รีวิวเกม Contra: Anniversary Collection – รำลึกความหลัง ทลายรังเอเลี่ยน

แพลตฟอร์ม: PS4, Xbox One, Switch และ PC
ผู้พัฒนา: Konami


ในวัยเด็กของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่อายุแตะเลข 3 ไปแล้ว อาจจะเคยคุ้นตากับเกมแอ็กชั่นนามว่า Contra บนเครื่อง Famicom ที่เป็นผู้ชาย 2 คนสวมกางเกงสีน้ำเงินและแดง เดินหน้าไล่ยิงศัตรูจนป่าราบ ดึงฉากจนทะเลาะกันหน้าทีวี ความทรงจำนั้นยังคงตราตรึงกับเราเรื่อยมา และด้วยวาระที่บริษัท Konami ในฐานะผู้พัฒนาเกมซีรีส์ Contra นั้นมีอายุครบ 50 ปีพอดี ทาง Konami จึงปล่อยเกมซีรีส์ดังๆ ในอดีตแบบมัดรวมเป็นคอลเล็กชั่นมาให้พวกเราได้รำลึกความหลังกันกับ Contra: Anniversary Collection ที่เป็นการจับเอา Contra เวอร์ชั่นคลาสสิกจำนวน 10 ภาค ที่เคยลงให้กับเครื่องตู้อาเขตหยอดเหรียญ, Famicom, Mega Drive, Super Famicom และ Game Boy มาให้เล่นกันแบบจุใจเลย

แต่ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนสักนิดครับว่า 10 ภาคที่บรรจุอยู่ใน Anniversary Collection สามารถจำแนกเป็นจำนวนเกมได้ตามนี้

1. Contra ภาคแรก

  • เวอร์ชั่นที่เคยลงตู้อาเขต = 1 เกม
  • เวอร์ชั่นที่เคยลงเครื่อง Famicom เป็นภาษาญี่ปุ่น = 1 เกม
  • เวอร์ชั่นที่เคยลงเครื่อง NES (หรือ Famicom ที่จำหน่ายในประเทศแถบตะวันตก) เป็นภาษาอังกฤษ = 1 เกม

หมายเหตุ – เวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะมีคัทซีนระหว่างฉาก และบางฉากจะมีเอฟเฟ็กต์ เช่น หิมะตกในด่าน 5 หรือ ใบไม้ขยับในด่าน 1 เป็นต้น

2. Super Contra

  • เวอร์ชั่นที่เคยลงตู้อาเขต = 1 เกม
  • เวอร์ชั่นที่เคยลงเครื่อง NES (หรือ Famicom ที่จำหน่ายในประเทศแถบตะวันตก) เป็นภาษาอังกฤษ = 1 เกม

3. Contra III: The Alien Wars

  • เวอร์ชั่นที่เคยลงเครื่อง SNES ในทวีปอเมริกาเหนือ = 1 เกม
  • เวอร์ชั่นที่เคยลงเครื่อง SNES ในทวีปยุโรป แต่ใช้ชื่อเกมว่า Super Probotector: Alien Rebels = 1 เกม

หมายเหตุ – ในทวีปยุโรปช่วงยุคทศวรรษ 80-90 นั้นมีกฎหมายควบคุมสื่อบันเทิงประเภทเกมค่อนข้างเข้มงวดครับ เขาจะไม่ให้มีเกมที่ตัวละครเป็นคนมาไล่ยิงกัน ซึ่งดูรุนแรงเกินไปสำหรับเยาวชน ทาง Konami ก็เลยไปแก้ดีไซน์ตัวละครของเราเป็นหุ่นยนต์แทนนั่นเอง

4. Contra: Hard Corps

  • เวอร์ชั่นที่เคยลงเครื่อง Genesis ในทวีปอเมริกาเหนือ = 1 เกม
  • เวอร์ชั่นที่เคยลงเครื่อง Mega Drive (เป็นชื่อของเครื่อง Genesis ที่จำหน่ายในทวีปยุโรปและญี่ปุ่น) แต่ใช้ชื่อเกมว่า Probotector = 1 เกม​​​​

5. Operation C

  • เวอร์ชั่นที่เคยลงเครื่อง Game Boy = 1 เกม

หมายเหตุ – Game Boy ในยุคนั้นมีจอแสดงผลเป็นภาพขาวดำครับ ดังนั้นภาคนี้จึงสามารถนำไปขายได้ทั่วโลกโดยไม่เห็นเลือดสีแดงๆ แน่นอน

กราฟิกและการนำเสนอ

ตัวเกมมีการนำระบบที่เรียกว่าฟิลเตอร์มาใช้ ซึ่งสามารถเข้าไปปรับได้ทุกเมื่อระหว่างเล่น โดยทุกภาคที่มีให้เล่นนั้นเดิมทีจะแสดงผลแบบ 4:3 ตามทีวีจอแก้วสมัยยุค 20-30 ปีก่อน แต่พอนำมาเล่นบนทีวีปัจจุบันที่แสดงผล 16:9 ตัวเกมก็มีออปชั่นให้เราปรับแบบ 16:9 ได้เช่นกัน แต่พอปรับดูแล้วสเกลจะออกมาเพี้ยนๆ ไปสักหน่อย จึงขอแนะนำว่าปรับแบบ 4:3 แล้วเลือกฟีเจอร์จำพวก Pixel Perfect เพื่อเกลี่ยเท็กซ์เจอร์ของภาพให้ดูคมชัดจะดีกว่า และแม้ว่าเราจะปรับการแสดงผลเป็น 4:3 ทำให้เห็นขอบดำอยู่ตรงซ้ายและขวาของจอภาพ เกมก็ยังมีกรอบแบ็คกราวด์สวยๆ ให้เราเลือกแปะไว้ไม่ให้จอของเราดูโล่งๆ อีกด้วย ซึ่งลูกเล่นนี้จะมีให้เราใช้ตั้งแต่เกม Castlevania: Anniversary Collection และ Castlevania Requiem แล้ว

