รีวิว God Eater 3 – ศึกฝืนชะตา ท้าลิขิตเทพเจ้า


แพลตฟอร์ม: PS4, PC
ผู้พัฒนา: Marvelous First Studio
ผู้จัดจำหน่าย: Bandai Namco Entertainment
ระยะเวลาที่ใช้ในการเล่นจนจบเกม: ประมาณ 40 ชั่วโมง
ระยะเวลาที่ใช้ในการเล่นเพื่อเก็บทุกรายละเอียด: ประมาณ 60 ชั่วโมงขึ้นไป

***ทีมงาน OS ต้องขอขอบคุณทาง Bandai Namco Entertainment ที่เอื้อเฟื้อโค้ดเกม God Eater 3 เพื่อใช้ในการรีวิวมา ณ ที่นี้ด้วยครับ***

God Eater นั้นเป็นซีรีส์เกมแอ็กชั่นแนวล่ามอนสเตอร์ของทาง Bandai Namco ที่วางจำหน่ายภาคแรกเมื่อปี 2010 ให้กับเครื่อง PSP ต่อมาก็ได้ออก God Eater 2 ทั้งบนเครื่อง PSP และ PS Vita ในปี 2013 ซึ่งแม้จะมีภาคเสริมและภาครีเมคออกมาเรื่อยๆ รวมทั้งเกมบนมือถือและอนิเมะกับคอมิกมากมาย แต่เนื้อหาหลักก็ถูกหยุดอยู่ที่ภาค 2 เป็นเวลานาน กระทั่งในที่สุด God Eater 3 ก็ออกวางจำหน่ายให้กับเครื่องคอนโซลและก็มีการยกเครื่องปรับปรุงระบบมากมายรวมถึงระบบการเล่นออนไลน์มัลติเพลเยอร์ที่ดีกว่าเดิมด้วย


เนื้อเรื่อง
ซีรีส์ God Eater จะกล่าวถึงโลกในอนาคตที่มนุษย์ถูกรุกรานจากสิ่งมีชีวิตลึกลับที่เรียกว่า “Aragami” (อารากามิ) ซึ่งเชื่อกันว่าถูกส่งมาจากพระเจ้าที่ทอดทิ้งมนุษย์และต้องการจะกำจัดมนุษย์ไปจากโลก ทว่ามนุษย์ก็มิได้ยอมรับชะตากรรมนั้น กลับกัน พวกเขาได้สร้างเหล่านักรบที่ต่อต้านพระเจ้าขึ้นมาและขนานนามให้ว่า God Eater โดยแต่ละคนจะมี God Arc เป็นอาวุธประจำตัวที่สามารถทำลายอารากามิได้ โดยฐานกำลังหลักในการต่อต้านอารากามินั้นมีชื่อว่า “Fenrir” (เฟนเรีย) ซึ่งตั้งอยู่ในฟินแลนด์ และนั่นคือเรื่องราวคร่าวๆ ของ 2 ภาคแรก

ส่วนภาค 3 นี้เรื่องราวจะเป็นเหตุการณ์ 6 ปีให้หลังจากภาค 2 โดยเกิดภัยพิบัติใหม่ที่เรียกว่า Ashlands ขึ้นเป็นเขตแดนมลพิษที่ถ้ามนุษย์เข้าไปแล้วจะสลายกลายเป็นเถ้า รวมทั้งเกิดอารากามิรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Ash Aragami ซึ่ง Ashlands ที่ขยายตัวขึ้นนี้เอง ทำให้เฟนเรียต้องสลายตัวลง เหล่ามนุษยชาติต้องลี้ภัยแยกย้ายไปอาศัยอยู่ในสถานที่แห่งใหม่ซึ่งถูกเรียกว่า Port แล้วก็มีการพัฒนานักรบรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า AGE ซึ่งสามารถมีชีวิตและต่อสู้ในเขต Ashlands ได้ แต่ทว่าพวกเขากลับถูกปฎิบัติราวกับทาสที่ถูกส่งให้ไปต่อสู้และรอวันตายเท่านั้น โดยในกลุ่มของ AGE นี้ก็มีเด็กหนุ่มนามว่า Hugo ที่พยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดเพื่อคืนความสุขให้กับเหล่าเด็กๆ ที่เขาต้องปกป้องนั่นเอง

