ในวันที่ 1 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยของญี่ปุ่นด้วยนั่นเอง และสืบเนื่องจากวาระดังกล่าว ทางนิตยสารเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่างฟามิตซือ (Famitsu) ก็ได้เปิดโหวตกับเหล่าผู้อ่าน ด้วยหัวข้อ “เกมที่ดีที่สุดในยุคเฮย์เซย์” ปรากฏว่า Chrono Trigger ที่เป็นเกม RPG ระดับตำนานของค่าย Square Enix ซึ่งเคยวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1995 ก่อนจะถูกพอร์ตลงแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกมากมายก็คว้าตำแหน่งเกมที่ดีที่สุดแห่งยุคเฮย์เซย์นี้ไปครอง

แต่ด้วยความที่เกมนี้มีอายุถึง 24 ปีแล้ว เมื่อพูดถึงเกม Chrono Trigger เหล่าเกมเมอร์ที่อายุน้อยกว่า 30 ปีอาจจะโตไม่ทันเล่นเกมนี้กันเยอะ พอจะมาเล่นในยุคนี้ก็อาจจะคุ้นชินกับกราฟิกของเกมในยุคปัจจุบันไปแล้ว เลยอาจจะไม่อินกับกราฟิกยุค 16-Bit ของเกมนี้สักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ทีมงาน Online Station ก็ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเกม Chrono Trigger ให้เพื่อนๆ ที่เคยเล่นเกมนี้ได้รำลึกความหลังกันสักหน่อยครับ

(ล่าง) ภาพปกของเกม Chrono Trigger สมัยเครื่อง Super Famicom


การพัฒนาและความเป็นมา

– Chrono Trigger เป็นผลงานที่ร่วมกันเนรมิตโดยนักพัฒนาเกมระดับเทพของ Square หลายคน ได้แก่ คุณฮิโรโนบุ ซาคากุจิ บิดาผู้ให้กำเนิดซีรีส์ Final Fantasy (ผู้ออกแบบเกม), คุณโยชิโนริ คิตาเสะ อดีตผู้กำกับเกม Final Fantasy ภาค 6-8 (ผู้กำกับ + คนเขียนบท), คุณทาคาชิ โทคิตะ อดีตผู้กำกับเกม Parasite Eve (ผู้กำกับ + คนเขียนบท) และคุณโนบุโอะ อุเอมัตสึ อดีตนักแต่งเพลงประกอบประจำซีรีส์ Final Fantasy (นักแต่งเพลง) นอกจากนี้ก็ยังได้คุณยูจิ โฮริอิ มือเขียนบทจากซีรีส์ Dragon Quest มาร่วมเขียนบทให้กับเกม Chrono Trigger และยังได้คุณอากิระ โทริยามะ นักวาดการ์ตูนชื่อดังจากเรื่องดราก้อนบอลมาช่วยดีไซน์ตัวละครของเกมด้วย ***ในวงเล็บคือชื่อตำแหน่งตอนพัฒนาเกม Chrono Trigger***

– คงไม่ต้องบรรยายกันมากถึงสิ่งที่ Chrono Trigger ทำไว้ให้กับวงการเกมในยุคนั้นครับ ตัวเกมสามารถทำยอดขายในญี่ปุ่นได้ถึง 2 ล้านชุดหลังวางจำหน่ายไปได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น และเป็นเกมขายดีอันดับที่ 3 ของปี 1995 โดยเป็นรองเพียงแค่ Dragon Quest VI: Realms of Revelation และ Donkey Kong Country 2: Diddy’s Kong Quest จากความนิยมที่แฟนๆ มีต่อเกมนี้อย่างล้นหลาม จึงทำให้ทาง Square (หรือ Square Enix ในเวลาต่อมา) ได้จัดการพอร์ตเกมนี้ลงเครื่องต่างๆ มากมาย อาทิ PlayStation (PS1), Nintendo DS, PC และสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ ยอดขายรวมของเวอร์ชั่น Nintendo DS เองก็กวาดไปได้ 490,000 ชุดในญี่ปุ่น, 240,000 ชุดในทวีปอเมริกาเหนือ และ 60,000 ชุดในทวีปยุโรป ซึ่งถือว่าสูงมากๆ แม้ว่าเวอร์ชั่น Nintendo DS จะเว้นช่วงจากเวอร์ชั่น Super Famicom ถึง 13 ปีแล้วก็ตาม

