Empire: Total War สุดยอดเกมวางแผนการรบแห่งยุค (Part I)

สุดยอดวางเกมแผนการรบแห่งยุค ที่จะมาประกาศศักดาว่าความคิดสร้างสรรค์ของ CreativeAssembly  นั้นไร้ที่สิ้นสุด

ประเภท: REAL-TIME/TURN-BASED STRATEGY
ผู้พัฒนา: CREATIVE ASSEMBLY
ผู้ผลิต: SEGA
ผู้จัดจำหน่าย: NEW ERA

ซีรีส์ Total War นั้นเป็นหนึ่งในซีรีส์เกมวางแผนการรบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ Shogun: Total War ภาคแรกของซีรีส์ ไล่มาเป็น Medieval: Total War, Rome: Total War, Medieval II: Total War ทุกภาคล้วนแล้วแต่เป็นผลงานสร้างสรรค์ชั้นยอดที่มีแต่จะยกระดับคุณภาพของตัวเองให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างกับบางเกมที่อาศัยกินบุญเก่าจากชื่อซีรีส์มาขาย แต่ขาดการขัดเกลาและพัฒนาอย่างมาก จนกลายเป็นความล้มเหลวและสร้างความด่างพร้อยให้กับซีรีส์ของตัวเองไปในที่สุด Total War แต่ละภาคนั้นได้รับการสร้างสรรค์และพัฒนามาเป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่ยกระดับกราฟิกของเกมขึ้นไปตามยุคสมัย แต่รูปแบบการเล่นและระบบของเกมก็ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้การมาของซีรีส์ Total War ภาคใหม่ๆ นั้นสามารถสร้างความประหลาดใจและพึงพอใจให้กับผู้เล่นได้เสมอๆ คุณภาพของเกมที่ดูจะยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนเหมือนว่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้วทำให้หลายคนอาจเริ่มมีคำถามในใจว่า ซีรีส์ Total War นี่ได้มาถึงจุดสูงสุดของตัวเองแล้วหรือไม่ จะสามารถพัฒนาเกมที่อยู่ในระดับสุดยอดอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีกได้อย่างไร และภาคล่าสุดของซีรีส์นี้คือ Empire: Total War เป็นคำตอบที่ชัดเจนจาก Creative Assembly ว่า ความสามารถในการพัฒนาและสร้างสรรค์เกมของพวกเขานั้นไร้ที่สิ้นสุดครับ

วิวัฒนาการแห่ง Total War

Shogun: Total War (2000)

ภาคแรกของซีรีส์ Total War ซึ่งผสมผสานการเล่นแบบ Turn-Based เข้ากับ RTS ได้อย่างกลมกลืน ผ่านทางสมรภูมิของญี่ปุ่นในยุคซามูไร รูปแบบการเล่นที่ลงตัว แผนการเล่นที่นับว่าหลากหลายทั้งในส่วนของการบริหารจัดการและการวางแผนการรบ ประกอบกับสมรภูมิการรบที่ยิ่งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ Shogun: Total War สามารถบุกเบิกมิติใหม่ของเกมวางแผนการรบได้อย่างงดงาม

Medieval: Total War (2002)

ภาคที่สองของซีรีส์ Total War ซึ่งคราวนี้ย้ายไปที่สมรภูมิของยุโรปยุคกลางแทน รายละเอียดที่เพิ่มขึ้นทั้งในการเล่นแบบบริหารจัดการและการวางแผนการรบ รวมทั้งการเพิ่มอีเวนท์สำคัญของยุคเข้ากับการเล่น เช่น สงครามครูเสด ทำให้มีความลุ่มลึกเพิ่มขึ้นมาก เป็นภาคต่อที่ยังคงรักษามาตรฐานเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และประสบความสำเร็จไม่แพ้ภาคแรกเลย

Rome: Total War (2004)

หนึ่งในภาคที่จัดเป็นสุดยอดของซีรีส์ Total War ซึ่งมีธีมหลักเป็นสมรภูมิการรบในยุคโรมัน Rome: Total War เป็นภาคแรกของซีรีส์ที่มีการรบด้วยสมรภูมิสามมิติเต็มรูปแบบ (สองภาคก่อนหน้าจะใช้ยูนิตที่เป็นรูปภาพสองมิติ รบกันบนแผนที่สามมิติแทน) ทำให้ผู้เล่นได้สัมผัสความยิ่งใหญ่อลังการและสมจริงของสนามรบแบบสามมิติอย่างเต็มอรรถรส จัดเป็นหนึ่งในสุดยอดประสบการณ์การเล่น RTS แห่งยุคนั้น และยังคงความคลาสสิกมาจวบจนทุกวันนี้

Medieval II: Total War (2007)

