OnLive บนกลุ่มเมฆมีอนาคตอันสดใสรอเราอยู่

หากคุณกำลังประสบปัญหาที่ทุกวันนี้เกมแต่ละเกมต่างก็ใช้เทคโนโลยีระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ อยากเล่นเกมใหม่ล่าสุดที่กราฟิกอลังการ เปิดกราฟิกระดับสูงสุด ความละเอียดระดับ Hi-Def แต่ฮาร์ดแวร์ที่มีอยู่ก็ไม่เอื้ออำนวย จะซื้อฮาร์ดแวร์ใหม่ก็เกรงใจกระเป๋า เราขอแนะนำ OnLive เทคโนโลยีที่จะทำให้คุณไม่ต้องคอยไล่ซื้ออุปกรณ์ระดับเทพไปตลอดกาล

เซิร์ฟเวอร์… ขั้นเทพ

ในงาน Game Developer Conference 2009 บริษัทซิลิคอนกราฟิก (Silicon Graphics) มีการจัดแสดงนวัตกรรมที่ได้วิจัยมาในชื่อ OnLive ซึ่งเป็นการเล่นเกมด้วยระบบ Stream Video

Stream Video ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ มันคือระบบที่ใช้สำหรับการดูวิดีโอหรือฟังเพลงจากอินเตอร์เน็ต อย่างบริการของเว็บ YouTube ที่ทำให้เราสามารถดูหนัง ดูการ์ตูน ดูคลิปวิดีโอที่มีคนถ่ายกันเอง หรือจะเป็นการดูเทรลเลอร์หนัง เดโมเกม ตามเว็บ Official ของหนังหรือเกมนั้นๆ ต่างก็ใช้ระบบ Stream Video ทั้งนั้น แต่ OnLive เป็นการปฏิวัติระบบการเล่นเกมโดยสิ้นเชิง มันเป็นการยกเอาโปรแกรมเกมทั้งหมดไปไว้บน “Cloud Server” ของซิลิคอนกราฟิก และมีโปรแกรมเชื่อมต่อที่จะรับข้อมูลจากเมาส์และคีย์บอร์ดส่งไปที่เซิร์ฟเวอร์ และส่งแค่ Stream Video กลับมา นั่นหมายความว่า แค่เปิดอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วระดับที่สามารถดู Stream Video ได้ก็สามารถจะเล่นเกมที่ใช้กราฟิกระดับเทพได้ทันที (ในงาน Conference มีการเผยข้อมูลว่า ด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็ว 1.5 Mb/s สามารถเล่นเกมด้วยความละเอียดภาพระดับเกม Wii ได้ และสามารถเล่นเกม Hi-Def ได้ด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็ว 5 Mb/s ขึ้นไป โดยไม่ต้องกังวลกับระดับความเทพของกราฟิก)

การ์ดจอหรือ? ไม่จำเป็นอีกต่อไป

การที่ OnLive ยกเอาเกมทั้งหมดไปไว้บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง นั่นหมายถึงผู้เล่นไม่มีความจำเป็นต้องซื้อเกมมาไว้ที่บ้านของตัวเอง ไม่แม้แต่จะต้องสั่งดาวน์โหลด เพราะไม่ว่าจะเป็นไฟล์ภาพ เสียง คอนเทนต์ สคริปต์ ทุกอย่างจะอยู่บน OnLive Server เฉพาะภาพและเสียงจะถูกส่งมายังเครื่องของผู้เล่น

