Out Side the Box : หนังจากเกม… ทำไมมัน (ต้อง) ห่วย?

นี่คือบทความที่เรา “จำเป็น” ต้องเขียนหลังจากเราได้ไปชมภาพยนตร์ Max Payne มา

      Doom, Resident Evil, Super Mario Bros., Street Fighter, Final Fantasy และอื่นๆ อีกมากมาย ผมขอถามทุกคนอย่างจริงจังว่า รู้สึกอย่างไรตอนที่ได้ยินครั้งแรกว่าชื่อเหล่านี้จะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์? สำหรับผม มือผมสั่น ใจผมเต้นระรัว คุยโม้แหลกลาญกับเพื่อนฝูง แม้กระทั่งพ่อแม่ แต่พอไปนั่งในโรงภาพยนตร์กลับเกิดอาการ "นี่เรามานั่ง (ทำหอก) ดูอะไรอยู่เนี่ย?" "ความสนุกมันอยู่แห่งหนใด?" "ถ้าเอ็งจะสร้างหนังแอ็กชั่นธรรมดาๆ ก็ไม่ต้องลงทุนซื้อชื่อเกมมาแปะหน้าหรอก" พอเดินออกจากโลง เอ้ย!… โรง! ก็ต้องวิ่งหลบบาทาของเพื่อนๆ คนที่มันไม่เคยเล่นเกม แต่ดันไปลากคอมันมาจ่ายตังค์ดูแทบไม่ทัน นี่ไม่ใช่สิ่งที่นักเล่นเกมทั้งหลายคิดกันไปเอง ผมมีหลักฐานยืนยันเป็นรายได้สูงสุดของภาพยนตร์จากเกม 10 อันดับ เชิญทัศนากันได้เลยครับ

ข้อมูลจาก http://www.boxofficemojo.com

หมายเหตุ: ผมไม่สามารถสรุปเฉพาะของภาพยนตร์ที่สร้างจากเกมพีซีได้ เพราะจำนวนเรื่องที่ยังมีน้อยอยู่ (ขอไม่นับของ Uwe Boll) และรายได้ที่น่าอับอายเกินกว่าจะยกมากล่าวอ้าง

จนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครโค่นบัลลังก์ของเธอลงได้

     แต่สำหรับนักเล่นเกมอย่างเราๆ แล้ว รายได้เป็นเพียงหายนะผิวเผิน หายนะที่แท้จริงคือ แทบไม่มีภาพยนตร์จากเกมเรื่องไหนเลยที่ได้ใจ "เกมเมอร์" แบบเต็มๆ ไม่มีการถูกยกขึ้นหิ้ง มันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมสุดยอดเกมที่มียอดขายถล่มทลาย ถึงตกม้าตายไม่เป็นท่ากันหมด? จนกระทั่งปัจจุบัน แค่ได้ยินว่าภาพยนตร์เรื่องไหนสร้างจากเกม คนทั่วไปยังสามารถคาดเดาอนาคตให้ได้ ทำไม?

1. อารมณ์เกมกับภาพยนตร์

เวลาเรานั่งอยู่หน้าจอมอนิเตอร์อันงามหยดย้อยพร้อมด้วยระบบเสียงหูแทบแตกรอบศีรษะ แค่ได้ไล่ยิงตัวละครฝ่ายศัตรูในเกมสักตัวด้วยปืนกลเลเซอร์อัพเกรดมาแล้ว 20 ครั้งหรือได้บังคับรถสปอร์ตคันเก่งเข้าโค้งกระจายเพื่อหนีรถตำรวจอีกนับสิบคันที่ไล่กวดตามหลังมา แล้วดันผิดพลาดแหกไปกระแทกแผงข้างทางจนรถกระจุยทั้งคัน ความสุขสุดยอดก็บังเกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ถ้าเกิดเราไปเห็นฉากแบบที่ว่าในภาพยนตร์บ้างล่ะ บางคนอาจยังคงตื่นเต้นอยู่ แต่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่จะนั่งดูเฉยๆ ไม่รู้สึกรู้สาอะไร "ฉากแบบนี้น่ะเหรอ เห็นมาตั้งแต่ยุค 80 แล้ว"

น่าเสียดายที่ไม่มีการบอกเล่าเรื่องแบบนี้บ้างในตัวภาพยนตร์

     ที่ผ่านมาภาพยนตร์จากเกมส่วนใหญ่ มักทำแค่หาคนหน้าตาหรือบุคลิกลักษณะเหมือนตัวเอกในเกมมาแสดงท่าทางแอ็กชั่นเลียนแบบเกมทั้งดุ้น ซึ่งเวลานั่งดูมันกลับไม่สนุกเหมือนตอนได้ควบคุมด้วยตนเอง อารมณ์ของเกมจึงยังไม่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับอารมณ์ของภาพยนตร์เสียที

2. คนสร้างมือไม่ถึง?