เป็นภาคที่สี่ของซีรีส์ Total War และเป็นภาคที่สองของยุค Medieval ในซีรีส์นี้อีกด้วย ซึ่ง Medieval II ไม่ได้เป็นเพียงแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ แต่ยังนำเสนอการพัฒนาแบบยกระดับของซีรีส์นี้ขึ้นไปอีกขั้นทั้งกราฟิกและระบบการเล่น ไหนจะมีภาคเสริมสุดคุ้มค่าอย่าง Kingdom อีกด้วย ทำให้ Medieval II ขึ้นแท่นเกมคลาสสิก ตามรุ่นพี่คนอื่นๆ ไปได้อย่างเต็มภาคภูมิ

Empire: Total War (2009)

ภาคล่าสุดของซีรีส์ Total War ซึ่งกลับมารักษามาตรฐานของตระกูลซึ่งภาคก่อนๆ ได้ทำเอาไว้สูงอยู่แล้ว และทุกๆ ภาคก็จะมีการยกระดับมาตรฐานของซีรีส์ให้สูงล้ำขึ้นไปอีก Empire: Total War จึงถูกคาดหวังเป็นอย่างมาก ทั้งจากแฟนๆ กลุ่มเดิม และผู้เล่นหน้าใหม่ที่ต้องการจะสัมผัสความยิ่งใหญ่ตระการตาของซีรีส์นี้ ว่า Empire: Total War จะสามารถยกระดับเกมที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้วให้เหนือชั้นขึ้นไปกว่าเดิมได้ในรูปแบบไหน

พวกชนพื้นเมืองในช่วงต้นเกมก็ไม่ต่างอะไรกับเป้าซ้อมยิงวิ่งได้ จวบจนกระทั่งพวกมันใช้ปืนเป็นน่ะนะ

ขอต้อนรับสู่ยุคล่าอานาณิคมในแบบฉบับ Total War

สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนของซีรีส์นี้มาก่อน Empire: Total War (รวมถึงภาคอื่นๆ ในซีรีส์ Total War) คือเกมที่ผสมผสานการเล่นบริหารจัดการในรูปแบบ Turn-Based บนแผนที่ขนาดใหญ่ เข้ากับการควบคุมการรบแบบ RTS บนสมรภูมิย่อย ผู้เล่นจะต้องสวมบทผู้นำประเทศ คอยบริหารจัดการอาณาจักรของตนโดยการสำรวจพื้นที่ พัฒนาเมืองต่างๆ และสะสมกำลังทหาร รวมไปถึงเจรจาการทูตกับประเทศใกล้เคียง เพื่อกำหนดแนวทางความเป็นไปของประเทศโดยรวม และในขณะเดียวกัน เมื่อเข้าสู่สนามรบ ผู้เล่นก็จะต้องสวมบทเป็นผู้บัญชาการกองทัพ วางแผนกลยุทธ์และสั่งการกองทหารนับพันๆ เข้าโรมรันกับกองทัพของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในภาคนี้จะมีธีมหลักเป็นยุคล่าอาณาณิคมในช่วงศตวรรศที่ 18 โดยมีพื้นที่การรบเป็นสามภูมิภาคหลักของยุคล่าอานาณิคม คือ ยุโรป อเมริกาเหนือ และอินเดีย ทำให้ภาคนี้มีความท้าทายในการเล่นเพิ่มขึ้นมาก เพราะผู้เล่นต้องคอยบริหารจัดการเมืองและกองทัพในหลายภูมิภาคที่อยู่กันคนละซีกโลกในเวลาเดียวกัน

สามทวีปหลักและอีกสี่เขตการค้าคือสมรภูมิที่คุณสามารถละเลงเลือดได้ในภาคนี้

ผู้เล่นขาประจำของซีรีส์นี้จะได้พบความคุ้นเคยจากรูปแบบการเล่นที่มีพื้นฐานไม่ต่างจากเดิมนัก และเกมก็ยังมี Tool Tip ที่มีประโยชน์ คอยแนะนำให้ผู้เล่นทุกคนสามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งใหม่ๆ ในเกมได้ แต่แม้จะเป็นขาประจำของซีรีส์นี้ก็อาจยังต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งในการที่จะเรียนรู้และเข้าถึงแก่นแท้ของเกมได้อย่างสมบูรณ์ เพราะในภาคนี้ได้มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ทำให้การบริหารจัดการต่างไปจากภาคก่อนๆ ซึ่งแม้จะดูยุ่งยากซับซ้อนในทีแรก แต่เมื่อเข้าใจรูปแบบการทำงานของระบบต่างๆ ในเกมแล้วก็จะพบว่าการบริหารจัดการในเกมนั้นไม่ได้ซับซ้อนเกินจะเข้าถึง สำหรับผู้เล่นทั้งเก่าและใหม่ที่ต้องการจะเรียนรู้การเล่นตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงก็สามารถเข้าเล่นในโหมดกึ่ง Tutorial ของเกมได้ในหัวข้อ Road to Independence ในโหมด Single Player