ภาพรวมของพล็อตภาค 3 จะเหมือนกับภาคก่อนๆ คือตัวเอกจะเป็นตัวละครที่เราสร้างเองและรับบทเป็นคู่หูของ Hugo ซึ่งเราสามารถเลือกเพศ หน้าตา สีผม และเสียงได้ โดยที่เริ่มเกมมาปุ๊บก็จะได้รับมิชชั่นเลย ในขณะที่ช่วงแรกๆ ของเกมจะเหมือนการฝึกตามสไตล์ดั้งเดิมของซีรีส์ คือตามพื้นฐานแล้วตัวละครจะใช้ God Arc เป็นอาวุธประจำตัวที่เปลี่ยนรูปแบบอาวุธประชิดและอาวุธยิงสลับกันไปมาได้ตลอด ขณะที่การต่อสู้ระยะประชิดจะมีท่าโจมตีคอมโบ ท่ายกโล่การ์ดและการกลืนกินที่จะโจมตีศัตรูเพื่อเข้าสู่ Burst Mode ที่เป็นโหมดเสริมพลังชั่วคราวได้ ส่วนรูปแบบอาวุธประเภทยิงนั้นจะต่อสู้ด้วยระยะไกลที่ปลอดภัยกว่าและเล็งจุดอ่อนได้ง่ายกว่า แต่จะต้องใช้ค่าพลัง OP ในการยิง ซึ่งถ้าหมดก็ต้องกลับไปสะสมด้วยอาวุธประชิด จึงไม่สามารถโจมตีระยะไกลเพื่อความปลอดภัยได้ตลอดนั่นเอง ทั้งนี้ อาวุธโจมตีไม่ว่าจะเป็นอาวุธประชิดหรือปืนต่างๆ ก็จะมีคุณสมบัติของธาตุที่มีระบบแพ้-ชนะทางกับเหล่าอารากามิ ได้แก่ ไฟ น้ำแข็ง สายฟ้า แสง และความมืด ดังนั้นผู้เล่นจึงต้องทำอาวุธเตรียมไว้หลากหลาย เพื่อแยกใช้ตามสถานการณ์

เกมเพลย์
ทางด้านระบบต่อสู้ของภาคนี้จะมีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมามากมาย โดยจะขอพูดถึงการต่อสู้ประชิดก่อน ซึ่งเกมนี้แต่ก่อนแล้วจะมีอาวุธประชิดอยู่ 7 แบบและก็มีเพิ่มเข้ามาในภาคนี้อีก 2 แบบ ก็คือ ดาบคู่ที่สามารถนำมาต่อกันเป็นหอกสองปลายที่โจมตีเร็วและแรงกว่าแต่จะเสียค่า Stamina และอีกชิ้นคือดาบวงพระจันทร์ที่มีระยะกว้างและมีท่าชาร์จโจมตีแบบเลื่อยไฟฟ้าที่รุนแรง ซึ่งอาวุธแต่ละชนิดก็จะมีข้อดีข้อเสีย อีกทั้งท่วงท่าโจมตีก็มีความแตกต่างกันอยู่แล้วเหมือนเกมแนวล่ามอนสเตอร์อื่นๆ

