Empire: Tatal War ก้าวสู้ความเป็นมหาอำนาจด้วยเทคนิคที่เหนือกว่า

เชื่อว่าในตอนนี้หลายๆ คนคงได้มีโอกาสสัมผัสกับความมันส์ของ Empire Total War กันไปบ้างแล้ว ซึ่งในภาคนี้มีรายละเอียดในการเล่นต่างไปจากภาคก่อนพอสมควร ทั้งรูปแบบการบริหารจัดการที่เปลี่ยนรูปแบบไปมาก รวมถึงการสู้รบในยุคศตวรรศที่ 18 ก็มีรูปแบบการรบที่ต่างไปจากภาคก่อนๆ ด้วย เราจะมานำเสนอเทคนิกควรรู้ในการเล่น เพื่อให้ทุกท่านได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการสร้างอานาจักรของตัวเองไปจนถึงกรีฑาทัพยึดครองโลกกันครับ

กำแพงก็ไม่ใช่อุปสรรคขวางกั้นการขยายอำนาจในภาคนี้

เซ็นสนธิสัญญาการค้าให้เยอะเข้าไว้

การเซ็นสนธิสัญญาการค้า (Trade Agreement) นั้นจะช่วยเปิดเส้นทางการค้าระหว่างเรากับประเทศอื่น ซึ่งเป็นหนทางนำรายได้เข้าสู่ประเทศที่ง่ายแต่คุ้มค่าสุดๆ ยิ่งเมืองของเรามีมูลค่าทางเศรษฐกิจและสินค้าส่งออกมาก ก็จะยิ่งมีกำไรจากการค้า (Trade Income) มากตามไปด้วย ดังนั้นตั้งแต่เริ่มเกมควรเจรจาเปิดเส้นทางการค้ากับทุกประเทศที่เป็นไปได้ เพื่อเซ็นสัญญาการค้าให้ได้มากที่สุด (จำนวนสูงสุดของสนธิสัญญาการค้าที่เราเซ็นได้ขึ้นกับจำนวน Trade Route Possible ของทุกท่าเรือที่เรามีนำมาบวกรวมกัน แต่อีกฝ่ายก็ต้องมี Trade Route ที่ว่างอยู่ด้วยนะ) เป็นวิธีเพิ่มรายรับแบบง่ายๆ ที่ทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบเกม ยิ่งเมืองเราพัฒนาจนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง มีสินค้าส่งออกเยอะ ก็ยิ่งทำกำไรจากการค้าขายได้มากขึ้นตามไปด้วย ช่วงต้นเกมนั้นการเปิดเส้นทางการค้ากับแค่ละประเทศอาจมีมูลค่า 300-500 ต่อเทิร์น แต่ช่วงท้ายๆ อาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000-20,000 ต่อเทิร์นเลยทีเดียว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเกมนั้นจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงควรเข้าไปตรวจเช็คความสัมพันธ์อยู่ในหน้าจอการฑูตและลองเจรจาเซ็นสนธิสัญญาการค้ากับประเทศใหม่ๆ ที่พอจะตกลงกันได้อยู่เสมอๆ

คอยเปิดหน้าจอการฑูตเพื่อหาทางเจรจาเซ็นสนธิสัญญาการค้ากับประเทศที่มีความสัมพันธ์ระดับ Indifferent ขึ้นไปอยู่เสมอ

การเพิ่มมูลค่าของ Trade Route

Trade Route แต่ละเส้นนั้นจะมีมูลค่าการค้ามากน้อยขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งของพื้นที่ (Region Wealth) ซึ่งจะมากน้อยตามแต่สิ่งก่อสร้างที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเขตปกครองนั้น นอกจากนี้สินค้าที่เราผลิตได้ในแต่ละภูมิภาคยังมีการเชื่อมต่อถึงท่าเรือที่มี Trade Route โดยอัตโนมัติ ดังนั้นพวกสินค้าที่เราได้จากการเก็บเกี่ยวทรัพยากร หรือผลิตได้จากโรงช่าง (Craft Workshop) จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้กับ Trade Route ของเราทันที ยิ่งมีสินค้าที่ผลิตได้มาก มูลค่าการส่งออกของ Trade Route ก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย ดังนั้นสำหรับเมืองที่ไม่มีปัญหาด้านการปกครอง ก็ควรเลือกสร้าง Craft Workshop บน Town ใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมา เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งของพื้นที่ และเพิ่มอัตราการผลิตสินค้าส่งออกมาเพิ่มมูลค่าการส่งออกของ Trade Route ด้วย

