ไขข้อข้องใจ! รีมาสเตอร์ / รีเมค / รีบูต ต่างกันยังไง มีบอกให้หมดเปลือก

โลกของวงการเกมในรอบหลายปีหลัง เรามักจะได้เห็นคำว่า รีมาสเตอร์, รีเมค หรือ รีบูต กันบ่อยมาก ซึ่งคำเหล่านี้ไม่ได้มีการจำกัดวงของการใช้เฉพาะแค่อุตสาหกรรมเกมครับ หากแต่วงการภาพยนตร์หรือสื่อบันเทิงบางประเภทก็มีการใช้คำพวกนี้ด้วยเหมือนกัน ทว่าเมื่อเรามองถึงภาพรวมแล้ว การรีมาสเตอร์, รีเมค หรือรีบูต ต่างก็เป็นวิธีที่ทางผู้พัฒนาเกมเลือกใช้เพื่อกระตุ้นกระแสของเกมนั้นๆ ให้ยังคงอยู่ และเป็นการเบิกทางสู่ความคิดใหม่ๆ ให้อยู่รอดตามยุคสมัยครับ โดยบทความนี้จะอธิบายและให้ความรู้แก่เพื่อนๆ ที่อาจจะยังสงสัยว่าคำเหล่านี้มันมีความหมายแตกต่างกันอย่างไร จะได้เห็นภาพกันง่ายขึ้นจ้า


1. รีมาสเตอร์ (Remaster)

รีมาสเตอร์คือการหยิบเอาเกมที่เคยวางจำหน่ายเมื่อหลายปีก่อน หรือถ้าเป็นกรณีของเครื่องคอนโซล ก็จะเป็นเกมที่เคยวางขายบนเครื่องเจเนอเรชั่นที่แล้ว หรือก่อนหน้านั้นไปอีก มาปรับปรุงหรือแก้ไขกราฟิกใหม่ให้ดูคมชัดยิ่งขึ้น หรือบางเกมก็จะแก้ไขเฟรมเรตให้ลื่นขึ้นด้วย ซึ่งก็จะมีทั้งเกมที่เคยทำกราฟิกแบบ 4:3 รองรับกับทีวีจอแก้วแบบเก่า (CRT) พอเอามารีมาสเตอร์ก็ปรับให้รองรับกับขนาดจอภาพ 16:9 และแสดงผลกราฟิกแบบ Full HD 1080p เป็นต้น โดยกระบวนการนี้ ทางทีมพัฒนาจะแทบไม่ไปยุ่งอะไรกับเนื้อเรื่องหรือเกมเพลย์เลย สิ่งที่ทำจะมีเพียงแค่ “เกลา” หรือ “เกลี่ย” ภาพให้ดูคมชัดเมื่อเปิดเล่นกับทีวีหรือมอนิเตอร์ยุคปัจจุบันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม รีมาสเตอร์จัดว่าเป็นวิธีการปรับปรุงเกมที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดแล้วครับ เพราะหน้าเกมก็ยังเป็นเกมเดิม เอนจิ้นที่ทำกราฟิกก็ยังเป็นตัวเดิม เนื้อเรื่องเดิม เกมเพลย์เดิม แค่ไปปรับภาพให้คม แก้เฟรมเรตแล้วปล่อยขายเลย ใช้ทุนก็น้อย เหมาะสำหรับการปลุกกระแสเบาๆ ให้แฟนๆ หายคิดถึง


2. รีเมค (Remake)

Resident Evil ภาคแรก และ Resident Evil 2 น่าจะเป็นเกมที่ตรงกับความหมายของข้อนี้ที่สุดครับ นั่นก็คือการเอาเกมที่เคยวางขายเมื่อนานมาแล้ว กลับมารื้อทำกราฟิกใหม่ ด้วยเอนจิ้นตัวใหม่ ดังเช่นที่เราเห็นสถาปัตยกรรมในสถานีตำรวจแร็คคูนซิตี้เป็นรูปแบบใหม่ สวยงามกว่าเดิม ไอเทมบางชิ้นที่เคยปรากฏในเวอร์ชั่นออริจินัลก็ยังคงมีในเวอร์ชั่นรีเมค แต่ในเวอร์ชั่นรีเมคก็จะมีไอเทมชนิดใหม่เพิ่มเข้ามาด้วย เป็นต้น

รีเมคก็เป็นอีกวิธีที่ใช้เปลี่ยนแปลงตัวเกมชนิดที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ขึ้นอยู่กับว่าตัวเกมมีการเปลี่ยนแปลงเกมเพลย์มากแค่ไหน เพราะคนเล่นจะรู้สึกว่าเกมมันเปลี่ยนไปในทางดีหรือไม่ดี เกมเพลย์จะส่งผลกระทบกับด้านนี้มากกว่ากราฟิกครับ (โดยปกติถ้ากราฟิกดีขึ้น คนมักจะชอบกันอยู่แล้ว)