 

Road to Independence

Road to Independence เป็นโหมดสอนการเล่นที่ออกแบบมาอย่างยอดเยี่ยม ช่วยให้ผู้เล่นใหม่เรียนรู้ระบบเกมได้ และผู้เล่นเก่าก็สามารถสนุกสนานกับมินิแคมเปญไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะสอนการเล่นตั้งแต่พื้นฐานการบัญชาการรบ ไปจนถึงการบริหารจัดการอาณาณิคม แต่สเกลการเล่นจะค่อยๆ ขยับขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทางเอพพิโสดทั้ง 4 ของโหมดนี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการบุกเบิกดินแดนใหม่ นับตั้งแต่นักสำรวจกลุ่มแรกขึ้นไปเหยียบแผ่นดินอเมริกา รบรากับชนพื้นเมืองและก่อตั้งอาณาณิคม ขยับขยายดินแดน ไปจนถึงประกาศอิสรภาพและทำสงครามปลดแอกจากประเทศแม่ในยุโรป ซึ่งในโหมดนี้เกมจะค่อยๆ ให้ผู้เล่นทั้งเก่าและใหม่ได้เรียนรู้ระบบของเกมไปพร้อมๆ กับการเล่นผ่านภารกิจอิงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ นับว่า Road to Independence เป็นโหมดสอนการเล่นที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี สามารถผสมผสานการแนะนำผู้เล่นไปพร้อมๆ กับนำเสนอเนื้อหาในการเล่นได้อย่างลงตัว โดยที่ไม่สูญเสียเป้าหมายหลักอย่างใดอย่างหนึ่งไป ดังนั้นมันจึงคุ้มค่าสำหรับผู้เล่นขาประจำของซีรีส์ที่จะเล่นในโหมดนี้ เพื่อจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเกมไปพร้อมๆ กับรับความสนุกสนานในแคมเปญระดับย่อยๆ นี้ได้ในเวลาเดียวกัน โหมด Road to Independence จึงจัดเป็นโหมด Tutorial ที่ได้รับการออกแบบมาอย่างชาญฉลาดมาก

เงื่อนไขของผู้พิชิต

นอกเหนือจากโหมดสอนการเล่นกึ่งแคมเปญอย่าง Road to Independence แล้ว ผู้เล่นก็สามารถเล่นในโหมด Grand Campaign ได้เช่นเคย โดยสามารถเลือกประเทศที่ต้องการเล่นได้ถึง 11 ประเทศ และเลือกรูปแบบ Win Condition ได้อีก 4 แบบด้วยกัน อย่างแรกคือ Short Campaign ซึ่งจะมีเวลาให้ประมาน 50 ปี (1700 – 1750) ในการให้เรายึดครองเมืองหลวงให้ได้ 15 – 25 เมือง (แล้วแต่ประเทศที่เราเลือกเล่นว่ามีความได้เปรียบเสียเปรียบในช่วงต้นเกมแค่ไหน) โดยมีเมืองที่เกมกำหนดไว้อยู่ในจำนวนนี้ด้วย ส่วน Long Campaign นั้นก็จะยาวขึ้นไปอีกหน่อยคือต้องยึดเมืองหลวงให้ได้ 25 – 35 เมือง แต่ก็จะมีเวลาให้มากกว่าเดิม คือมีเวลาประมาน 99 ปี (1700 – 1799) หรืออาจเล่นในเงื่อนไข World Domination ที่ต้องยึดครองโลกเกือบทั้งใบ โดยครอบครองเมืองหลวงให้ได้ 40 – 50 เมือง ก่อนสิ้นสุดปี 1799 (เกมนี้ 2 เทิร์น นับเป็น 1 ปีในเกม สรุปคือ 100 ปีในเกมก็เท่ากับจำกัดเทิร์นเล่นประมาน 200 เทิร์นนั่นเอง) ซึ่งทั้งสามเงื่อนไขนี้ก็เคยมีอยู่ในภาคก่อนหน้าแล้ว
แต่เงื่อนไขการเอาชนะแบบใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในภาค Empire: Total War นี้คือเงื่อนไขการชนะแบบ Prestige Victory ซึ่งเป็นคุณสมบัติใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในเกม โดยค่า Prestige นั้นจะคำนวณจากขนาดของกองทัพบกกับกองทัพเรือ และเทคโนโลยีที่วิจัยได้ รวมกับกำลังการผลิตและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งทั้ง 4 อย่างนี้จะนำมาบวกรวมกันเป็นค่า Prestige ของประเทศแต่ละประเทศ การเอาชนะด้วยเงื่อนไขแบบ Prestige Victory นั้นเราจะต้องครอบครองเมืองหลวง 15 – 25 เมือง และเป็นประเทศที่มีค่า Prestige สูงที่สุดในโลกเมื่อสิ้นสุดปี 1799 ด้วย เงื่อนไขการเอาชนะแบบใหม่ที่เพิ่มมานี้ทำให้รูปแบบการเล่นเปิดกว้างขึ้นอีกมาก เป็นทางเลือกสำหรับผู้เล่นที่ชอบเล่นสไตล์ตั้งรับและพัฒนาเป็นหลัก จะสามารถเล่นในไสตล์ที่ชอบได้ ไม่ต้องทำสงครามขยายดินแดนเพื่อเอาชนะแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

