รีวิว INTERmission – เนื้อเรื่องไซด์สตอรี่ของ FF7 Remake ที่ควรค่าแก่การลอง

ผ่านมา 1 ปีเศษแล้วนะครับกับ Final Fantasy VII Remake (ขอเรียกสั้น ๆ ว่า FF7 Remake) เกมที่แฟน ๆ ต่างรอคอยมานานจนกระทั่ง Square Enix ทำ Part แรกเสร็จจนได้ และก่อนที่ผู้เล่นจะมูฟออนไปรอ Part 2 กัน ทางผู้พัฒนาเกมก็ได้ปล่อย DLC เนื้อเรื่องเสริมของนินจาสาวยูฟี่ ที่มีชื่อว่า Episode INTERmission ออกมาให้เราได้เล่นกันเป็นการทิ้งทวนกัน


ก่อนที่เราจะพูดถึงรีวิว ก็ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันกับผู้ที่ต้องการซื้อ DLC ตัวนี้ก่อนนะครับ เนื่องจากรายละเอียดช่วงก่อนเกมออกอาจจะทำให้ใครหลายคนสับสนไปบ้าง โดยขออธิบายแบบเข้าใจง่าย ๆ ตามนี้

  • ถ้าคุณเคยซื้อเกมนี้แบบแผ่นบน PS4 มาก่อน สามารถอัปเกรดเป็น Intergrade บน PS5 ได้ฟรี และต้องซื้อ DLC INTERmission เพิ่มแบบดิจิทัลดาวน์โหลดจากใน PlayStation Store ด้วยที่ราคา 597 บาท
  • ถ้าคุณเคยซื้อเกมนี้แบบดิจิทัลดาวน์โหลดบน PS4 มาก่อน ก็สามารถอัปเกรดเป็น Intergrade บน PS5 ได้ฟรีเหมือนกัน และต้องซื้อ DLC INTERmission เพิ่มแบบดิจิทัลดาวน์โหลดจากใน PlayStation Store ด้วยที่ราคา 597 บาท
  • ถ้าคุณไม่เคยซื้อเกมนี้มาก่อนเลย สามารถไปซื้อแผ่น PS5 ที่เป็นเวอร์ชั่น Intergrade ได้เลย โดยข้างในกล่องเกมจะมีโค้ด DLC INTERmission แนบมาให้อยู่แล้ว หรือใครที่ซื้อตัว Intergrade แบบดิจิทัลดาวน์โหลดบน PS5 ก็จะมี DLC INTERmission พ่วงมาด้วยเลยเช่นกัน
  • ใครที่เคยโหลด FF7 Remake บน PS4 มาตอนที่มีแจกฟรีสำหรับสมาชิก PlayStation Plus ตัวเกมเวอร์ชั่นดังกล่าวจะอัปเกรดเป็น Intergrade ไม่ได้ หากใครจะเล่นต้องซื้อเกมเวอร์ชั่นปกติบน PS4 แล้วอัปเกรดเป็น Intergrade บน PS5 เอาเอง หรือซื้อเวอร์ชั่น Intergrade บน PS5 แบบสำเร็จรูปสถานเดียวครับ

เนื้อเรื่องของ INTERmission จะกล่าวถึงยูฟี่ นินจาสาวจากอาณาจักรวูไท (Wutai) ที่ลอบเข้ามาในมิดการ์เพื่อหวังจะขโมยมาเทเรียไปจากบริษัทชินระ โดยมีกลุ่มอวาลานช์คอยให้การช่วยเหลือ พร้อมกับได้ โซนอน นินจาหนุ่มจากวูไทมาเป็นคู่หูร่วมปฏิบัติภารกิจนี้ด้วย

ซึ่งไทม์ไลน์ของ INTERmission จะคาบเกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลักในช่วงที่คลาวด์ตกลงไปในเหวแล้วเจอกับแอริธ กระทั่งจบที่สลัม Sector 7 โดนถล่มลงมา ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่เราเล่นเป็นยูฟี่ก็จะมีโอกาสได้พบกับบางตัวละครจากเนื้อเรื่องหลักอยู่บ้าง และบางตัวละครเรายังสามารถคุยเพื่อ Trigger บทสนทนาที่เชื่อมโยงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปถึงเนื้อเรื่องหลักได้ด้วยเหมือนกัน

