Grand Age Rome : เมื่อหัวใจหลักแห่งอาณาจักรโรมัน อยู่ที่ขนมปังและการจัดการ

มันออกจะเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอยู่เสมอๆ สำหรับเกมจากฝั่งยุโรป ที่แม้มันจะไม่สามารถเข้าไปตีตลาดในฝั่งอเมริกา แต่ก็จะได้รับการต้อนรับจากฐานผู้เล่นในภูมิภาคดั้งเดิมที่มีความอดทนกับเรื่องจุกจิกกวนใจมากกว่า และเกมวางแผนสร้างอาณาจักรอย่าง Imperium Romanum ที่ได้เสียงตอบรับไม่สู้ดีจากปัญหาบั๊กส์ในช่วงวางจำหน่าย ก็ได้ปรับปรุงและสร้างกระแสความนิยมขึ้นมาอย่างเงียบๆ แต่เป็นกอบเป็นกำ จนทางผู้พัฒนาสามารถต่อยอดอันนำไปสู่ Grand Ages: Rome ได้เป็นผลสำเร็จ

ในเกมนี้ ผู้เล่นจะได้สวมบทบาทเป็นหนึ่งในทายาทตระกูลขุนนางแห่งอาณาจักรโรมัน ที่ถูกเนรเทศไปสู่ชายขอบจากปัญหาการเมือง และพร้อมจะกลับมาทวงสิทธิของตนอีกครั้งหลังการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิทรราชย์ ด้วยการสร้างอาณาจักรที่สมบูรณ์แบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านอาหารการกิน สาธารณูปโภค แรงงาน การค้นคว้า และกำลังทหาร ทั้งหมดถูกจัดการอย่างง่ายดายด้วยระบบการวางผังเมืองที่ใช้ง่ายและตัดความยุ่งยากในเรื่องของจำนวนคนลง บ้านหนึ่งหลังรองรับงานได้หนึ่งประเภท (ยกเว้นตลาดทาสที่สามารถใช้ได้ไม่จำกัด แต่ประสิทธิภาพน้อยกว่า) และหน้าที่หลักๆ ของคุณคือ สร้างระบบการจัดการที่ดีที่สุด ให้เมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างไร้รอยสะดุดเพื่อผลตอบแทนในรูปโบนัสต่างๆ ตั้งแต่วิจัยได้เร็วสองเท่า จนถึงเงินบริจาคในวิหารที่มากขึ้น เป็นต้น

เมืองในยุคโรมันเป็นอย่างนี้นี่เอง

แน่นอนที่สุดว่าตัวละครหลักของคุณไม่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวคนเดียว แต่ได้รับการสนับสนุนจาเหล่าตัวละครหลากหลายทั้งสมมติและมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ คุณจะได้รับการไหว้วานจากมาร์คัส แคสซุส เพื่อปราบกบฏนักรบทาสของสปาร์ตาคุส ณ ตีนเขาวิซุเวียส สร้างนิคมเกษตรกรรมของอิยิปต์ให้กับซิเซโร่ หรือสนับสนุนการขึ้นสู่อำนาจของจูเลียส ซีซาร์และมาร์ค แอนโธนี อีกทั้งตัวละครของคุณยังสามารถ ‘อัพเกรด’ ด้วยแต้มโบนัสที่ได้จากการผ่านฉาก ในสาย Tech Tree ที่แตกต่างไปตามสายตระกูล เพื่อให้บริหารงานบ้านเมืองได้ดียิ่งขึ้น มันอาจจะไม่ได้มีความหมายใดๆ ในแง่ความลึกซึ้ง แต่ก็ช่วยเพิ่มบรรยากาศร่วมให้กับเกมการเล่นได้ค่อนข้างดี