เงื่อนไขการชนะของแต่ละประเทศจะมากน้อยต่างกันไป ตามความแข็งแกร่งของประเทศนั้นๆ ในตอนเริ่มเกม

Prestige คือเงื่อนไขใหม่ในการจบเกม สำหรับผู้ที่ไม่มุ่งเน้นการทำสงคราม

ถึงแม้ว่าเงื่อนไขการเอาชนะเกมแบบหลักๆ จะมีเพียงแค่ 4 รูปแบบเท่านั้น แต่ในการเล่นจริงๆ แล้ว สถานการณ์ของแต่ละประเทศในตอนเริ่มเกมนั้นค่อนข้างที่จะแตกต่างกันมาก ส่งผลให้การวางแผนการเล่นและประสบการณ์ในการเล่นแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น Great Britain (สหราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นประเทศอยู่บนเกาะ ทำให้ค่อนข้างปลอดภัยจากการรุกรานทางพื้นดินและมีระบบเศรษฐกิจยอดเยี่ยมเพราะครอบครองเส้นทางการค้าทางน้ำเอาไว้มากมาย จึงต้องเน้นการเสริมกำลังรบทางน้ำเพื่อปกป้องเมืองท่าต่างๆ และเส้นทางการค้าที่มี จากการคุกคามของเหล่าโจรสลัดและประเทศคู่อริ นอกจากนี้ยังขยายอาณาณิคมในดินแดนใหม่อย่างอเมริกาและอินเดียได้ง่าย แต่ค่อนข้างลำบากในการชิงแผ่นดินใหญ่ในยุโรปกับประเทศอื่นๆ ส่วน Austria ที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ของยุโรปจะพบปัญหาบีบคั้นจากประเทศใกล้เคียงทั้งเหนือใต้ ทำให้ต้องเน้นการเสริมกำลังภาคพื้นดินอย่างมาก และอาจไม่ได้ออกไปล่าอาณาณิคมแข่งกับใครเลยจวบจนจบเกม ดังนั้นจึงพูดได้ว่า แต่ละประเทศก็มีแนวทางการเล่นของตัวเองที่แตกต่างกันไปตามแต่ปัจจัยและสถาณการณ์ในตอนเริ่มเกม ผู้เล่นจึงจะได้รับประสบการณ์ในการเล่นที่แตกต่างกันเมื่อเริ่มเล่นใหม่ด้วยประเทศอื่นๆ เสมอ แม้จะเลือก Win Condition แบบเดียวกันก็ตาม

ระบบเมืองแบบใหม่เพิ่มความยุ่งยากในการบริหารเล็กน้อย แต่เพิ่มความลึกให้กับเกมเป็นอย่างมาก

โครงสร้างใหม่ นำไปสู่กลยุทธ์ใหม่

ระบบการบริหารจัดการในภาคนี้มีความซับซ้อนขึ้นกว่าภาคก่อนๆ พอสมควร โดยแทนที่จะควบรวมสิ่งก่อสร้างทั้งหมดของพื้นที่นั้นเอาไว้ภายในเมืองประจำพื้นที่เหมือนกับภาคก่อนๆ แต่ภาคนี้แต่ละพื้นที่จะมีเหมืองหลวง (Region Capital) ประจำอยู่เพียงเมืองเดียว ซึ่งมีอาณาเขตการปกครองมากน้อยแตกต่างกันไป (Region Capital บางแห่งอาจครอบคลุมพื้นที่เท่ากับเมืองของภาคก่อนๆ 4-5 เมืองเลยทีเดียว) และกระจายสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ออกไปยังพื้นที่นอกเมืองแทน อย่างเช่น ท่าเรือ ฟาร์ม หรือแหล่งทรัพยากรอื่นๆ เช่น เหมืองแร่ จะถูกแยกเป็นเอกเทศจากตัวเมืองหลวง นอกจากนี้ยังมีเมืองย่อย (Town) อีกหลายเมืองซึ่งกระจายกันอยู่โดยรอบอาณาเขตปกครองของเมืองหลวงให้เลือกสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อเพิ่มโบนัสให้กับเมืองหลวงได้ ซึ่งอัตราความเร็วในการเกิดของ Town ก็ขึ้นกับค่า Growth ของเมืองหลวงนั่นเอง