ตัวเกมใน DLC จะถูกแบ่งออกเป็น 2 แชปเตอร์ ฟังดูเหมือนสั้น ซึ่งจริง ๆ มันก็สั้นเอาเรื่องครับถ้าคุณเล่นแบบหวังเอาจบ เอาเนื้อเรื่อง และไม่แคร์เรื่องการเก็บเลเวลหรือเก็บความลับอะไรเลย เลยขอแนะนำว่าไหน ๆ ถ้าซื้อ DLC มาแล้วก็เล่นมันให้ครบทุกคอนเทนต์ที่เขานำเสนอมาให้เราจะดีกว่าครับ

ระบบต่อสู้ของเกมจะใช้ยูฟี่เป็นศูนย์กลาง โดยที่โซนอนจะเป็นเพียงตัวละครซัพพอร์ตที่มีหน้าที่ตามที่เราสั่ง (บังคับตัวโซนอนวิ่งไปมาไม่ได้) ขณะที่สู้ผู้เล่นสามารถให้ยูฟี่ซิงโครไนซ์กับโซนอนเพื่อใช้ท่าไม้ตายผสาน ซึ่งมีความรุนแรงสูงได้ แต่จะใช้เกจ ATB พร้อมกันทั้งคู่ และระหว่างที่เราซิงโครไนซ์กับโซนอน เกจ ATB ของโซนอนจะขึ้นช้าลง ผู้เล่นจึงต้องมีการคำนวณสถานการณ์ให้ดี เพื่อให้การต่อสู้มีประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะบังคับโซนอนไม่ได้เลย แต่การเล่นเป็นยูฟี่กลับให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากก๊วนของคลาวด์ในเนื้อเรื่องหลักอยู่ไม่น้อย เพราะ AI โซนอนจะฉลาดระดับหนึ่ง รู้ว่าเวลาไหนควรช่วยเราต่อคอมโบเพื่อปั่นเกจ Stagger ของศัตรู หรือช่วยเราเลี่ยงดาเมจเวลาถูกรุมหนัก ๆ ได้บ้าง

ขณะเดียวกัน ยูฟี่เองก็มีความเร็วในการโจมตีที่สูงมาก แถมทำลายจังหวะศัตรูได้ง่าย จนบ่อยครั้งแอบรู้สึกว่าศัตรูในระดับ Normal นั้นแทบไม่ได้ท้าทายอะไรฝีมือยูฟี่เลย อย่างตอนที่ทีมงานเล่นจบยังมีเลเวลตัวละครแค่ 30 เศษ ๆ เท่านั้น

พอเล่นไปสักพัก เกมจะแนะนำให้เรารู้จักกับมินิเกม Fort Condor ที่เคยมีให้เล่นตั้งแต่สมัย FF7 เวอร์ชั่นดั้งเดิมครับ โดย Fort Condor เวอร์ชั่นใหม่นี้จะเปลี่ยนรูปแบบการเล่นไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือของเดิมจะเป็นการปล่อยยูนิตเพื่อยันยูนิตศัตรูที่บุกเข้ามาทำลายป้อมของเรา และวัดผลแพ้ชนะเมื่อเราปราบศัตรูได้หมด

ทว่าในเวอร์ชั่นใหม่จะเป็นสไตล์แบ่งข้าง 2 ฝั่ง โดยที่แต่ละฝั่งก็จะมีป้อมให้คุ้มกัน 3 จุด และเป้าหมายของเราก็คือต้องทำลายป้อมหลักของศัตรูลงให้ได้ พร้อมกับมีการจับเวลา หากเวลาหมดลงแล้วยังไม่มีป้อมไหนถูกทำลาย หรือโดนทำลายในจำนวนเท่ากัน ก็จะเข้าสู่โหมด Sudden Death ที่หากฝ่ายใดทำลายป้อมเพิ่มได้ก่อนก็จะเป็นฝ่ายชนะไป