ขณะเดียวกัน จุดเด่นของ God Eater อย่างระบบ Burst Mode นั้น ในภาคนี้จะสามารถปรับแต่งได้หลากหลายกว่าเดิม และในระหว่าง Burst เราก็จะใช้งานท่าไม้ตายที่เรียกว่า Burst Art ได้ ซึ่งตัวละครจะสามารถติดตั้ง Burst Art พร้อมกันได้ 3 แบบด้วยกันคือ แบบใช้ปกติ แบบใช้กลางอากาศ และแบบใช้ตอนแดช โดย Burst Art จะถูกใช้แทนที่ท่าปกติที่เราเลือกเสมอเมื่ออยู่ใน Burst Mode และท่าโจมตีทุกท่าของอาวุธทุกชนิดก็จะมี Burst Art เช่นกัน เช่นอาวุธดาบใหญ่ที่ปกติจะมีท่ากดชาร์จง้างดาบ ก็จะมีท่า Burst Art กดชาร์จง้างดาบที่พิเศษกว่ามาให้เลือก และการจะได้ท่าใหม่ๆ ก็ต้องใช้ท่าที่เรามีบ่อยๆ จนเลเวลขึ้นแล้วก็จะได้ท่าใหม่มาด้วย ไม่เพียงแค่นั้น ตัวเกมยังมีระบบ Burst Art Effect ที่ให้เราเลือกเอฟเฟ็กต์เสริมตอนออกท่า Art หลายสิบแบบด้วย เช่นจะตอนใช้ท่ามีลูกไฟยิงไปข้างหน้า มีพายุขึ้นที่จุดกระทบ หรือมีเสาไฟพุ่งขึ้นจากพื้น ฯลฯ การเลือกท่า Art กับเอฟเฟ็กต์ที่แตกต่างกันจะมีผลอย่างมากในตอนใช้งานจริง และการลองผสมท่าต่างๆ แบบกันจนได้ท่าที่เหมาะกับตัวผู้เล่นเองก็เป็นเสน่ห์ของภาคนี้ด้วย

อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นแล้วว่า God Arc สามารถเปลี่ยนรูปร่างอาวุธประชิดและอาวุธยิงได้ตลอด นอกจากจะใช้ยิงโจมตีจากระยะที่ปลอดภัยแล้วแล้วก็มีการใช้กระสุนพื้นพลังเสริมพลังเพื่อช่วยเหลือเพื่อนด้วย ซึ่งอาวุธยิงนั้นจะมีปืนอยู่ 4 แบบคือ Assault ที่เป็นปืนกลใช้งานง่าย ยิงได้นาน ถัดมาคือ Sniper เป็นปืนที่เล็งได้และมีระบบพรางตัว ในขณะที่ Shotgun จะเน้นยิงระยะประชิด พลังทำลายสูง และสุดท้ายคือ Raygun เป็นปืนใหม่ของภาคนี้ที่จะยิงลำแสงใส่เป้าหมายอย่างต่อเนื่องจนกว่า OP จะหมด และยิ่งยิงนานก็จะยิ่งแรงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกจากปืนแล้ว กระสุนก็ยังเป็นลูกเล่นเด็ดของเกมนี้ด้วย เพราะเราสามารถสร้างกระสุนเองได้ให้มีคุณสมบัติพิเศษ เช่นให้ยิงไล่ตาม หรือยิงกระทบเป้าหมายแล้วระเบิด การสร้างสามารถตั้งได้เป็นสเต็ปแบบละเอียดมาก ตัวอย่างเช่น เราสามารถทำกระสุนที่ยิงออกไปเป็นลูกบอลลอยหันตามศัตรูแล้วค่อยมียิงกระสุนยิงออกจากลูกบอลทุก 2 วินาทีก็ได้ แต่การสร้างนั้น ถ้สยิ่งซับซ้อนก็ยิ่งมีคอสสูงทำให้พกพาได้น้อยลงเช่นกัน

สำหรับโหมดเนื้อเรื่องที่เล่นได้คนเดียวนั้นจะมี NPC มิตรสหายอย่าง Hugo เป็น AI คอยช่วย ซึ่งต่างจากตัวผู้เล่นที่จะมีสกิลติดอยู่กับอาวุธและของสวมใส่ แต่ NPC จะมีแต้มที่ได้จากการใช้งานพวกเขาบ่อยๆ แล้วเราจะใช้เลือกเรียนรู้สกิลต่างๆ ได้ ซึ่งผู้เล่นสามารถเลือกติดตั้งสกิลให้ NPC ได้อย่างอิสระครับ