Town ที่ผุดขึ้นมาใหม่นั้นสามารถเลือกพัฒนาสิ่งก่อสร้างได้ 4 อย่าง ตามแต่ความต้องการของเรา

ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้การบริหารจัดการพื้นที่แต่ละพื้นที่นั้นต้องใช้เวลามากขึ้นเล็กน้อย เพราะการกระจายสิ่งก่อสร้างออกไปนอกตัวเมืองทำให้เราไม่สามารถบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างทั้งหมดในพื้นที่แบบรวบยอดในหน้าจอเดียวได้ แต่ต้องเวียนดูสิ่งก่อสร้างแต่ละแห่งเพื่อสั่งการอัพเกรดทีละอัน โชคยังดีที่เกมมีคีย์ลัดในการเลื่อนไปยังสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่เราครอบครองอยู่ได้ จึงช่วยประหยัดเวลาในการลากเมาส์ค้นหาเอาเองลงได้เยอะ ข้อดีของส่วนนี้คือเราจะสามารถอัพเกรดสิ่งก่อสร้างหลายๆ ชนิดในเวลาเดียวกันได้แทนที่จะต้องมารอลำดับการสร้างก่อน-หลัง เหมือนกับตอนที่ทุกอย่างยังกระจุกอยู่ในเมือง เช่น คุณอาจอัพเกรดถนนไปพร้อมๆ กับท่าเรือและค่ายทหาร หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ พร้อมกันได้ในเวลาเดียว เพราะสิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างจะดำเนินการสร้างโดยไม่ข้องเกี่ยวกัน ช่วยร่นระยะเวลาในการก่อสร้างและพัฒนาเมืองลงได้มาก

การรบในภาคนี้จะเกิดขึ้นในพื้นที่เปิดโล่งซะส่วนใหญ่ ลดความจำเจในการตีเมืองเหมือนภาคก่อนๆ ลงได้มาก

นอกจากผลกระทบต่อส่วนของการบริหารจัดการแล้ว การกระจายสิ่งก่อสร้างออกไปนอกเมืองหลวงยังส่งผลต่อรูปแบบการรบในภาคนี้เป็นอย่างมากอีกด้วย เนื่องจากสิ่งก่อสร้างทั้งหลายแหล่ที่อยู่นอกเมืองนั้นสามารถถูกบุกโจมตีและทำลายจากกองทัพของข้าศึกได้ ทำให้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ถูกคุกคามโดยกำลังทหารได้ไปโดยปริยาย นี่จึงเป็นการบีบให้ผู้เล่น จะต้องเคลื่อนทัพของตัวเองออกจากเมืองเพื่อไปป้องกันจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่นอกเมืองด้วย การรบส่วนใหญ่ของภาคนี้จึงเป็นการสู้รบกันบนพื้นที่เปิดโล่ง มากกว่าที่จะเป็นการสู้รบแบบ Siege หรือการรบแบบโจมตี-ป้องกันเมืองเป็นหลัก อย่างที่เคยเป็นมา เพราะภาคก่อนๆ นั้น สิ่งก่อสร้างทั้งหมดจะกระจุกกันอยู่ในเมือง ซึ่งจะปลอดภัยอยู่ในการคุ้มกันของทหารและกำแพงเมือง ส่งผลให้การรบจะเกิดขึ้นในรูปแบบของการ Siege ซะส่วนใหญ่ แต่เมื่อสิ่งก่อสร้างถูกกระจายกันออกมาอยู่นอกกำแพงเมืองแบบนี้ทำให้รูปแบบการทำสงครามและการวางแผนกลยุทธ์การทำศึกต้องเปลี่ยนรูปแบบไปพอสมควร ทั้งฝ่ายตั้งรับที่ต้องเคลื่อนทัพออกมาป้องกันสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ นอกเมือง และฝ่ายโจมตีที่อาจค่อยๆ เซาะทำลายรากฐานของฝ่ายตรงข้ามด้วยการตอดสิ่งก่อสร้างรอบเมือง โดยไม่ต้องเข้าไปตีเมืองหลวงให้เหนื่อยเลยก็ได้ เรียกว่านี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การทำสงครามในเกมมีรูปแบบที่เปิดกว้างขึ้นกว่าภาคก่อนๆ มาก

ยังวิจัยดาบปลายปืนไม่เสร็จอีกเหรอพวก ถ้างั้นละก็ ชาร์จ!!