ความน่าสนใจของ Fort Condor ก็คือปัจจัยของการเอาชนะจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับแท็กติกของเราเท่านั้นครับ แต่มันมีเรื่องของยูนิตในมือ และกระดานที่เราใช้ด้วย โดยเราสามารถตามหายูนิตเจ๋ง ๆ มาเพิ่มได้จากการเปิดหีบหรือซื้อจาก NPC บางตัว ซึ่งยูนิตในมินิเกมจะมีแบ่งเป็น 3 สาย ได้แก่ สายโจมตี สายป้องกัน กับสายยิงไกล และแต่ละสายก็จะมีชนะและแพ้ทางในลักษณะเหมือนงูกินหาง

อนึ่ง การปล่อยแต่ละยูนิตจะต้องใช้เกจ ATB ในจำนวนที่แตกต่างกัน โดยยูนิตที่ใช้ ATB เยอะมักจะเป็นยูนิตที่ถ้าไม่อึดก็จะมีพลังโจมตีสูง หรืออาจจะเป็นยูนิตประเภท Barrack ที่สามารถสร้างยูนิตย่อยขึ้นมาได้เอง ดังนั้นการจะปล่อยยูนิตอะไรออกมาก็ต้องคำนวณให้ดี และเราสามารถสังเกตเกจ ATB ของศัตรูเพื่อคาดการณ์ได้ว่ามันกำลังรอจะปล่อยตัวอะไรออกมาได้ด้วย

ถัดมาเป็นเรื่องของกระดานบ้าง ทั้งนี้ กระดานจะประกอบไปด้วยเกจ ATB ว่าเราจะได้เริ่มเกจที่ช่องที่เท่าไหร่ สามารถเก็บเกจได้ถึงกี่ช่อง จำนวนยูนิตที่เราสามารถสต็อกได้ และยังมีความเร็วของเกจ ATB รวมถึงเวทมนตร์ที่เราสามารถใช้ได้ ซึ่งกระดานจะมีให้เราซื้อจาก NPC เมื่อเราชนะคู่แข่งไปเรื่อย ๆ ก็จะปลดล็อคกระดานให้เราซื้อได้เพิ่ม กระดานที่ดีจะช่วยให้เรากุมความได้เปรียบหรือไม่เสียเปรียบศัตรูเกินไปนัก

ต้องบอกกันตรงนี้เลยว่า Fort Condor แทบจะรับบทพระเอกของ DLC นี้เลยก็ว่าได้ครับ อีกทั้งมันยังมีองค์ประกอบหลายอย่าง ตลอดจนมีศักยภาพที่มากพอในระดับที่ Square Enix ควรเอาไปต่อยอดเป็นเกม Standalone ลงมือถือหรือพวกเครื่องแฮนด์เฮลด์ด้วยซ้ำไป ใครเล่น Episode INTERmission แล้วไม่ได้สัมผัสมินิเกมนี้ถือว่าพลาดหนักมาก

ช่วงแชปเตอร์ที่ 2 จะมีมินิเกมเพิ่มอีกอย่างคือการทำลายกล่องให้ได้คะแนนตามที่กำหนด ซึ่งมินิเกมนี้จะแอบคล้ายมินิเกมฟันกล่องของคลาวด์ในเนื้อเรื่องหลัก โดยแต่ละกล่องจะมีระบุคะแนนเอาไว้หากทำลายได้ พร้อมกับกล่องเวลาที่เราต้องทำลายเพื่อยืดเวลาในการปั่นแต้ม

มินิเกมทำลายกล่องจะเป็นการฝึกทักษะการใช้สกิลของยูฟี่ล้วน ๆ หากจับทริคได้ว่ากล่องคะแนนเท่าไหร่ต้องใช้วิธีไหนในการทำลายที่เร็วที่สุดจะสามารถไต่ท็อปสกอร์ได้ไม่ยากนัก เผลอ ๆ มินิเกมนี้ดูจะง่ายกว่ามินิเกม Fort Condor ลิบลับครับ