บอสที่เป็น Ash Aragami ที่เป็นศัตรูใหม่ของภาคนี้จะมีความสามารถในการกลืนกินและเข้าสู่ Burst Mode คล้ายกับฝ่ายผู้เล่นด้วย โดยการใช้นั้นพวกมันจะโจมตีเราด้วยท่าพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งถ้าโดนแล้ว ผู้เล่นจะอยู่ในสภาพสูญเสียพลัง รวมทั้งไม่สามารถ Burst Link กับเพื่อนได้ และถ้าถูกอัดจน KO ในช่วงนี้ก็จะไม่สามารถชุบชีวิตได้ด้วย ทำให้ต้องเลือก Respawn เท่านั้น ในทางกลับกัน Ash Aragami จะมีพลังเพิ่มสูงมากชั่วขณะนึง บางตัวก็จะแปลงร่างหรือใช้ท่าพิเศษที่รุนแรงมากๆ ได้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว ผู้เล่นจะต้องคอยฟังโอเปอเรเตอร์เตือนดีๆ ว่าศัตรูกำลังจะใช้ท่ากลืนกินแล้ว ให้รีบถอยหนีออกมา แต่ศัตรูบางตัวก็จะมีดีบัฟแจมมิ่งทำให้เรารับคลื่นสัญญาณเตือนได้ล่าช้าด้วย ซึ่งก็ต้องใช้ไอเท็มแก้เป็นกรณีไป ตรงนี้ก็ถือเป็นลูกเล่นของเกมที่น่าสนใจเลยทีเดียว

กราฟิก / การนำเสนอ
ด้วยความที่ God Eater 3 เป็นภาคแรกที่ทำขึ้นมาให้กับเครื่องคอนโซลหรือพีซี ดังนั้นคนที่เคยเล่นภาคเก่าๆ บนเครื่องเกมพกพาอาจรู้สึกว่ากราฟิกสวยงามขึ้นแบบก้าวกระโดดมาก ทว่าจริงๆ แล้วที่ทำละเอียดก็มีแต่รายละเอียดของตัวละครและศัตรูเท่านั้น ส่วนรายละเอียดของฉากถ้าอยู่ในมุมมองแบบซูมจะเห็นได้ว่ายังทำได้ไม่ดีนัก ขณะที่ด้านการเล่าเรื่องราวนั้นใช้ CG มูวี่สลับกับอนิเมชั่นตามสไตล์เกมญี่ปุ่นได้ดีอยู่


จุดเด่น
    – ระบบการติดตั้งท่า Art กับ Effect รวมทั้งการสร้างกระสุนทำให้ผู้เล่นทำตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
    – AI ฝ่ายเราค่อนข้างเก่งและฉลาด ไม่ว่าจะตัวละครในโหมดเนื้อเรื่องหรือโหมดมัลติเพลเยอร์
    – โหมดออนไลน์มีความกระชับรวดเร็ว หาคนร่วมทีมได้ง่าย หรือถ้าไม่ครบก็ยังมี AI ฉลาดๆ มาช่วยแทน

จุดด้อย
    – ศัตรูโดยรวมๆ แล้วยังไม่กี่รูปแบบ เป็นตัวซ้ำที่หน้าตาเดิมแต่เปลี่ยนธาตุไปเท่านั้น
    – ในแง่ของกราฟิกแล้ว รายละเอียดของฉากยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
    – ขั้นตอนการเก็บวัตถุดิบมาอัพเกรดหรือสร้างอาวุธทำได้ลำบาก เพราะรายละเอียดวัตถุดิบ ศัตรูที่ดรอป และตัวด่านไม่ค่อยเชื่อมโยงกัน

สรุป
God Eater 3 เป็นเกมแนวล่ามอนสเตอร์ที่มีแอ็กชั่นหวือหวากว่าเกมอื่นๆ แต่ผู้เล่นก็ยังคงต้องอาศัยความชำนาญในการควบคุมและความเข้าใจระบบระดับนึงจึงจะสามารถปราบศัตรูได้ ความยากของเกมจัดว่าอยู่ระดับกลางๆ ข้อดีหลักๆ คือแม้ว่าจะเล่นคนเดียวก็ยังสามารถจบโหมดเนื้อเรื่องได้จากการช่วยเหลือของ NPC ที่ค่อนข้างฉลาด ส่วนโหมดมัลติเพลเยอร์ก็เป็นเกมสั้นกระชับฉับไว ไม่จำเป็นต้องนัดกัน ไม่ต้องรอทีมเฉพาะอะไรให้วุ่นวายเลย

คะแนน 7.5 / 10

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้