Trade Route แต่ละเส้นจะมีมูลค่าการค้าขายตั้งแต่ หลายร้อย ไปจนถึงหลายพันต่อเทิร์น ตามแต่จำนวนสินค้าและความมั่งคั่งของประเทศคู่ค้า

ศัตรูของมิตรก็คือศัตรู และ ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร (งงมั้ย)

รูปแบบความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างประเทศในภาคนี้จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นลูกโซ่ ประเทศที่เป็นพันธมิตรกันส่วนใหญ่จะเข้าร่วมสงครามพร้อมกันเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มพันธมิตรถูกโจมตี แม้แต่ประเทศที่เป็นคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่หากเราไปโจมตีประเทศคู่ค้าของเขาก็อาจถูกยกเลิกสนธิสัญญาการค้าได้ ดังนั้นก่อนจะประกาศสงครามกับใครจะต้องดูให้ดีว่าประเทศนั้นมีใครเป็นพันธมิตรและคู่ค้าอยู่บ้าง การทำสงครามสุ่มสี่สุ่มห้านอกจากจะเพิ่มศัตรูโดยไม่จำเป็นแล้วเรายังอาจเสียประเทศคู่ค้าที่ทำการค้าขายกันอยู่ไปเปล่าๆ ทำให้รายได้จากการค้าลดลงอีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน แม้การโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่งจะทำให้มิตรของประเทศนั้นๆ ไม่พอใจเรา แต่ว่าศัตรูของประเทศนั้นๆ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับเราแทน และเราก็สามารถผูกมิตรทำการค้ากับประเทศเหล่านั้นแทนประเทศที่ตัดสัมพันธ์กับเราไปได้ด้วย ดังนั้นเราอาจใช้การทำสงครามกับประเทศหนึ่ง เพื่อเอาใจและผูกมิตรกับอีกประเทศหนึ่งก็ได้ ขอให้แน่ใจว่าคุณทำแบบนี้เพื่อผลประโยชน์ที่คุ้มค่าจริงๆ เท่านั้น

ความรู้คืออำนาจ

การค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในภาคนี้ ทั้งเทคโนโลยีการทหาร และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ล้วนแล้วแต่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนแผนการยึดครองโลกของคุณทั้งสิ้น ควรสร้าง School ทันทีที่ทำได้ และควรมี School ในครอบครองราวๆ 4-5 หลัง เพื่อให้ดำเนินการวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง เน้นคุณภาพในการวิจัยด้วยการอัพเกรด School และนำ Gentleman เข้าไปประจำเพื่อช่วยในการวิจัย การมีอาคารวิจัยประสิทธิภาพสูง 4-5 แห่ง จะดีกว่ามี School จำนวนมากทำหลายๆ โปรเจคแต่ใช้เวลาเป็นสิบๆ เทิร์นในการวิจัยแต่ละโครงการ (ถ้ามี School ติดมากับเมืองที่ยึดได้ก็ทำลายทิ้งแล้วเอาที่ไปสร้างอย่างอื่นจะดีกว่า)

