Rise of Nations : เกมเก่ากลับมาเล่นใหม่

ประเภท: RTS
ผู้พัฒนา: BIG HUGE GAMES
ผู้ผลิต: MICROSOFT GAME STUDIOS
ผู้จัดจำหน่าย: C-PLUS
เครื่องที่ต้องการ: P3 700 MHz, 128 MB RAM, 16MB DX8 COMPATIBLE 3D CARD
เครื่องที่แนะนำ: P4 1.3GHZ, 1GB RAM, 16 MB 3D CARD
จำนวนผู้เล่นสูงสุด: 8
ESRB: T

     ก่อนหน้าที่จะเขียนถึงตัวเกมผมคงต้องอธิบายก่อนว่า Rise of Nations นั้นมีความผูกพันอยู่กับเกมสุดยอดคลาสสิกอย่าง Civilization II และ Alpha Centauri เพราะ Brian Reynolds ผู้ออกแบบเกม Rise of Nations นั้นเป็นหนึ่งในทีมงานพัฒนาเกมทั้งสองมาก่อน ก่อนที่เขาจะแยกตัวออกมาก่อตั้ง Big Huge Games เพื่อพัฒนา Rise of Nations ดังนั้นเราจะได้เห็นอิทธิพลของเกมแนว Turn-Based อาทิ การแบ่งพื้นที่ และเส้นเขตแดนระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนสำคัญใน Rise of Nations ทำให้เกมมีมิติความลุ่มลึกกว่าเกม RTS ทั่วไป

     เมืองของคุณคือศูนย์กลางที่แผ่นรัศมีออกไปจนกลายเป็นเขตแดนประเทศของคุณ เพียงแต่ว่าจำนวนอาคารที่คุณสามารถสร้างได้ในเมืองเมืองหนึ่งนั้นมีจำกัด ซึ่งทำให้คุณต้องออกไปบุกเบิกสร้างเมืองใหม่ ยิ่งมีเมืองเยอะเท่าไรขอบเขตประเทศของคุณก็ยิ่งกว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น จนท้ายที่สุดขอบเขตของประเทศคุณก็จะเริ่มชนกับประเทศอื่น… สงครามก็เกิดขึ้น

เวลาเล่นคนเดียวก็มีแผนที่แบบ Risk นี้ให้เล่นด้วย

      ความเร็วของสงครามใน Rise of Nations นั้นเป็นแบบ RTS กล่าวคือ “รวดเร็ว” โดยมีเป้าหมายคือเป็นการยึดครองเมือง (ไม่ใช่ทำลาย) แต่มีความลึกกว่า RTS ทั่วไป หากคุณส่งทัพข้ามเขตแดนไปโดยไร้เสบียงทหารของคุณก็จะค่อยๆ ล้มตาย ทำให้คุณจำเป็นต้องสร้างเกวียนขนเสบียงตามกองทัพของคุณไปด้วย (เป็นอีกแนวคิดที่มาจากเกม Turn-Based) ระบบการต่อสู้ใน Rise of Nations เป็นแบบเป่ายิ้งฉุบ กล่าวคือ มีการแพ้ทางกันของยูนิตต่างๆ… พลหอกชนะทหารม้า ทหารม้าชนะพลธนู พลธนูชนะพลหอก เป็นต้น แต่ด้วยช่วงเวลาในเกมที่ครอบคลุมเวลายาวนานกว่า 6,000 ปีของอารยธรรมมนุษย์ จำนวนยูนิตใน Rise of Nations นั้นมีมากกว่า ค้อน กรรไกร กระดาษมากมายนัก
จุดเด่นอีกอย่างที่ Rise of Nations ยืมมาจาก Civilizations ก็คือการสร้าง Wonder of the World ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่ให้โบนัสพิเศษแก่ประเทศของคุณ ระบบการเก็บทรัพยากรก็เป็นอีกระบบที่ Rise of Nations เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่ทำให้ผู้เล่นไม่ต้องมาคอยบริหารรายละเอียดปลีกย่อย… เพียงคุณสร้างอาคารที่จำเป็นไว้บนแหล่งทรัพยากรแล้วส่งประชาชนไปประจำแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว ส่วนทรัพยากรทางความรู้ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในแง่ต่างๆ และทำให้ประเทศของคุณวิวัฒนาการข้ามยุคมาได้ก็มาจากอาคาร อย่างเช่น มหาวิทยาลัย (กลับไปสู่แนวคิดที่ว่ายิ่งมีเมืองมากยิ่งดี)

น้อยครั้งนักที่เกมจะยืดยาวจนถึงยุครถถัง

     ช่วงเวลา 6,000 ปีของ Rise of Nations แบ่งออกเป็น 8 ช่วงได้แก่ Classical, Medieval, Gunpowder, Enlightenment, Industrial, Modern และ Information ซึ่งก็คงต้องขอบคุณรากฐานของ Civilization อีกนั่นแหละที่ทำให้แต่ละยุคของ Rise of Nations นั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน ทั้งในส่วนของยูนิต สิ่งก่อสร้าง และเทคโนโลยี ความแตกต่างนี้ทำให้เราไม่สามารถมองข้ามการค้นคว้าเทคโนโลยีต่างๆ ไปได้

     เท่าที่อ่านมาหลายคนอาจจะคิดว่าคงจะใช้เวลาเล่นเป็นวันๆ กว่าจะเล่น Rise of Nations จบสักเกมหนึ่ง แต่โดยทั่วไปแล้วชั่วโมงกว่าๆ ก็จบได้แล้ว… และนั่นนำมาซึ่งจุดด้อยของมัน ได้แก่การที่เกมจบเร็วเกินไป แม้จะมีแคมเปญมากมายให้เลือกเล่น แต่มันก็ขาดเนื้อเรื่องไม่สามารถดึงดูดให้เราจดจำได้ (ไม่เหมือนเกมคลาสสิกอย่าง StarCraft ที่แม้จะเร็วแต่ก็มีเนื้อเรื่องโยงแต่ละฉาก)

เงื่อนไขในการเอาชัยชนะนั้นมีให้เลือกหลายแบบ

      ท้ายสุดแล้วในเมื่อนี่เป็นการนำเกมคลาสสิกกลับมาเล่นและรีวิวอีกครั้ง ผมคงจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องกราฟิกว่ามันตกยุคไปแล้ว เพียงแต่ในกรณีของ Rise of Nations นั้นกราฟิกก็ยังอยู่ในระดับที่รับได้ ผมแนะนำว่าหากคุณเป็นแฟนเกมแนว Turn-Based ที่ไม่ค่อยชอบแนว RTS หรือแฟนเกม RTS ที่ไม่ชอบเกม Turn-Based ให้คุณลองมาเล่น Rise of Nations ดู เพราะมันคือส่วนผสมของเกมทั้งสองแนวที่ลงตัวชนิดที่หาตัวจับได้ยาก 

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้