สงครามจากสามมุมโลก

สมรภูมิของ Empire: Total War ไม่ได้จำกัดการเล่นอยู่แค่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งของโลกเท่านั้น แต่เกมจะเปิดโอกาสให้คุณได้ทำสงครามล่าอาณาณิคมในสามภูมิภาคหลักๆ ของโลกในยุคนั้น ซึ่งก็คือ ยุโรป อเมริกาเหนือ และอินเดีย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการเล่นของประเทศส่วนใหญ่จะดำเนินไปในยุโรปเป็นหลัก (เพราะมีอาณาเขตใหญ่ที่สุดด้วย เนื่องจากครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ยุโรปไปจรดรัสเซียและยูเรเซีย) ส่วนชนชาตินักล่าอาณาณิคมก็จะมีสมรภูมิของอาณาณิคมในอเมริกาเหนือเพิ่มเข้ามาด้วย สำหรับอินเดียนั้นเป็นเหมือนกับพื้นที่อิสระที่ผู้เล่นสามารถเลือกที่จะยุ่งเกี่ยวหรือไม่ก็ได้ เพราะการเล่นโดยปกติของ 10 ใน 11 ประเทศที่เลือกเล่นได้นั้น ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับฝั่งอินเดียเลย แต่อย่าลืมว่าทุกๆ ดินแดนล้วนแต่เปรียบเสมือนขุมทอง โดยเฉพาะทรัพยากรจากดินแดนใหม่ๆ ที่สามารถนำมาค้าขายทำกำไรด้วย Trade Route ได้ ดินแดนทางฝั่งอินเดียจึงเป็นเพียงอีกหนึ่งทางเลือกเสริมสำหรับนักล่าอาณาณิคมที่ต้องการขยายอาณาเขต แสวงหาความมั่งคั่งให้กับประเทศเท่านั้น แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ เลือด และเวลาเช่นกัน การที่ต้องคอยบริหารจัดการทั้งเมืองและกองทัพที่อยู่กันคนละซีกโลกในเวลาเดียวกันแบบนี้ก็ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับการวางแผนและบริหารจัดการมากขึ้นด้วย

ถ้าอยากรู้ว่าทำไมพวกพลปืนใหญ่ถึงต้องทำท่าอย่างงี้ทุกครั้งที่ยิง ก็ลองซูมเข้าไปดูใกล้ๆ แล้วเปิดเสียงระดับกลางๆ ดู คุณก็จะเข้าใจเอง

ยุคทองของการค้า ยุคทองของโจรสลัด

การสร้าง Trade Route ในภาคนี้เป็นสิ่งที่ง่ายขึ้นมาก เพียงแค่เจรจาตกลงสนธิสัญญาการค้าขายกับประเทศอื่นๆ สำเร็จ ก็จะเกิดการสร้าง Trade Route ทำการค้าขายกับเมืองของประเทศคู่ค้าโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องใช้ Merchant เหมือนกับภาคก่อน และการเจรจาทางการทูตกับประเทศอื่นนั้นสามารถทำได้โดยการเปิดหน้าต่าง Diplomat ขึ้นมาก็จะสามารถติดต่อเจรจากับทุกประเทศได้ในทันที โดยไม่ต้องใช้ Diplomat ที่เป็น Agent ในการติดต่ออีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ Agent สองชนิดคือ Diplomat และ Merchant ถูกถอดออกจากเกมไป และแทนที่ด้วยระบบที่ใช้งานสะดวกสบายกว่าแทน

Trade Route ในภาคนี้สร้างได้ง่าย ทำกำไรได้มหาศาล และก็ถูกปล้นได้ง่ายด้วย

เส้นทางการค้าทางทะเลนั้นสามารถทำรายได้มหาศาล โดยเฉพาะ Trade Route ที่เชื่อมต่อกับเมืองที่มีผลผลิตพิเศษต่างๆ เช่น น้ำตาล กาแฟ ฝ้าย ใบยาสูบ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลล่อใจให้เกิดการล่าอาณาณิคมมากขึ้น ดินแดนฝั่งอเมริกาและอินเดียนั้นเต็มไปด้วยทรัพยากรและผลผลิตที่สามารถทำกำไรมหาศาลให้แก่ผู้ยึดครอง แต่เส้นทางการค้าที่มีมูลค่ามหาศาลเหล่านี้ก็นำมาซึ่งอีกสิ่งไม่พึงประสงค์ นั่นก็คือยุคทองของโจรสลัดนั่นเอง

ในเกมจะมีทั้งโจรสลัดที่เป็นฝ่ายอิสระ (มีเมืองหลวงอยู่ในหมู่เกาะแคริบเบียนด้วยนะ แต่ไม่ใช่ Tortuga แฮะ) และโจรสลัดที่ถูกสั่งการโดยประเทศของศัตรู ซึ่งเราเองก็สามารถสั่งเรือของเราให้ปล้นสินค้าจาก Trade Route ของคู่ฝ่ายตรงข้ามได้เช่นกัน ซึ่งการปล้นสินค้าจากประเทศที่เป็น Hostile นั้นจะไม่นับเป็นการประกาศสงคราม แต่กองเรือที่ปล้นสินค้าจะติดสถานะ Pirate ไป (ประมานว่าเป็นโจรสลัดที่มาจากประเทศเรา แต่รัฐบาลปฏิเสธความเกี่ยวข้องนั่นเอง) การปล้นเส้นทางการค้าทางน้ำเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่กระตุ้นให้เกิดยุทธนาวีมากขึ้นเป็นพิเศษในภาคนี้ คุณสามารถแย่งชิงรายได้จากฝ่ายศัตรูด้วยการตั้งกองเรือโจรสลัดขึ้นมาเพื่อปล้นเส้นทางการค้า และในขณะเดียวกันก็ต้องคอยป้องกันเส้นทางการค้าของคุณเองจากโจรสลัดฝ่ายตรงข้ามด้วย