      ถ้าอยากทำได้ตามข้อ 1 คือเอาความเป็นเกมใส่เข้าไปในภาพยนตร์โดยไม่เสียอรรถรสของทั้ง 2 ศาสตร์ แน่นอนว่าคนที่มีบทบาทมากที่สุดต้องหนีไม่พ้น คนเขียนบทและผู้กำกับ ที่ผ่านมามีภาพยนตร์จากเกมหลายเรื่องที่สร้างมาเพื่อหวังแค่เกาะกระแสความดังของเกม ฉะนั้นมือเขียนบทและผู้กำกับจึงแน่นอนว่า เป็นใครมาจากไหนไม่รู้! (อะไรนะ…อะไร Boll นะ? ฟังไม่ชัด) แม้จะมีบางเรื่องได้ผู้กำกับและมือเขียนบทชื่อดังมารับผิดชอบ แต่ส่วนใหญ่คนเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการสร้างเกมเลย อย่างดีก็เป็นแฟนเกมอย่างเหนียวแน่น นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์จากเกมยังไม่สามารถถึงที่สุดเสียที แล้วทำไมไม่เอาคนสร้างเกมมาทำล่ะ? พวกเขาน่าจะเข้าถึงอารมณ์เกมมากที่สุดนะ แต่คำถามข้อนี้ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพราะอย่างที่บอกศาสตร์ทั้ง 2 สาขานี้ไม่ใช่สิ่งที่จะเอามารวมกันกลมกล่อมได้ง่ายๆ นักสร้างเกมโดยทั่วไปไม่มีประสบการณ์ด้านการกำกับและเขียนบทภาพยนตร์มาก่อนเลยหรือถ้ามีก็น้อยมากๆ

3. พลังดารา

     มันคงทำให้ภาพยนตร์น่าดูขึ้นถ้ามีดาราระดับแม่เหล็กมาแสดงนำ ใน Lara Croft: Tomb Raider มีทั้ง Angelina Jolie, Jon Voight และ Daniel Craig (ตอนนั้นยังไม่ดัง) กำกับโดย Simon West (Con Air) ด้านรายได้เรียกได้ว่า ดูดีทีเดียว แม้ว่าสำหรับแฟนเกมแล้ว ยังดูผ่านแบบไม่เป็นเอกฉันท์เท่าใดนัก ส่วน Milla Jovovich ก็สามารถลากรายได้ของ Resident Evil ขึ้นมาจนมีการสร้างภาคต่อได้สำเร็จ

     หรือว่านี่คือคำตอบสุดท้าย อัดดาราเข้าไปบทอะไรทิ้งไว้ก่อน ขอแค่ดาราดังคนดูก็เหมือนถูกมนตร์สะกดให้จ่ายค่าตั๋วแล้ว… มันก็บ่แน่ดอกนาย อย่าลืม Doom ($28,212,337 หายนะตามชื่อ) ที่ถึงแม้จะมีทั้ง Dwayne "The Rock" Johnson และ Karl Urban ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก และที่สุดๆ ไปเลย ได้แก่ Jason Statham, Ron Perlman, John Rhys-Davies และ Burt Reynolds ใน In the Name of the King: A Dungeon Siege Tale ($4,775,656) โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลังที่อาเฮีย Boll พิสูจน์ให้เห็นอย่างเด่นชัดเลยว่า ดาราดังแค่ไหนก็ช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าหนังมันห่วย ต้องขอบคุณเฮียเขานะ!