การเลือกโครงการที่จะวิจัยควรดูจากความต้องการของเมืองว่าต้องการสิ่งก่อสร้างประเภทไหนมาเพิ่มโบนัสบ้าง เช่นถ้าเมืองคุณประสพปัญหาประชากรไม่เพิ่มเนื่องจากมีปัญหาด้านอาหาร (เมืองที่หยุดเติบโตจะไม่มี Town ใหม่ๆ เกิดขึ้นอีก) ก็ควรวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อให้อัพเกรดฟาร์มต่อได้ จะได้ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรสูงขึ้น เมืองจะได้เจริญเติบโตได้ตามปกติ หรือสำหรับผู้ที่เตรียมจะเข้าสู่สงครามก็ควรวิจัยดาบปลายปืนให้ได้ถึงขั้น Ring Bayonet เป็นอย่างต่ำ ซึ่งจะเป็นดาบปลายปืนแบบวงแหวนสวม ทำให้ปืนของเราใช้งานได้ทั้งการยิงในระยะไกล และแทงในระยะประชิด เพิ่มความสามารถในการรบให้กองทัพของเราได้มาก การเลือกงานวิจัยค่อนข้างมีผลมากในช่วงต้นเกม เพราะสิ่งก่อสร้างทุกอย่างล้วนแล้วแต่ต้องการเทคโนโลยีในการปลดล็อคเพื่ออัพเกรด ดังนั้นควรเลือกให้เหมาะสมกับแผนการพัฒนาของคุณ เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปโดยใช่เหตุ

ควรดูผังการวิจัยให้ดีเพื่อเลือกงานวิจัยได้เหมาะสมกับความต้องการเทคโนโลยีในขณะนั้น

ทั้งดาบปลายปืนและการยิงสลับแถวกันของพลปืน ต่างก็ต้องมีการวิจัยเพื่อปลดล็อคทางเทคโนโลยีก่อนทั้งนั้น

การเก็บเลเวลและใช้งาน Agent

ในภาคนี้จะมี Agent เพียงสามชนิดให้เราเลือกใช้งาน นั่นก็คือ Gentleman, Rake และ Missionary โดย Gentleman เป็น Agent ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในภาคนี้ พวกเขาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวิจัยใน School หรือขโมยเทคโนโลยีของฝ่ายตรงข้าม รวมถึงท้าดวลกับ Gentleman ของฝ่ายตรงข้ามเพื่อเป็นการกำจัด Agent ของอีกฝ่ายแบบสุภาพอีกด้วย ส่วน Rake คือจารชนที่ทำหน้าที่เป็นทั้ง Thief และ Assassin ในเวลาเดียวกัน ใช้งานได้ทั้งสอดแนม ก่อวินาศกรรม และลอบสังหารแม่ทัพ สำหรับ Missionary นั้นมีหน้าที่หลักเพียงอย่างเดียวคือเผยแพร่ศาสนาของเราให้ประชาชนทั่วไปเปลี่ยนมานับถือศาสนาประจำชาติ

สำหรับ Gentleman นั้นหลักๆ เราจะใช้ในการเร่งงานวิจัยใน School เพื่อให้การวิจัยเสร็จเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการเก็บเลเวลแบบง่ายๆ และปลอดภัย เมื่อมีเลเวลสักระดับหนึ่งอาจส่งไปขโมยเทคโนโลยีจากประเทศอื่นบ้างก็ได้ หรืออาจส่งไปท้าดวลกับ Gentleman ของฝ่ายตรงข้ามเพื่อตัดกำลังก็ได้ หากจะเน้นการใช้งานด้านใดก็ควรสั่งการงานนั้นบ่อยๆ เพื่อเก็บ Trait ที่เกี่ยวข้อมาเพิ่มโบนัสความสำเร็จในการปฏิวัติงาน ทั้งการขโมยเทคโนโลยีและการดวล แต่โดยปกติแล้วระดับการวิจัยของเราจะไม่ค่อยตามหลัง AI มากนัก เว้นแต่เราจะเล่นประเทศเล็กๆ อีกทั้งการสังหาร Gentleman ของอีกฝ่ายก็ใช้ Rake ไปจัดการก็ได้ จึงควรเน้นปั้น Gentleman ไปทางสายนักวิจัยจะดีกว่า