3. รีโนเวท (Renovate)

กรณีของรีโนเวตจะพบเห็นได้ไม่บ่อยนักครับ ซึ่งสาเหตุที่นักพัฒนาเลือกใช้วิธีนี้กับเกมสักเกมนึง เขาจะมองว่าเกมนั้นยังมีเนื้อเรื่องที่สามารถดำเนินตามเส้นเรื่องเดิมได้อยู่ หากแต่พวกเขาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเกมเพลย์ให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น หรือมองว่ามีอะไรที่สามารถทำร่วมกับเกมเพลย์แบบใหม่ได้มากกว่า

ด้านความหมายของรีเมคกับรีโนเวท จะต่างกันในเรื่องของที่มาของเกม โดยรีเมคคือการหยิบเอาเกมที่เคยวางจำหน่ายในอดีตมารื้อทำกราฟิกใหม่ บางเกมอาจทำเกมเพลย์ใหม่ด้วย แต่จะไม่ยุ่งอะไรกับเนื้อเรื่องมากนัก เกมในเวอร์ชั่นเดิมจบอย่างไรก็จะยึดของเดิมไป เช่น วิลเลียม เบอร์คิน เคยตายในรถไฟ พอเอามารีเมคก็จะยังโดนเราปราบในรถไฟเหมือนเดิม คนหนีรอดจากแร็คคูนซิตี้ในตอนจบเนื้อเรื่องหลัก ของเดิมมีลีออน แคลร์ เชอร์รี่ และเอด้า พอเอามารีเมคก็ยังเป็น 4 คนนี้เช่นเคย ในขณะที่รีโนเวทจะเป็นการหยิบเกมมาแก้เกมเพลย์ ทว่าเนื้อเรื่องยังใช้ของเดิม แต่เซ็ตพล็อตเรื่องให้ดำเนินต่อไปข้างหน้า เรื่องราวสานต่อจากภาคก่อน

เกมที่เข้าข่ายนี้ ขอยกตัวอย่าง 2 เกมได้แก่ Resident Evil 4 และ God of War ภาคล่าสุดครับ ซึ่ง Resident Evil 4 ยังคงใช้เนื้อเรื่องตามไทม์ไลน์เดิม พระเอกยังคงเป็นลีออนที่เคยปรากฏตัวใน Resident Evil 2 อีกทั้งยังมีการพูดถึงบริษัท Umbrella ให้ดูมีความเชื่อมโยงกับภาคก่อนๆ แต่มีการเปลี่ยนเชื้อร้ายจากไวรัสมาเป็นปรสิต พร้อมกับปูเรื่องประมาณว่าคนที่ได้รับเชื้อปรสิตไปยังมีความคิดอ่านแบบมนุษย์อยู่ พวกมันมีความฉลาดกว่าซอมบี้ที่เดินหาเราแบบทื่อๆ และสามารถเรียกพวกมาล้อมหน้าล้อมหลังเราได้ รวมถึงมีความพยายามทุกวิถีทางในการบุกเข้ามาหาเรา

ด้วยความที่ศัตรูมีลูกเล่นใหม่ดังที่กล่าว เกมเพลย์จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ลีออนรับมือกับศัตรูได้ดีขึ้น มุมกล้องแบบมองผ่านหัวไหล่เลยเข้ามาตอบโจทย์เกมเพลย์สไตล์ใหม่ ผู้เล่นสามารถเลือกเล็งยิงจุดต่างๆ บนตัวศัตรูได้ ซึ่งศัตรูแต่ละตัวก็จะมีจุดอ่อนในตำแหน่งที่แตกต่างกันไป ต่างจาก Resident Evil สมัยที่ใช้มุมมองแบบกล้องวงจรปิด ที่ตัวละครจะไม่สามารถเลือกเล็งได้ตามใจชอบ ทำให้อิสระของผู้เล่นถูกตีกรอบมากเกินไป