วิธีการนี้ทำลายปัญหาร้อยแปดประการของการเล่นเกมได้ ตั้งแต่การที่เครื่องมีสเป็กไม่พอหรือมีสเป็กฉิวเฉียด ทำให้เกมกระตุก เกมหน่วง เฟรมเรตตก และอื่นๆ เพราะเพียงเปิดวิดีโอได้ และมีอินเตอร์เน็ตที่เสถียรพอ การประมวลผลทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ ไม่ว่าสิ่งที่ทำให้เครื่องกระตุกจะเป็นกราฟิก ฟิสิกส์ หรือระบบเกม ก็จะตัดไปได้ด้วยประสิทธิภาพของ OnLive Server นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพีซีที่ใช้ Windows หรือ Linux หรือว่าจะเป็นเครื่อง Mac ก็ไม่เคยมีปัญหากับการเปิดวิดีโอออนไลน์ นั่นคือ OnLive สามารถแก้ปัญหาการเล่นเกมหลาย OS ได้โดยสิ้นเชิง และด้วยว่าตัวเกมอยู่บน OnLive Server การอัพเดตเกม ลงแพตช์ ภาคเสริม หรือแม้แต่การลงคอนเทนต์ใหม่ๆ และการแก้บั๊ก ก็ไม่ต้องให้คนเล่นยุ่งยากไปโหลดหรือไปซื้อหามาอีก เพราะผู้พัฒนาก็ไปจัดการเรื่องเหล่านี้ที่เซิร์ฟเวอร์ และผู้เล่นไม่ต้องทำอะไรเลยก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทันทีที่เปิดเกมเล่นใหม่

You’ll Never OnLive Alone

เนื่องด้วยว่า OnLive เป็นระบบที่จำเป็นจะต้องออนไลน์ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทำให้ OnLive ซัพพอร์ตระบบการเล่นมัลติเพลเยอร์และออนไลน์เหมือนระบบ Game Network ในปัจจุบัน และเพราะ OnLive เป็นการใช้เซิร์ฟเวอร์ระดับเทพในการประมวลผลทุกอย่าง OnLive จึงสามารถทำได้มากกว่านั้น เพราะการคำนวณทุกอย่างทั้งกราฟิก ฟิสิกส์ เอฟเฟ็กต์ หรือ AI สามารถใช้การใช้ระดมพลังประมวลผลของ Cloud Server มาทำงานบนฉากเดียวกันได้ เราอาจจะได้เล่นเกมออนไลน์แบบ Real-Time Action ซึ่งสามารถคำนวณฟิสิกส์ได้สมจริง และไม่เกิดการแล็กในการประมวลผลเกม (เช่น การกระโดดไปมาของตัวละครในเกมออนไลน์ในจังหวะที่อินเตอร์เน็ตมีปัญหา)

และเพราะเกมทุกเกมถูกลงไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของ OnLive ที่เชื่อมต่อถึงกัน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีเกมหรือ Mod ของเกม ไปดึงคอนเทนต์จากเกมอื่นๆ มาใช้ได้ เช่น อาจจะมีเกม (หรือ Mod) ที่เอา Riddick มาวิ่งอยู่ในฉากของ F.E.A.R. 2 หรืออาจจะมีการนำ 3D Avatar ที่ผู้เล่นสร้างขึ้นเองมาใช้เป็นตัวละครในเกมหลายๆ เกมได้ด้วยเทคโนโลยีของ OnLive ทำให้เกมสามารถใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น ศักยภาพของเกมออนไลน์ก็จะมีมากขึ้น และเพราะเกมที่เล่นบน OnLive จะส่งข้อมูลเฉพาะภาพและเสียงมายังผู้เล่น ไม่ใช่ข้อมูลตำแหน่งและสคริปต์เหมือนเกมออนไลน์ในปกติ การเปิดบอทและการใช้โปรแกรมช่วยเล่นจึงเป็นไปได้ยากกว่าเดิมหลายเท่า ปัญหาที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมภายในเกมออนไลน์จะเสียไปด้วยการโกงเหล่านี้จึงสามารถลดลงได้

