นายแอนดรูว์ แมคบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2547 (ก.ค.2546-มิ.ย.2547) ไมโครซอฟท์สามารถทำยอดขายซอฟต์แวร์ในตลาด OEM (บันเดิลไปกับเครื่องพีซีโลคอลแบรนด์) เติบโตประมาณ 74% ทั้งนี้เนื่องจากปีที่ผ่านมาตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากโครงการคอม พิวเตอร์ไอซีทีซึ่งไมโครซอฟท์ได้ร่วมสนับสนุนซอฟต์แวร์ในราคาพิเศษ นอกจากนี้ในหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจก็มีการอัพเกรดเครื่องมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทมียอดขายเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตเพียง 26% ส่วนปีงบประมาณ 2548 ตั้งเป้าเติบโตลดลงเหลือเพียง 5% โดยขณะนี้ไมโครซอฟท์ได้แต่งตั้งบริษัท ซิน เน็ค (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายหลักเพื่อช่วยทำตลาด OEM เพิ่มอีก 1 ราย จากเดิมที่มีบริษัท อินแกรม ไมโคร จำกัด และบริษัท ไอดีซี จำกัด เป็นตัวแทนเพื่อขยายตลาดเข้าไปในกลุ่มคอมพิวเตอร์โลคอลแบรนด์ และผู้ประกอบคอมพิวเตอร์รายย่อยมากขึ้น ซึ่งเป็นที่คาดการณ์กันว่าตลาดดังกล่าวจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและจากการคาดการณ์ของไอดีซีระบุว่า ตลาดรวมคอมพิวเตอร์ปีนี้ประมาณ 1.2 ล้านเครื่อง ซึ่งมีการใช้งานซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์มากกว่า 90% ไมโครซอฟท์แบ่งกลุ่มการทำตลาดซอฟต์แวร์เป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มซอฟต์แวร์แพ็กเกจในตลาดคอนซูเมอร์ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 1% 2.ซอฟต์ แวร์ไลเซนส์สำหรับองค์กรธุรกิจสัดส่วนประมาณ 70% เป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัท และ 3.ซอฟต์แวร์ OEM สัดส่วนประมาณ 29% เป็นตลาดที่มีการเติบโตตามปริมาณการขยายตัวของตลาดพีซี โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีการลงทุนด้านไอทีมากขึ้น นายชาญชัย พันธุ์โสภา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการตลาดบริษัทเดียวกันกล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะเน้นการจัดกิจกรรมการตลาดร่วมกับคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น โดยมีแผนจัดโรดโชว์เทคโนโลยีในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทั้งสถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มากขึ้น โดยเฉพาะข้อได้เปรียบในด้านบริการหลังการขาย และความสะดวกในการอัพเกรดซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นใหม่ๆขณะที่นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการทำตลาดซอฟต์แวร์ OEM ของไมโครซอฟท์ โดยเป็นการทำตลาดผ่านตัวแทนจำหน่ายของบริษัทที่เป็นผู้ประกอบคอมพิว เตอร์รายย่อยทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย ซึ่งต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มธุรกิจประกอบเครื่องตามสั่งของลูกค้าเพื่อนำไปติดแบรนด์ของตนเอง ซึ่งการเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ก็จะช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ครบถ้วนมากขึ้น โดยคาดว่าในปีแรกจะทำยอดขายซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ได้ประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้รวม 6,000 ล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้