หรือเป็นเพราะชื่อไม่ถูกโฉลก… ก็ Doom มันแปลว่าหายนะนี่นา

4. ลดระดับความเรื่องมากลง

     เท่าที่เคยสอบถามบุคคลซึ่งไม่เคยเล่นเกมหลายๆ ท่าน (เพื่อนและอื่นๆ) พวกเขาไม่มีปัญหาอะไรกับภาพยนตร์จากเกมหลายๆ เรื่องเช่น Silent Hill, Resident Evil หรือ Hitman เป็นต้น ส่วนใหญ่บอกว่าสนุกดี สนุกกว่าภาพยนตร์แนวเดียวกันที่ไม่ได้สร้างจากเกมบางเรื่องเสียอีก อืม…หรือว่าปัญหาบางครั้งมันเป็นที่ตัวพวกเราเองกันแน่! "อะไรวะ! ทำไมนางเอกใส่เสื้อสีไม่เหมือนในเกม ไม่ดูมันแล้ว" หรือ "พระเอกมันต้องไว้หนวดแบบนั้นสิ ไม่ใช่สั้นๆ แบบนี้ ไม่ดูมันแล้ว" หรือ "เนื้อเรื่องต้องดราม่าๆ สิ ไม่ใช่แอ็กชั่น ไม่ดูมันแล้ว" และ "อะไรกัน! สร้างออกมาเหมือนเกมทุกกระเบียดนิ้วเลย ไม่ดูมันแล้ว" แล้วก็คงเป็นพวกเราอีกนั่นแหละที่เป็นคนเริ่มเปิดประเด็นด่ากราด จนคนอื่นไม่กล้าไปดูตามเราด้วย

     อย่างที่เกริ่นเอาไว้อารมณ์ของภาพยนตร์กับเกมค่อนข้างแตกต่างกัน ฉะนั้นทางผู้สร้างเองก็คงลำบากใจไม่น้อยเพราะการสร้างภาพยนตร์คงไม่สามารถเอาใจเฉพาะกลุ่มคนดูที่เป็นนักเล่นเกมได้ ดังนั้นบางครั้งเนื้อเรื่องจึงออกมาแบบกล้าๆ กลัวๆ เป็นกลางจนไม่มีอะไรโดดเด่นเลย พวกเราอาจต้องช่วยด้วยการลดความมากเรื่องของเราลงบ้างเล็กน้อย (อย่าเพิ่งด่าผม แค่เสนอแนวคิดน่า) อย่าไปจ้องจับผิดจนทะลุโลกอะไรขนาดนั้น

     โดยสรุปเท่าที่ผมคิดออก สิ่งที่ส่งผลมากที่สุดต่อคุณภาพ (และรายได้) ของภาพยนตร์ที่คิดจำลองตัวเองขึ้นมาจากเกมน่าจะเป็นคนเขียนบทและผู้กำกับที่ต้องกล้าสร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยให้ความเคารพในตัวเกมและก็ต้องไม่ลืมสไตล์ของตนเอง อาจจะไม่ถูกใจ (นักเล่นเกม) ทุกคน แต่ผมคิดว่านั่นน่าจะทำให้ได้ส่วนผสมที่ลงตัวมากที่สุดครับ ครั้งหน้าเราจะมาว่ากันในอีกด้านหนึ่งบ้าง เกมจากภาพยนตร์และสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง? มีอะไรเจ๋งๆ พอที่จะช่วยล้างอายให้บ้างไหม? แล้วพบกันครับ

ความหวังใหม่

Prince of Persia: The Sands of Time (Walt Disney Pictures; 28 พฤษภาคม 2553)

กว่าจะได้ดูคงอีกระยะหนึ่ง แต่เราจะอดทนรอ

     Jordan Mechner ผู้ให้กำเนิดเกมซีรีส์ Prince of Persia คือหนึ่งในทีมผู้เขียนบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย กำกับโดย Mike Newell (Harry Potter and the Goblet of Fire และ Mona Lisa Smile) นอกจากนี้ยังมี Jake Gyllenhaal (Brokeback Mountain) และมือระดับรางวัลออสการ์อย่าง Sir Ben Kingsley (Gandhi) แสดงนำ ถือเป็นภาพยนตร์จากเกมที่น่าจับตามองมากทีเดียว

Bioshock (Universal Studios; ประมาณปี 2553)

     แค่ชื่อก็อยากดูโคตรๆ แล้ว ทาง Universal Studios ยังวางตัวผู้กำกับเป็น Gore Verbinski (Pirates of the Caribbean ทั้ง 3 ภาคและ The Ring) อีกด้วย ส่วนมือเขียนบทเป็นหน้าที่ของ John Logan (Gladiator, The Aviator และ Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street) และแว่วๆ มาว่า เทคนิคในการสร้างจะใช้เทคนิคเดียวกันกับที่เราเคยเห็นในภาพยนตร์เรื่อง 300

The Sims (20th CENTURY FOX; ประมาณปี 2552)

     เอ่อ…แล้วมันจะสร้างเป็นภาพยนตร์แนวไหนล่ะ? ผู้ที่รู้คำตอบคงมีเพียง Brian Lynch นักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงาน Angel: After the Fall ซึ่งถูกดึงตัวมาเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ภายใต้การอำนวยการสร้างของ John Davis (Norbit และ Eragon) เอ…ทำไมผมถึงรู้สึกกังวลขึ้นมาตะหงิดๆ ล่ะทีนี้?

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้