– แม้ว่าเกมจะออกมานานถึง 21 ปีแล้ว แต่ทว่าความนิยมที่แฟนๆ เคยมีความทรงจำร่วมกันกับเกมนี้ยังคงไม่เสื่อมคลาย กระทั่งมีสาวกกลุ่มหนึ่งได้ทำตัวอย่างเกม Chrono Trigger เวอร์ชั่นแฟนเมดขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Chrono Resurrection ซึ่งรันบนเครื่อง PC พร้อมกราฟิกแบบ 3D ทั้งเกม นอกจากนี้ก็ยังมีการผุดโปรเจ็กต์ Chrono Trigger Remake ที่ทำขึ้นโดยแฟนๆ ด้วย แต่สุดท้ายโครงการที่ว่านี้ก็มีอันต้องยกเลิกไปตั้งแต่ยังไม่ทันเป็นรูปเป็นร่าง เนื่องจากทาง Square Enix ได้ออกมาปรามแฟนๆ กลุ่มดังกล่าวให้หยุดทำ เพราะผิดกฎหมายเรื่องสิทธิ์ในตัวเกมที่ทาง Square Enix ถือครองอยู่นั่นเอง

– ตัวเกมเวอร์ชั่นที่ลงเครื่อง PS1 ได้ถูกพอร์ตโดยทีม Tose และวางจำหน่ายในปี 1999 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ Chrono Cross จะออกสู่ตลาดไม่นานนัก โดย Chrono Cross เป็นภาคต่อของ Chrono Trigger ที่มีเนื้อเรื่องต่อจากกัน ทั้งนี้ สิ่งที่เพิ่มมาในเวอร์ชั่น PS1 ของ Chrono Trigger ก็คือคัทซีนเป็นการ์ตูนอนิเมชั่นที่วาดโดยทีมงาน Bird Studio ของคุณโทริยาม่า อากิระ และทำเป็นภาพเคลื่อนไหวโดยบริษัท Toei Animation พร้อมทั้งเพิ่มฉากจบในตอนท้ายที่มีความเชื่อมโยงกับเนื้อเรื่องของ Chrono Cross ด้วย ขณะเดียวกัน สำหรับเวอร์ชั่นที่พอร์ตลง Nintendo DS (วางจำหน่ายในปี 2551) ก็ได้เพิ่มเติมฟีเจอร์ใหม่ๆ เพิ่มจากเวอร์ชั่น PS1 มาอีกหลายอย่าง อาทิ ปรับปรุงการแปลภาษาในเกมให้ถูกต้องและแม่นยำกว่าเดิม, การใช้ลูกเล่นสองหน้าจอของเครื่อง Nintendo DS โดยจอด้านบนจะเป็นเมนูต่างๆ และจอด้านล่างจะใช้เล่นปกติ นอกจากนี้ยังเพิ่มในส่วนของอารีน่าที่ให้ผู้เล่นสามารถสร้างมอนสเตอร์ไว้ต่อสู้ในลานประลองได้ รวมทั้งเพิ่มดันเจี้ยนใหม่อีกสองแห่ง ได้แก่ The Lost Sanctum และ The Dimensional Vortex ด้วย