OnLive ทำได้ทุกอย่าง

สิ่งที่ OnLive จะทำได้ ไม่ได้ครอบคลุมอยู่แค่เกมเท่านั้น มีผู้วิเคราะห์ว่าโปรแกรม 3D Social Network อย่าง Second Life จะพัฒนาลง OnLive และต่อไปอาจจะมีการพัฒนาโปรแกรมสำหรับ OnLive ที่ให้บริการออนไลน์แบบเว็บไซต์ในปัจจุบัน แต่มีการใช้งานคล้ายกับเล่นเกม เช่น โปรแกรมสร้างโมเดลเหมือนตัวจริงจากรูปของเรา ที่จะเอาไปใช้กับโปรแกรมลองชุดที่มีชุดจากทั่วโลก หรือ Google Earth ที่สามารถลงไปเดินดูโมเดลจำลองของสถานที่ท่องเที่ยวได้ทุกมุมโลก ยิ่งอินเตอร์เน็ตพัฒนาจนรวดเร็วและแพร่หลายมากเท่าไหร่ พลังของ OnLive ก็จะยิ่งมากขึ้น

OnLive: Team Fortress

แน่นอนว่าหาก OnLive กลายเป็นที่นิยม ก็จะทำให้ผู้บริโภคต่างก็ซื้อการ์ดจอรุ่นที่เกือบตกรุ่นมาใส่เครื่องเพื่อทำงาน หรือซื้อใหม่เฉพาะเวลาที่เสียเท่านั้น ไม่มีการลงทุนซื้อการ์ดจอระดับท็อปเพื่อเล่นเกมดังๆ อีกต่อไป แต่ก็ไม่ใช่ว่า OnLive จะทำให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เจ๊งไปตามๆ กัน
NVIDIA ประกาศสนับสนุน OnLive อย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุผลที่ว่าเครื่องเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดของ OnLive ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการ์ดจอในการเรนเดอร์ภาพเป็น Stream Video ซึ่ง NVIDIA เห็นโอกาสทางธุรกิจว่า จากนี้ไปสามารถเน้นไปที่การพัฒนาการ์ดจอประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อทำ OnLive เป็นหลักได้เลย ไม่จำเป็นต้องห่วงตลาดผู้บริโภคทั่วไปมากเหมือนในปัจจุบัน OnLive ยังสามารถแก้ปัญหาแผ่นผี การบิทเกม การแคร็กเกมได้อย่างสมบูรณ์ เพราะตัวเกมจริงๆ จะอยู่บน OnLive Server เท่านั้น ไม่มีการส่งข้อมูลใดๆ ของเกมมาที่เครื่องของผู้ใช้แม้แต่อย่างเดียว ทำให้แพลตฟอร์ม OnLive สร้างแรงดึงดูดต่อผู้พัฒนาเกมอย่างมาก

ขณะนี้มีผู้สนับสนุน OnLive อย่างเป็นทางการนอกจาก NVIDIA แล้ว ได้แก่ Electronic Arts, Ubisoft, Take-Two, Epic Games, Atari, CodeMasters, THQ, Warner Bros., 2D Boy และ Eidos Interactive ซึ่งผู้ผลิตเกมเหล่านี้ต่างก็เตรียมเกมสำหรับลงใน OnLive เรียบร้อยแล้ว (เช่น Mirror’s Edge, BioShock, Unreal Tournament 3, World of Goo และอื่นๆ)

Silicon Graphics คือจุดจบของคอนโซล?

OnLive ยังมีการออกเครื่อง MicroConsole ที่ทำให้เล่น OnLive บนทีวีได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า OnLive เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานเหมือนเครื่องคอนโซลได้ด้วย และด้วยระบบของ OnLive ที่เป็นการขายเกมให้กับสมาชิก มีความแน่นอนสูงว่าเกมจะขายได้เท่าจำนวน Account ที่มีการเล่นเกม เซิร์ฟเวอร์ OnLive ก็เปิดเซิร์ฟเวอร์เถื่อนได้ยาก