และด้วยความที่ INTERmission มาพร้อมกับอัปเกรดเวอร์ชั่น Intergrade ตัว DLC นี้เลยสามารถปรับโหมดใน Option ได้ว่าจะเล่นแบบเน้นกราฟิกคมชัด แสงเงาดีเยี่ยม แต่ล็อคเฟรมไว้แค่ 30 FPS หรือจะเน้น Performance ที่เฟรมเรต 60 FPS ได้ดรอปกราฟิกลงมาเล็กน้อยก็ได้ แต่เท่าที่ลองกันมา ขอบอกเลยว่าเล่นที่ Performance เถอะครับ แล้วจะไม่ผิดหวัง

จุดที่ต้องแอบหักคะแนนอย่างเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือการไม่มีเควสต์ย่อยให้ทำใน INTERmission ครับ ซึ่งทั้งเกมจะมีเพียงแค่ภารกิจหลัก มินิเกม และการเก็บ Collectible เล็กน้อย ตรงนี้มองว่าอย่างน้อยถ้ามีเควสต์ย่อยให้ทำบ้าง ก็น่าจะช่วยให้เราเรียนรู้มิติหรือพัฒนาการของตัวละครอย่างยูฟี่หรือโซนอนเพิ่มขึ้นได้บ้าง

หลังจบ INTERmission ไปแล้วรอบหนึ่ง จะปลดล็อคความยากระดับ Hard ให้เราได้ลุยต่อ ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการความท้าทายเพิ่มเติม รวมถึงยังปลดล็อคบอสลับให้เราได้สู้ทั้งในฝั่ง INTERmission ของยูฟี่และฝั่งเนื้อเรื่องหลักของคลาวด์ โดยบอสลับเราสามารถไปสู้ได้เฉพาะในความยากระดับ Hard เท่านั้น และตัวเกมก็ไม่อนุญาตให้ผู้เล่นใช้ไอเทมในระดับ Hard เหมือนกับระดับ Hard ในเนื้อเรื่องหลักเช่นกัน

สรุปแล้ว DLC Episode INTERmission นั้นมีความคุ้มค่าในระดับปานกลางค่อนไปทางคุ้มครับ โดยส่วนที่คุ้มจะไปกระจุกอยู่ที่มินิเกม Fort Condor กับบอสลับเป็นหลัก ซึ่งด้วยราคา 597 บาทนี้ก็พอให้เรามีอะไรเล่นพอเพลิน ๆ ก่อนจะเข้าสู่เดือนกรกฎาคมไปได้บ้าง


จุดเด่น

  • ระบบต่อสู้แนวแท็กทีมระหว่างยูฟี่กับโซนอนมีความน่าสนใจ เน้นรวดเร็วฉับไว คนละรสชาติกับตัวละครในเนื้อเรื่องหลักเลย
  • พล็อตเรื่องค่อนข้างกระชับ ไม่มีช่วงเนือยให้เห็นเท่าไหร่ (แม้บทสนทนาของตัวละครจะแอบเวิ่นเว้อก็ตาม)
  • เฟรมเรตโหมด Performance อยู่ในระดับเสถียรดี ทำให้การต่อสู้หรือสำรวจฉากดูลื่นไหลมาก
  • มินิเกม Fort Condor มีศักยภาพดีพอที่ Square Enix สามารถนำไปทำเป็นเกมลงมือถือหรือเครื่องแฮนด์เฮลด์ได้สบาย ๆ

จุดด้อย

  • ถ้าตัดมินิเกมออกไป รวมถึงภารกิจตามหาโปสเตอร์ เท่ากับว่า DLC นี้จะไม่มีเควสต์ย่อยให้ทำเลย

คะแนน 8


เพื่อน ๆ คนไหนที่เคยซื้อเกม Final Fantasy VII Remake เวอร์ชั่น PS4 แบบดิจิทัลดาวน์โหลดไป และอัปเกรดเป็น Intergrade สำหรับ PS5 แล้ว สามารถหาซื้อ DLC Episode INTERmission ในราคา 597 บาท ได้ที่ลิงค์ https://store.playstation.com/en-th/product/JP0082-PPSA01637_00-8094607291671776


ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ในเว็บไซต์ Online Station ได้ที่ https://www.online-station.net/

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้