ดูจากสีของใบเรือแล้ว อย่างน้อยก็ไม่มี Black Pearl อยู่ในน่านน้ำแถวนี้

นอกเหนือจาก Trade Route ตามปกติที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองต่อเมืองแล้ว ในเกมยังมีพื้นที่การค้าที่เรียกว่า Trade Theatre อีก 4 แห่ง กระจายอยู่ใน 4 ภูมิภาคของโลก คือ บราซิล, ไอเวอรี่โคส, มาดากัสกา และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละพื้นที่จะเข้าถึงได้โดยการล่องเรือไปเท่านั้น พื้นที่เหล่านี้จะไม่มีเมืองให้ยึด แต่จะมี Trade Post แห่งละ 5 จุดให้เราสามารถนำ Trade Ship เข้าไปเทียบท่าได้ ซึ่งเมื่อเรานำ Trade Ship เข้าไปเทียบท่าเพื่อสร้าง Trade Rout ใหม่ เชื่อมจาก Trade Post แห่งนั้นกลับไปยังประเทศของเรา ซึ่งมีมูลค่าการค้าขายพอสมควรเลยทีเดียว Trade Post แต่ละแห่งจะรองรับ Trade Ship ได้เพียง 1 ลำเท่านั้น หากมาช้าและอยากได้ Trade Post ก็จะต้องใช้กองเรือเข้าโจมตีขับไล่เท่านั้น และในพื้นที่ก็ยังเป็นเส้นทางการปล้นของโจรสลัดอีกด้วย ทำให้ Trade Theatre กลายเป็นสมรภูมิทางน้ำอีกแห่งหนึ่งที่มีความดุเดือดไม่แพ้สมรภูมิอื่นๆ เลย

Trade Theatre ก็เป็นอีกจุดยุทธศาสตร์ที่มีการแข่งขันสูง

ความรู้คืออำนาจ

หนึ่งในฟีเจอร์ใหม่ของภาค Empire: Total War ก็คือระบบการวิจัยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นภาคแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้วางแผนการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีได้โดยตรง การวิจัยเทคโนโลยีนั้นจะกระทำโดยผ่านทางสถาบันทางการศึกษา เช่น School ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่อยู่นอกเมืองหลวงเช่นกัน โดยสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งจะทำงานวิจัยได้หนึ่งชิ้น ถ้าเรามีสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่ง ก็สามารถทำการวิจัยเทคโนโลยีหลายๆ ชิ้นได้พร้อมกัน ทว่าจำนวนสถาบันการศึกษาที่เรามีอยู่ในครอบครองนั้นจะมีจำกัด ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดได้โดยตรง การจะสร้างสถาบันการศึกษาได้จะต้องรอให้มีเมืองย่อย (Town) ผุดขึ้นมาในพื้นที่ปกครองของเราซะก่อน แล้วเลือกสร้าง School ซะ ก็จะได้สถาบันการศึกษามาช่วยในการวิจัย

ในหน้าจอการวิจัยนั้นจะแยกสายการวิจัยได้เป็นสามสายหลักด้วยกัน นั่นก็คือ เทคโนโลยีการทหาร, เทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีการวิจัย (แต่ละอันก็มีหมวดย่อยของตัวเองด้วย) ซึ่งช่วยเพิ่มความลึกให้กับการวางแผนการเล่นได้อีกระดับหนึ่ง สำหรับคนที่เน้นการขยายอำนาจด้วยกำลังทางทหารก็อาจเน้นวิจัยเทคโนโลยีการทหารเพื่อปลดล็อกยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ มาใช้ในการรบ ส่วนผู้ที่อยากจะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจก็สามารถเน้นการวิจัยเทคโนโลยีการอุตสาหกรรมแทนได้ สำหรับเทคโนโลยีการวิจัยนั้นมีไว้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นคว้าและวิจัยโดยรวม เพื่อให้ทำการวิจัยในอีกสองสายได้เร็วขึ้นนั่นเอง ในส่วนนี้ผู้เล่นจะต้องสังเกตไอคอนการวิจัยที่จะแสดงอยู่ในกรอบการอัพเกรดสิ่งก่อสร้างให้ดีๆ เพราะสิ่งก่อสร้างในระดับที่สูงขึ้น มักจะต้องการเทคโนโลยีเฉพาะเพื่อปลดล็อคการสร้าง มิฉะนั้นเราก็จะไม่สามารถอัพเกรดสิ่งก่อสร้างนั้นได้ การเลือกลำดับการวิจัยก่อน-หลัง จึงมีผลมากในการบริหารจัดการมวลรวมของประเทศ