ด้วยหลายเหตุผลที่กล่าวมา แพลตฟอร์ม OnLive จึงมีข้อดีเหมือนเครื่องคอนโซลอยู่หลายอย่าง ทำให้มีความเป็นไปได้มากที่ผู้พัฒนาเกมที่เน้นลงคอนโซลโดยเฉพาะ จะหันมาพัฒนาเกมลง OnLive มากขึ้น มีหลายกระแสออกมาให้ความคิดเห็นว่า OnLive อาจจะทำให้คอนโซลในปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้มีคำวิจารณ์ตอบโต้ออกมาจากโซนี่ว่า ระบบของ OnLive ยังมีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้เทียบกับคอนโซลจริงๆ ไม่ได้ มีการโจมตีจุดอ่อนที่ OnLive ต้องใช้อินเตอร์เน็ตตลอดเวลา ซ้ำด้วยการบรรยายสรรพคุณของ PS3 เป็นการเกทับ ล้วนเป็นการสะท้อนถึงการประเมินค่าคู่แข่งรายนี้ไว้สูง (ในช่วงเวลาที่มีการประกาศชื่อ OnLive จากซิลิคอนกราฟิก ก็มีข่าวว่าโซนี่มีการจดทะเบียนชื่อ PS Cloud ซึ่งจากชื่อนี้มีความเป็นไปได้ว่าเป็นระบบที่ใกล้เคียงกับ OnLive)


Nothing Perfect, Glitches in the system

มีการวิจารณ์ OnLive ในหลายกระแส ตั้งแต่การใช้ระบบ Stream ที่เกมทั้งหมดอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ อาจไม่สามารถรักษาความเสถียรได้เท่าเกมทั่วไป อาจมีการภาพกระตุก หรือข้อมูลส่งไม่ถึง (ซึ่งทางซิลิคอนกราฟิกยืนยันว่า ได้มีการวิจัยระบบการส่งข้อมูลที่แม่นยำ รวดเร็ว และเหมาะสมไว้รองรับ OnLive แล้ว) หรือจะเป็นอัตราค่าบริการที่ยังไม่เปิดเผย รวมถึงราคาของเกมที่จะขายว่าจะแพงกว่าการขายเป็นกล่องหรือเปล่า ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ผู้ใช้ต้องจ่ายจริงๆ ทั้งค่าอินเตอร์เน็ตที่เสถียรพอ และค่าบริการเสริมอื่นๆ ของ OnLive ก็ยังไม่มีความแน่นอน ส่วนตัวผมเองก็ยังไม่แน่ใจในความเป็นไปได้ที่ Cloud Server จะสามารถรองรับการใช้บริการที่หนักหน่วงจำนวนมหาศาลได้ (อย่างการเล่น Crysis พร้อมกันสักหมื่นคน)

สุดท้ายแล้ว OnLive ก็ยังเป็นแค่เรื่องฝันค้าง โดยเฉพาะสำหรับประเทศเราที่อินเตอร์เน็ตทั้งฝืดและไม่มีความเสถียร ผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่า OnLive มีอนาคตไกล แต่จะสดใสได้อาจจะต้องรอไปอีก 5 ปีเพื่อให้เทคโนโลยีอื่นๆ ตามมาทัน (สำหรับบ้านเราแล้วก็คงต้องฝันต่อไป)

Cloud Server – เป็นศัพท์ใหม่ในวงการ IT หมายถึงการให้บริการเครื่องเซิร์ฟเวอร์จำนวนมากและกระจายอยู่หลายที่ สามารถเชื่อมต่อระหว่างกันเพื่อแบ่งงานได้ และมีระบบจัดการให้เครื่องจำนวนมากถูกใช้งานเท่าที่จำเป็น จึงคิดค่าใช้จ่ายเฉพาะที่ได้ใช้งานจริง ซึ่งทำให้รองรับการทำธุรกิจได้หลากหลายและเหมาะสมมากขึ้น

เครื่อง MicroConsole ที่มีขนาดเล็กกว่าฮาร์ดดิสก์ประกอบด้วยช่องต่อ HDMI และ S/PDIF Optical Out ช่องต่อ Ethernet ช่อง USB 2 ช่อง และสัญญาณ Wireless รองรับอุปกรณ์ได้ 4 อย่าง แน่นอนว่ารองรับการต่อ Input หลายแบบ ส่วน Wireless Joypad รูปลักษณ์คล้าย XBox Joypad ติดมากับเครื่อง MicroConsole


เกมที่พอร์ตลง OnLive เรียบร้อยแล้ว

OnLive คงต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่โตมโหฬาร

 

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้