Rake นั้นเป็นจารชนที่ทำหน้าที่ได้ทุกอย่าง ทั้งสอดแนม ก่อวินาศกรรม และลอบสังหาร แต่สำหรับ Rake ที่เพิ่งเกิด อัตราความสำเร็จในการทำงานนั้นค่อนข้างจะต่ำ แม้แต่แค่งานสอดแนมรายละเอียดเมืองก็อาจมีอัตราความสำเร็จน้อยมากๆ วิธีการเก็บเลเวลให้กับ Rake แบบง่ายๆ ก็คือการส่งไปสอดแนมพวกกองทหารกองเล็กๆ หรือสิ่งก่อสร้างที่อยู่นอกเมืองของประเทศอื่นก่อน เมื่อสอดแนมเก็บเลเวลจนได้ระดับนึงจึงค่อยส่งไปทำงานชิ้นใหญ่ขึ้นๆ เช่นสอดแนมเมืองใหญ่ๆ ไปจนถึงก่อวินาศกรรมและลอบสังหาร

Missionary แม้จะทำหน้าที่ได้อย่างเดียวคือเผยแพร่ศาสนา แต่ก็สามารถใช้งานได้หลากหลายสถาณการณ์ ทั้งแก้ปัญหาด้านศาสนาโดยเปลี่ยนศาสนาของคนในเมืองที่เพิ่งยึดได้ให้มานับถือศาสนาประจำชาติของเรา รวมไปถึงใช้ในการทำสงครามศาสนา ด้วยการส่งไปเผยแพร่ศาสนาของเรายังเมืองของฝ่ายตรงข้าม (ที่นับถือคนละศาสนากับเรา) ยิ่งมีคนเปลี่ยนมานับถือศาสนาของเรามากเท่าไหร่ Public Order ของเมืองก็จะยิ่งต่ำลง และประชาชนจะเอนเอียงมาทางเรามากขึ้น บางครั้งการปิดล้อมเมืองของฝ่ายตรงข้ามที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาของเราก็จะจบลงโดยการยอมแพ้ มากกว่าที่ชาวเมืองจะจัดทหารอาสาออกมาสู้ขั้นแตกหักกับเรา หรือแม้ทหารในเมืองจะสู้ แต่ก็จะไม่มีกองหนุนจากทหารอาสาของชาวเมืองมาช่วยรบด้วย เพิ่มความง่ายในการยึดเมืองโดยหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้มาก Missionary จึงเหมาะกับการกัดเซาะรากฐานของศัตรู (หรือแม้แต่เพื่อนบ้าน) เพื่อปูทางไปสู่การบุกโจมตีในอนาคต

Gentleman จะมีประโยชน์ในการช่วยการวิจัยมากกว่าด้านอื่นๆ

การใช้งาน Rake ควรเริ่มจากภารกิจง่ายๆ เพื่อเก็บเลเวลไปก่อน แล้วค่อยทำภารกิจยากๆ เมื่อมีเลเวลพอสมควรแล้ว

การเผยแพร่ศาสนาด้วย Missionary เป็นแผนการระยะยาวที่ช่วยให้เรายึดเมืองได้ง่ายขึ้น และลดปัญหาที่จะตามมาหลังการยึดครองได้ด้วย

สงครามเป็นเรื่องของคนรวย

มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ถูกบีบให้ต้องทำสงครามตั้งแต่เริ่ม แต่โดยปกติแล้วเราไม่ควรจะทำสงครามในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศยังไม่มั่นคง เพราะการทำสงครามนั้นต้องใช้เงินมหาศาล ทั้งตอนเกณฑ์ทหาร ที่ต้องใช้เงินจำนวนมากและยังมีค่าบำรุงรักษากองทัพ (Upkeep Cost) ที่ต้องจ่ายทุกๆ เทิร์นอีก ดังนั้นยิ่งเรามีกองทัพขนาดใหญ่ รายได้ต่อเทิร์นของเราก็จะยิ่งถูกหั่นออกไปมากเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีค่าจ้างทหารกองหนุนซึ่งต้องจ่ายเพื่อเสริมจำนวนทหารใหม่เข้ามาแทนทหารที่ตายไปในการรบอีกด้วย ส่วนเมืองที่เรายึดมาได้เราก็ต้องจ่ายค่าซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างทุกอย่างในเมืองที่ถูกฝ่ายตรงข้ามทำลายทิ้งก่อนจะแพ้อีก และประชาชนในเมืองก็ยังเป็นปฏิปักษ์กับเราทำให้เมืองนั้นมี Public Order ต่ำติดดิน จนเราอาจต้องงดเก็บภาษีจากเมืองนั้นๆ ไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกบฎ ทั้งหมดทั้งมวลหมายความว่าเราต้องใช้เงินจำนวนมากในการทำสงคราม แต่กว่าจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์คืนจากดินแดนที่ยึดมาได้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นแล้วถ้าสถาณการณ์ไม่บีบบังคับจริงๆ ก็ควรทำสงครามเมื่อพร้อมเท่านั้น และค่อยๆ ขยายดินแดนไปทีละน้อยเพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมากเกินไป จะดีกว่า

การทำสงครามเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะให้ผลตอบแทนในระยะยาว ดังนั้นควรระวังอย่ารีบเทหมดหน้าตัก แต่ให้ค่อยๆ เล่นแบบช้าแต่ชัวร์จะดีกว่า

พยายามยึด Capital City เป็นหลัก

แม้จะไม่มีการเขียนแบ่งแยกอย่างชัดเจน แต่ Regional Capital สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท ซึ่งขอเรียกว่า Capital City กับ Local City ก็แล้วกัน โดย Capital City นั้นเป็นเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นเมืองซึ่งเป็นเมืองหลวงจริงๆ ของประเทศนั้น (แต่บางประเทศอาจมี Capital City มากกว่าหนึ่งแห่ง) ในเมืองจะมีสิ่งก่อสร้างครบทั้ง 6 อย่างให้สร้าง ผิดกับ Local City ที่มีแค่ศาลากลางกับกำแพงเมืองให้สร้างเท่านั้น นอกจากนี้ Capital City ยังเป็นเมืองที่มีมูลค่าสูงในทุกๆ ด้าน ทั้งให้ภาษีเยอะ, เพิ่มโบนัสการวิจัย, ทำให้ Agent เกิดเร็วขึ้น, สามารถสร้างทหารระดับสูงเช่น Line Infantry ได้ทันที แถมมีโรงสร้างปืนใหญ่ด้วย ดังนั้นเมื่อคิดจะทำสงครามขยายดินแดน ควรมองหาพวก Minor Nation ที่อยู่ใกล้ๆ ดินแดนของเรา (พวกนี้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีเมืองแค่ 1-2 เมืองซะส่วนใหญ่) แล้วทำการยึด Capital City ของพวกนี้มาไว้ในครอบครองจะมีค่ากว่าการไปยึด Local City 3-4 แห่งซะอีก โดยทั่วไปแล้วเราจะรู้ได้ว่าเมืองไหนคือ Capital City โดยดูจากภายนอกก็ได้ เพราะมีขนาดและลักษณะต่างกันมาก

ซ้ายคือ Capital City ขวาคือ Local City สามารถแยกความต่างได้ด้วยตาเปล่า

การแก้ปัญหาเรื่อง Public Order

ความสุขของประชากรในเมือง หรือ Public Order จะมากหรือน้อยมีเหตุผลมาจากหลายปัจจัย สิ่งที่เราต้องทำก็คือรักษาความสุขให้มากกว่าความไม่พอใจ ก็จะปกครองเมืองได้โดยไม่เกิดการกบฎ โดยปกติแล้วถ้าเราเก็บภาษีตามปกติ ค่า Public Order ก็จะไม่ลดต่ำมากนัก แต่สำหรับบางเมืองจะมีเหตุผลอย่างอื่นที่ทำให้ Public Order ต่ำลง เช่นเมืองที่เราเพิ่งยึดมาได้จากฝ่ายตรงข้าม จะมีปัญหาความขัดแย้งในหลายๆ ด้านจนมี Public Order ต่ำติดดิน ในกรณีนี้เราสามารถงดเก็บภาษีจากเมืองที่มีปัญหาได้โดยติ๊กถูกที่ช่อง Exempt region from tax เพื่องดเก็บภาษีจากเมืองนั้น เป็นวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระหว่างที่เราค่อยๆ สร้างสิ่งก่อสร้างอื่นๆ มาแก้ไขปัญหาความไม่พอใจในเมือง (นอกจากนี้การงดเก็บภาษียังมีประโยชน์อีกทางคือทำให้เมืองมีอัตราการเพิ่มประชากรสูงขึ้นมาก ทำให้มี Town ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเร็ว ดังนั้นเราอาจงดเก็บภาษีจากเมืองบางแห่งเพื่อเร่งการเติบโตของ Town อีกทางหนึ่งก็ได้)