อ่านรายละเอียดของงานวิจัยให้ดีๆ เพราะสิ่งที่คุณข้องใจว่าทำไมในเกมถึงไม่มี อาจเพราะมันยังไม่ถูกปลดล็อกโดยการวิจัยออกมาก็ได้

ความเปลี่ยนแปลงของเหล่า Agent

แม้ว่า Merchant และ Diplomat จะถูกนำออกจากเกมไปในภาคนี้ แต่ก็มี Agent ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นมาแทน นั่นก็คือ Gentleman ซึ่งมีความสามารถหลายด้านให้เลือกใช้ อย่างแรกคือสามารถเพิ่มความเร็วในการวิจัยได้ เมื่อนำไปประจำในสถาบันการศึกษา เช่น School หรือ College ทำให้เราวิจัยเทคโนโลยีได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถขโมยเทคโนโลยีของประเทศอื่นได้ด้วย เพียงแค่นำ Gentleman เข้าไปในสถาบันการศึกษาของประเทศอื่นๆ (โอกาสสำเร็จขึ้นอยู่กับทักษะและระดับเทคโนโลยี) นอกจากนี้เราก็ยังสามารถสั่ง Gentleman ของเราให้ดวลกับ Gentleman ของประเทศอื่นได้ด้วย การดวลก็เพื่อกำจัด Gentleman ของอีกฝ่ายเพื่อตัดกำลัง โดยที่ไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั่นเอง

ในภาคนี้เราจะสร้าง Agent โดยตรงไม่ได้ แต่เหล่า Agent จะถูกสร้างขึ้นเองโดยสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในจำนวนที่จำกัด เช่น Gentleman ก็จะเกิดขึ้นเองที่สถาบันการศึกษา เช่น School หรือบาทหลวงผู้เผยแพร่ศาสนาก็จะเกิดขึ้นเองที่สิ่งก่อสร้างทางศาสนา เช่น Church โดยสิ่งก่อสร้างแต่ละอันก็จะเพิ่มจำนวนสูงสุดของ Agent ชนิดนั้นๆ ที่เราสามารถมีได้ ซึ่งก็คือยิ่งเรามีสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ในครอบครองมาก ก็จะมี Agent ไว้ใช้งานมากตามไปด้วย

Gentleman ที่มี Trait เกี่ยวข้องกับสายการวิจัย จะช่วยลดเวลาในการวิจัยลงได้อย่างมาก

สนามรบแห่งศตวรรศที่ 18 และสมองกลที่พัฒนาไปตามยุคสมัย

อาวุธปืนเป็นยุทโธปกรณ์หลักของทุกๆ กองทัพในศตวรรศที่ 18 แม้จะยังคงมีทหารม้า และอาวุธระยะประชิดอื่นๆ ให้ใช้งานอยู่บ้าง แต่โดยปกติแล้วการชิงชัยในสนามรบจะเน้นไปที่การจัดเรียงแนวยิงของเหล่าพลปืนเป็นหลัก ซึ่งวิธีที่ได้ผลที่สุดคือการสร้างพื้นที่สังหารโดยจัดเรียงพลปืนให้มีตำแหน่งองศาการยิงทับซ้อนกันเพื่อสร้างพื้นที่สังหารขึ้นมาจัดการกับข้าศึกที่อยู่ในจุดนั้น หรือจะซ้อนแถวทหารหลายๆ กองเพื่อให้รัศมีการยิงซ้อนกันก็ทำได้ (แต่มีโอกาสยิงที่แถวหลังจะยิงโดนแถวหน้าด้วยนะ) การพุ่งเข้าชาร์จของทหารม้าก็ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อทุกประเทศทำการวิจัยดาบปลายปืนสำเร็จแล้ว ก็เปรียบเสมือนพลปืนทุกคนถือหอกขนาดเล็กที่ยิงกระสุนได้เอาไว้ในมือ การนำทหารม้าพุ่งเข้าชาร์จสุ่มสี่สุ่มห้าอาจโดนดาบปลายปืนจ้วงสวนเอาได้ง่ายๆ แต่ถึงกระนั้นคุณก็ยังคงต้องการทหารม้าเพื่อจัดการกับปืนใหญ่ของฝ่ายตรงข้ามอยู่ดี เพียงแต่ในภาคนี้บทบาทของทหารม้าจะถูกจำกัดลงมากตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย อาจต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยสักพักจึงจะพอจับหลักรูปแบบการรบในยุคนี้ได้ จากนั้นคุณก็จะสามารถพัฒนา

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้