ส่วนทางด้าน God of War ก็เช่นกันครับ โดยทีมพัฒนาเองมองว่าเกมเพลย์ที่ใช้มาตลอดตั้งแต่ภาคแรกมันเป็นสไตล์แอ็กชั่นกึ่งแพลตฟอร์มที่ต่อยอดอะไรไม่ค่อยได้แล้ว ก็เลยเปลี่ยนมาใช้มุมกล้องที่เซ็ตไว้ด้านหลังเครโทสบ้าง รวมถึงปรับโครงสร้างของเกมให้เป็นเกมแนวแอ็กชั่นผสมองค์ประกอบบางอย่างของเกมแนว RPG เข้ามาด้วย เช่น ระบบอาวุธชุดป้องกัน การทำเควสต์ การสร้างไอเทม และ ร้านอัพเกรด ฯลฯ ซึ่งหากใครยังจำกันได้ คงพอทราบว่า God of War สไตล์เดิมนั้นเราจะลุยไปข้างหน้าอย่างเดียว แทบไม่มีย้อนกลับมายังฉากเดิมเท่าไหร่นัก เว้นแต่ฉากที่สำคัญต่อเนื้อเรื่องจริงๆ นอกจากนี้ God of War ภาคล่าสุดก็มีคุณค่าในการกลับมาเล่นซ้ำสูงกว่าแบบเก่า เพราะผู้เล่นสามารถพลิกแพลงการสวมใส่ไอเทมที่จะมีสกิลติดตัวที่ให้ผลแตกต่างกัน เหมาะแก่การประยุกต์ไปเล่นสายอื่นได้ ทำให้ตัวเกมไม่ค่อยมีความจำเจ

ทั้ง 2 เกมที่กล่าวมา เรายังคงความรู้สึกได้อยู่ว่า ลีออนกับเครโทสก็ยังเป็นคนเดิม เป็นพระเอกผู้เคยมีอดีตที่เราเคยสัมผัสจากภาคเก่าๆ มาก่อน เพียงแต่เขาได้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ได้เจอประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะเครโทสที่เป็นตัวละครที่มีการพัฒนาด้านความคิดและมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไปตามวุฒิภาวะ ผู้เล่นจึงสามารถเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กับเครโทสได้ด้วย


4. รีบูต (Reboot)

หากนับจากทุกข้อ รีบูตถือเป็นกลวิธีที่มีความเสี่ยงสูงสุดครับ สาเหตุก็เพราะว่ารีบูตนั้นคือการหยิบเกมมารื้อทำใหม่ในทุกๆ ด้าน เนื้อเรื่องถูกนำมาตีความใหม่ แต่เดิมพระเอกอาจเคยมีที่มาแบบนี้ มีเส้นเรื่องแบบนี้ ทว่าพอรีบูตแล้ว ทีมเขียนบทอาจนำมาเล่าในรูปแบบอื่น รวมถึงเกมเพลย์ที่เปลี่ยนใหม่หมดเช่นกัน ดังนั้นผู้เล่นจะเกิดความรู้สึกว่าเกมนั้นเป็นเกมใหม่ไปเลย

ตัวอย่างเกมที่ถูกนำมารีบูตก็เช่น Castlevania: Lords of Shadow ครับ ถ้าใครที่เคยเล่นเกมซีรีส์นี้มาก่อนก็คงพอจำได้ว่าโครงเรื่องมันจะประมาณ ท่านเคาท์แดร็กคูล่ากลับมาคืนชีพในรอบกี่ปีก็ว่าไป แล้วก็จะมีคนของตระกูลเบลมอนท์บุกไปปราบแดร็กคูล่า สืบทอดวีรกรรมแบบนี้รุ่นสู่รุ่น วนเวียนลากยาวมาเป็นสิบๆ ภาค ทว่าในภาค Lords of Shadow จะเป็นการเขียนโครงเรื่องขึ้นใหม่เลย ไม่มีอีกแล้วกับการคืนชีพของแดร็กคูล่า ในทางกลับกัน ทีมเขียนบทใช้วิธีเล่าใหม่ว่าพระเอกคือคนของตระกูลเบลมอนท์ที่โชคชะตาพลิกผัน ทำให้ตัวเขากลายเป็นแดร็กคูล่าซะเอง พร้อมกับปูเรื่องเนียนๆ มีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เล่นคล้อยตามและเห็นใจกับสิ่งที่พระเอกเจอ อะไรประมาณนี้

ที่ผ่านมา เกมที่ผ่านกระบวนการรีบูต มีทั้งปังและแป้กครับ ซึ่งส่วนใหญ่จะหนักไปทางแป้ก เพราะการนำเกมที่เคยเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ ไปปรับโฉมจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม มันย่อมส่งผลกระทบกับพวกเขาอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ารีบูตแล้วเกมยังสนุก น่าติดตามเหมือนเดิม ก็เสมอตัวไป ผลพลอยได้ก็คือได้แฟนๆ หน้าใหม่มาด้วย แต่ถ้ารีบูตแล้วพัง ก็เรียกได้ว่าซีรีส์นั้นแทบถึงกาลอวสานเลยทีเดียว

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้