การเพิ่ม Public Order แบบง่ายๆ คือการสร้างสถานบันเทิง (Tavern) ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะกลาง โดยการเพิ่ม Public Order โดยตรง แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาความไม่พอใจในด้านอื่นๆ ให้ลดลงนัก กระนั้นก็เป็นวิธีที่รวดเร็วกว่า และช่วยให้เมืองเข้าสู่ภาวะปกติไวขึ้น เราจะได้กลับมาเก็บภาษีจากเมืองนั้นได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องงดเก็บภาษีเป็นระยะเวลานาน

อีกวิธีคือเพิ่มจำนวนทหารที่คอยเฝ้าดูแลเมือง ก็เป็นการเพิ่ม Public Order โดยตรงได้อีกทางหนึ่ง ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นมักจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องศาสนา คือในเมืองจะมีความไม่พอใจที่เกิดจากการที่คนในเมืองนับถือศาสนาไม่เหมือนกัน หรือไม่ได้นับถือศาสนาประจำชาติของเรา วิธีแก้ไขคือการสร้างโรงเรียนศาสนา (Church School, Ashram) การสร้างโรงเรียนศาสนานั้นจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้โดยเพิ่มความสุขให้กับประชากรที่นับถือศาสนาประจำชาติ รวมทั้งคอยเผยแพร่ศาสนาไปด้วย ทำให้ประชากรในเมืองนั้นค่อยๆ เปลี่ยนมานับถือศาสนาประจำชาติของเรา เป็นการแก้ปัญหาความไม่พอใจด้านศาสนาในระยะยาว (แต่อาจต้องใช้เวลาหน่อย) ในทางกลับกัน บางครั้งเมืองที่เรายึดได้ก็มีโรงเรียนศาสนาที่เป็นศาสนาของฝ่ายตรงข้ามติดมาด้วย ให้จัดการทำลายทิ้งซะแล้วสร้างโรงเรียนศาสนาของเราขึ้นมาแทนจะได้ไม่เป็นปัญหาในภายหลัง ทั้งนี้โรงเรียนศาสนายังเพิ่มจำนวนนักบวชสูงสุดที่เรามีได้อีกด้วย ซึ่งเราสามารถส่งนักบวชเข้าไปประจำในเมืองที่ต้องการ เพื่อเร่งให้คนในเมืองมีการเปลี่ยนมานับถือศาสนาของเราได้เร็วขึ้น