ทหารราบยังพอดินทัพกันเป็น แต่อย่าพาพวกเขาลงเรือเชียวนะ

แต่กระนั้น ในความง่ายของเกมการเล่นที่ไม่ต้องวุ่นวายกับการจัดการประชากร (ดังเช่นที่เกมอื่นๆ เป็น) ก็ตามมาด้วยปัญหาใหญ่ เพราะหลายครั้งที่เมืองเกิดโรคระบาด จะมีบ้านหนึ่งหลังที่ผู้คนอพยพย้ายหนี และทำให้กิจการที่พึ่งบ้านหลังนั้นต้องหยุดชะงัก ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยบ้านหลังอื่นที่รองรับงานชนิดอื่น ซึ่งมันยุ่งเหยิงเอามากๆ เพราะทุกสิ่งในเมืองเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ ความผิดพลาดเล็กๆ เพียงครั้งเดียวสามารถก่อความหายนะถึงขั้นล่มสลายได้ทุกเมื่อ อีกทั้งความซ้ำซากของภารกิจและสิ่งก่อสร้างนั้นก็น่าเหนื่อยใจ (เก็บไอ้นั่น สร้างไอ้นี่ ตีไอ้โน่น) แต่โชคดีที่ระบบการต่อสู้กองทัพของเกมนี้ค่อนข้างหลากหลายมีสีสันดึงดูดและเพลิดเพลินในการรับชมอยู่พอสมควร ส่วนที่เหลือก็เป็นปัญหาบั๊กส์ประปรายแต่ไม่ร้ายแรงที่ทางผู้พัฒนาได้ปล่อยแพทช์มาแก้ไขแล้วถึงสองตัว เป็นข้อพิสูจน์ว่าพวกเขาเก็บงานได้ปราณีตขนาดไหน

มีการเพิ่มความเป็น RPG เข้าไปด้วย

สุดท้าย Grand Ages: Rome อาจจะไม่ใช่เกมสร้างเมืองที่ยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบ แต่ก็มีความเรียบง่าย ลุ่มลึก และงดงามในตัวของมันเอง ที่อาจจะหาได้ไม่ง่ายนักท่ามกลางความอึกทึกโกลาหลของวงการเกมในปัจจุบัน

ความเห็นที่หนึ่ง : 72%

ข้อดี: กลไกที่ทำให้ Imperium Romanum เป็นเกมที่ดียังอยู่ครบถ้วน (เรียบงานแต่ก็ลุ่มลึก)
ข้อด้อย: ข้อเสียของ Imperium Romanum ก็ยังคงตามมาเช่นกัน
โดยรวม: เกมบริหารเมืองที่นับมามีดีพอตัว แต่กลับไม่มีอะไรที่โดดเด่นขึ้นมาในระดับที่จะทำให้เกมเมอร์ทั่วไป “ต้อง” เล่น คงเป็นเกมสำหรับคนที่รักการบริหาร การเมือง ยุคโรมันจริงๆ เท่านั้น

ความเห็นที่สอง : 85%

Grand Ages: Rome เป็นเกมสร้างเมืองตามมาตรฐานทั่วไป แต่ทางผู้พัฒนาได้มีการนำฟีเจอร์ของ RPG เสริมเพิ่มเข้าไป (ด้วยระบบค่าประสบการณ์ที่จะได้หลังจากทำภารกิจสำเร็จ) ระบบการสร้างเมืองเองก็ไม่ซับซ้อนจนเกินไป มีการแก้ไขขจัดสิ่งน่ารำคาญยิบย่อยจากภาคเดิมออกไป ระบบสงครามมีปัญหา AI ให้เห็น… ทหารราบยังพอรับได้ แต่ยูนิตประเภท “เรือ” ใน Grand Ages: Rome อะไรที่โง่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ทำให้เราต้องคอยมา “จูง” เรือเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา โดยรวมแล้ว Grand Ages: Rome เป็นเกมที่ดี เพียงแต่ว่ามันไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ เท่านั้นเอง

บทความนี้มาจากนิตยาสาร Future Gamer

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้