เนื่องจากตัวเกมเป็นลักษณะของการพอร์ตเวอร์ชั่นดั้งเดิมมาให้เล่นกัน ด้วยเหตุนี้เฟรมเรตของเกมจึงยังดึงเอาของเวอร์ชั่นดั้งเดิมติดมาด้วย เวลาบู๊กันแบบนัวๆ มีกระสุนบินว่อนเต็มฉาก หรือศัตรูแห่มากันเป็นฝูง ปัญหาเรื่องเฟรมเรตร่วงจะผุดขึ้นมาทันที ซึ่งภาคที่พบเจอปัญหานี้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นภาคแรกกับ Super Contra ที่ลงบนเครื่อง Famicom ซึ่งสเปคเครื่องในยุคดังกล่าวเป็นเพียงเครื่อง 8-Bit เท่านั้น

เกมเพลย์

ระหว่างที่อยู่ในเกม ผู้เล่นสามารถเลือกปรับแต่งระบบ Turbo ของการยิงได้อิสระ ว่าจะให้เรารัวนิ้วยิงเอง หรือกดค้างไว้แล้วรัวเป็นชุดก็ได้เหมือนกัน ซึ่งอย่างหลังจะทำให้ชีวิตสบายขึ้นเป็นกอง อีกทั้งเกมยังมีระบบเซฟเพิ่มเข้ามา หากใครเล่นค้างถึงจุดหนึ่งแล้วต้องไปทำธุระนอกบ้าน ก็สามารถเซฟตรงจุดนั้น แล้วกลับมาโหลดใหม่ ลุยใหม่ตรงจุดที่เราเล่นค้างได้เลยโดยไม่ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นด่าน

อย่างไรก็ดี การปรับแต่งปุ่มของเกมนี้จะแยกเป็นเอกเทศจากกัน ถ้าเราเล่นภาคใดภาคหนึ่งและมีการปรับแต่งปุ่มไป พอเราจะเปลี่ยนไปเล่นภาคอื่น ก็จำเป็นจะต้องมาปรับแต่งค่าปุ่มต่างๆ ใหม่อีกที แม้ว่าภาคอื่นที่เราเปลี่ยนไปเล่นนั้นจะมีวิธีการบังคับคล้ายกันอยู่แล้วก็ตาม (เช่นภาคที่เคยลงแพลตฟอร์มเดียวกัน)


จุดเด่น

  • ระบบเซฟของเกมมีความสะดวกสบายมาก เคยเซฟไว้ตรงไหน พอโหลดใหม่มาก็เริ่มที่ ณ จุดนั้นได้เลย
  • โทรฟี่หรือ Achievement ของเกมเน้นสบายๆ เงื่อนไขมีแค่เล่นเคลียร์ให้ครบทุกภาคที่ Konami มัดรวมมาให้เท่านั้น
  • ฟิลเตอร์หรือการปรับการแสดงผลของภาพในเกมที่มีให้ใช้ ค่อนข้างอำนวยความสะดวกพอสมควรตามสมัยนิยม

จุดด้อย

  • แม้ว่าเกมที่มีในลิสต์จะมีมากถึง 10 เกม แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วมันคือการเอา “บางภาค” มาให้เราเล่นแบบ “ครบทุกเวอร์ชั่น” เท่านั้น เช่นบางภาคเอาเวอร์ชั่นตู้อาเขต, เวอร์ชั่น Famicom ภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาอังกฤษ นำมารวมกันก็แอบเนียนมาได้แล้ว 3 เกม
  • การเซ็ตปุ่มของเกมจะทำแบบแยกภาคกัน ถ้าเคยเซ็ตปุ่มสำหรับภาคไหนไปแล้ว หากไปเล่นภาคอื่นก็ต้องทำการเซ็ตปุ่มใหม่หมด
  • เฟรมเรตของเกมไม่ได้มีการปรับแก้จากเวอร์ชั่นดั้งเดิม เวลามีศัตรูหรือวัตถุปรากฎอยู่บนจอมากๆ เฟรมจะกระตุกอย่างเห็นได้ชัด (โดยเฉพาะภาคที่ลงบนเครื่อง Famicom)

สรุป

  • เกมนี้จะเหมาะมากกับผู้ที่ไม่เคยเล่น Contra ภาคเก่าๆ บนแพลตฟอร์มอื่นนอกจาก Famicom มาก่อน โดยตัวเกมพยายามตอบโจทย์พฤติกรรมผู้เล่นในยุคปัจจุบันที่ลำพังการ Pause เกมชั่วคราวอาจจะไม่เพียงพอ ระบบเซฟเลยเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้ตรงจุดกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้รีวิวก็ยังคงรู้สึกว่าการมัดรวมภาคเก่าๆ เช่นนี้ควรจะนำมาให้ครบทุกภาคเลยดีกว่า (เช่น ภาค 4 ที่ลง Nintendo DS หรือภาค Neo Contra กับ Shattered Soldier ที่เคยลง PS2 ก็ไม่ถูกนำมารวมด้วย) ดังนั้นการนำมาแต่เพียงภาคสไตล์คลาสสิคเลยทำให้ตัวเลือกดูน้อยลงไปถนัดตา

คะแนน 6 / 10

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้