พล็อตเรื่องและเกมเพลย์

– เนื้อเรื่องช่วงแรกของ Chrono Trigger จะกล่าวถึง โครโน่ (Crono) ชายหนุ่มในยุคปัจจุบันที่บังเอิญได้พบ มาร์ล (Marle) สาวลึกลับในงานรื่นเริงที่จัดขึ้นใกล้กับหมู่บ้านของตนเอง ทั้งคู่ได้มีโอกาสไปชมการทดลองสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ของ ลุคก้า (Lucca) เพื่อนสาวของโครโน่ ซึ่งเป็นเครื่องย้ายมวลสาร ทว่ากลับเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อมาร์ลอยากจะลองใช้เครื่องดังกล่าวดูบ้าง แต่ระหว่างที่เครื่องกำลังจะย้ายมาร์ลจากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่ง สร้อยคอของเธอได้ทำปฏิกิริยากับเครื่องย้ายมวลสาร จึงเกิดประตูกาลเวลาขึ้น ทำให้มาร์ลถูกดูดไปอยู่ในยุคอดีตเมื่อ 400 ปีก่อน โครโน่เลยอาสาไปช่วยมาร์ลกลับมา และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการผจญภัยท่องเวลาของโครโน่ พร้อมทั้งร่วมมือกับมิตรสหายจากต่างยุคสมัยเพื่อช่วยกันเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของโลกที่พวกเขาอยู่

– ทางด้านเกมเพลย์ จะเป็นแนว Active Time Battle คล้ายกับ Final Fantasy ภาค 5-9 แต่จะมีบางอย่างที่ปลีกย่อยออกไป คือ การผสมผสานท่าไม้ตายที่ใช้ร่วมกันตั้งแต่ 2-3 คน ตลอดจนการกำหนดตัวละครให้มีความเก่งกาจเฉพาะทาง เช่น โครโน่จะใช้เวทตระกูลสายฟ้า, มาร์ลใช้เวทย์สายน้ำแข็ง, ลุคก้าใช้เวทไฟ เป็นต้น พร้อมกันนี้ การเจอศัตรูจะไม่เป็นแบบสุ่มเจอเหมือนเกม Final Fantasy ในยุคนั้น แต่จะได้เห็นศัตรูวิ่งอยู่ตามฉากเลย และเมื่อวิ่งไปชนศัตรู การต่อสู้ก็จะเริ่มกัน ณ จุดนั้น ไม่มีตัดเข้าฉากต่อสู้ ทำให้เกิดความฉับไวและดูต่อเนื่องกว่ามาก และการท่องเวลาในเกมก็เป็นอีกฟีเจอร์หนึ่งที่ผู้เล่นจะต้องเดินทางไปมาระหว่างยุคสมัยอยู่ตลอด ซึ่งสามารถเข้าได้ตามประตูเวลาที่ปรากฏอยู่เฉพาะที่ของแต่ละยุค (หลังๆ จะมีไทม์แมชชีนที่ช่วยให้เดินทางข้ามเวลาได้ง่ายขึ้น และใช้เป็นยานพาหนะบินข้ามเกาะได้อีกด้วย)


ความลับต่างๆ ในเกม

– ชื่อตัวละคร ออซซี่ (Ozzie), สแลช (Slash) และ เฟลีย (Flea) ที่เป็นลูกน้องทั้งสามของราชาปีศาจ (Magus) มีที่มาจากการตั้งชื่อตามนักดนตรีชื่อดังของโลกครับ ได้แก่ ออซซี่ ออสบอร์น (Ozzie Osbourne) อดีตนักร้องนำของวง Black Sabbath ส่วน สแลช ก็เป็นมือกีตาร์ของวง Guns n’ Roses ในขณะที่เฟลียก็คือมือเบสของวง Red Hot Chili Peppers นั่นเองครับ

– ขณะเดียวกัน Ozzie, Slash และ Flea ก็มีอีกชื่อที่ใช้ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่นอยู่ด้วย นั่นก็คือ บีเนเกอร์ (แผลงมาจาก Vinegar ที่แปลว่าน้ำส้มสายชู), ซอยโซ (แผลงมาจาก Soy Soyce ที่หมายถึงซอสถั่วเหลืองหรือโชยุ) และ มาโยเน่ (แผลงมาจาก Mayonnaise ที่แปลว่ามายองเนส)

– ชื่อของ ไอล่า (Ayla) หนึ่งในเพื่อนของโครโน่ ผู้มาจากยุคดึกดำบรรพ์ (65 ล้านปีก่อน) ก็อ้างอิงมาจากบทประพันธ์ของ Jean M. Auel ที่เล่าถึงหญิงคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งหญิงคนนั้นก็ชื่อ Ayla ด้วยเช่นกัน

– นักปราชญ์ในเกมทั้งสาม ได้แก่ Melchior, Gaspar และ Belthasar ต่างก็เป็นการนำชื่อมาจากชาย 3 คนผู้เข้าเฝ้าพระเยซูในวันประสูติกาลครับ

– ยุค A.D. 1999 ที่มีชื่อว่า The Day of Lavos ที่เราสามารถเข้าไปสู้กับลาวอสได้ทันทีและเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นการเล่นมุกจากการนำคำทำนายของนอสตราดามุสที่เคยพยากรณ์ไว้ว่าวันสิ้นโลกคือเดือนกรกฎาคม 1999 นั่นเอง

– เกม Chrono Trigger จะมีฉากจบทั้งหมด 13 แบบ โดยมีเงื่อนไขในการจบตามนี้

1. Beyond Time – กำจัดลาวอสหลังจากดำเนินเนื้อเรื่องทุกอย่างมาจนครบหมดแล้ว
2. Reunion – กำจัดลาวอสโดยที่ยังไม่ได้ชุบชีวิตโครโน่
3. The Dream Project – กำจัดลาวอสหลังจากบุกขึ้นไปบนยาน Black Omen จนสุดทาง หรือกำจัดลาวอสหลังจากได้มาร์ลมาเป็นพวก (เฉพาะ New Game+ เท่านั้น)
4. The Successor of Guardia – กำจัดลาวอสหลังจากกลับมาจากยุค A.D. 600 หมาดๆ (ที่เราย้อนเวลาไปช่วยองค์หญิงในโบสถ์ใกล้กับปราสาทการ์เดีย // เฉพาะ New Game+ เท่านั้น)
5. Good Night – กำจัดลาวอสหลังจากเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดของกาลเวลาเป็นครั้งแรก
6. Legendary Hero – กำจัดลาวอสหลังจากทราบเรื่องในยุค A.D. 600 เกี่ยวกับฮีโร่ชื่อ Tata (แต่ยังไม่ได้ไอเทม Hero Medal จาก Tata มา)
7. The Unknown Past – กำจัดลาวอสหลังจากได้ไอเทม Hero Medal มาแล้ว แต่ยังไม่ได้เอาดาบ Masamune ไปซ่อม
8. People of the Times – กำจัดลาวอสหลังจากเราได้กุญแจเปิดประตูเวลาคืนมาจากอาซาล่าในยุค 65 ล้านปีก่อน
9. The Oath – กำจัดลาวอสหลังจากซ่อมดาบ Masamune แล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าคัทซีนที่อัศวินกบเอาไปใช้เปิดประตูถ้ำที่เชื่อมไปยังปราสาทจอมมาร
10. Dino Age – กำจัดลาวอสหลังจากปราบจอมมาร แต่ยังไม่ได้ไปปราบอาซาล่ากับแบล็คไทแรนโนซอรัส
11. What the Prophet Seeks – กำจัดลาวอสหลังจากปราบอาซาล่ากับแบล็คไทแรนโนซอรัสแล้ว

12. A Slide Show – กำจัดลาวอสหลังจากเห็นชาล่าใช้สร้อยคอเปิดประตู แต่เรายังไม่ได้เอาสร้อยคอของมาร์ลไปเสริมพลัง
13. Day of Lavos – เข้าไปสู้กับลาวอสแล้วแพ้

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้