เมืองที่เพิ่งถูกยึดมาได้จะมี Public Order ต่ำมาก ต้องระวังการกบฎของประชาชนให้ดี

<H2>Trade Theatre คือขุมทรัพย์
ในภาคนี้จะมีพื้นที่ที่เรียกว่า Trade Theatre อยู่ 4 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งจะมี Trade Post อีก 5 จุดให้เราสามารถนำเรือพานิชย์ (Trade Ship) เข้าไปยึดครองได้ ซึ่งเมื่อยึดแล้วเราจะได้ Trade Route เชื่อมต่อจาก Trade Post แห่งนั้นกลับมายังประเทศของเรา ซึ่งแม้แต่ช่วงต้นเกมก็ยังมีมูลค่าการค้าขายถึง 400 – 600 ต่อหนึ่ง Trade Route เลยทีเดียว และอาจเพิ่มมูลค่าขึ้นถึง 1000 ในช่วงท้ายเกม ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกหนทางการนำเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งในหลายๆ จุดอาจมีประเทศอื่นเข้าไปยึดครองอยู่ก่อนแล้ว แต่เราก็สามารถขับไล่ออกโดยใช้เรือโจรสลัดของเรา (สั่งกองเรือรบของเราเข้าปล้น Trade Route ของฝ่ายตรงข้ามสักแห่ง จะทำให้กองเรือกองนั้นกลายเป็นเรือโจรสลัด) เข้าโจมตี Trade Ship ของประเทศอื่นที่ยึดครอง Trade Post อยู่ แล้วเอา Trade Ship ของเราเข้าไปยึดครองแทน (ไม่แนะนำให้ใช้กองเรือปกติเข้าโจมตี Trade Ship ของประเทศที่เป็นกลาง เพราะจะกลายเป็นการประกาศสงครามได้ ) ทั้งนี้ควรทิ้งกองเรือสักกองไว้คุ้มกัน Trade Post ที่เราครอบครองอยู่ด้วย ซึ่งหลังจากหักค่า Upkeep ของเรือทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าเราครอบครอง Trade Post ในพื้นที่ได้ทั้งหมด ก็ยังทำให้มีรายรับเพิ่มขึ้นอีก 1000-2000 ต่อเทิร์นอยู่ดี (ถ้าเป็นช่วงท้ายเกมจะยิ่งมากกว่านี้) ดังนั้นหากต้องการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ก็อย่าลืมพิจารณาการทำสงครามแย่งชิง Trade Theatre กับประเทศอื่นด้วย

Trade Theatre คืออีกหนทางการนำกำไรมหาศาลเข้าสู่ประเทศ

เทคนิคการรบทางบก

การรบในศตวรรศที่ 18 นั้นจะเน้นความเป็นระเบียบเป็นหลัก โดยทั้งสองฝ่ายจะยืนเรียงแถวยิงกันอย่างสวยงาม รูปแบบการรบจะเป็นการเดินเรียงหน้ากระดานเข้าหาอีกฝ่ายแล้วตั้งแนวยิงใส่กัน ซึ่งการจัดขบวนที่ได้ผลดีคือการเรียงแถวของทหารสองกองร้อยให้ยืนซ้อนกันสองแถว เป็นแถวหน้า กับแถวหลัง การเรียงแถวแบบนี้เมื่อศัตรูวิ่งเข้ามาใกล้จะถูกทหารทั้งสองกองรุมยิงได้ และเมื่อแถวหน้าถูกพุ่งเข้าชาร์จ ให้รีบสั่งทหารกองนั้นเข้าสู่ Melee Mode เพื่อต่อสู้ในระยะประชิด ระหว่างนี้ทหารแถวหลังก็จะสามารถช่วยยิงสนับสนุนได้ขณะที่แถวหน้าช่วยยันข้าศึกเอาไว้ หากเห็นว่าแถวหน้าเริ่มสูญเสียทหารไปเยอะ (เช่นเหลือสัก 80 คน จากทหาร 120 คน) ก็สั่งทหารแถวหน้าให้วิ่งถอยไปด้านหลังของทหารแถวสอง แล้วให้ทหารแถวสองเตรียมเข้าสู่ Melee Mode เพื่อยันข้าศึกแทน ส่วนทหารแถวหน้าที่ถอยไปด้านหลังก็ให้สั่งตั้งแถวใหม่แล้วปลด Melee Mode เพื่อให้กลับสู่โหมดยิง และช่วยยิงสนับสนุนจากด้านหลัง รูปแบบนี้มีโอกาสที่แถวหลังจะยิงโดนพวกเดียวกันในแถวหน้าด้วย แต่ก็ทำความเสียหายให้กับฝ่ายตรงข้ามได้มาก
ปัญหาการยิงโดนกันเองเมื่อซ้อนแถวกันนั้นจะหมดไปหากเราจัดเรียงกองทหารไว้บนพื้นที่สูง เช่นเนินเขา ทหารแถวหลังที่อยู่สูงกว่าจะมีโอกาสยิงโดนพวกเดียวกันเองที่ยืนอยู่แถวหน้าน้อยลง ดังนั้นจะดีกว่าถ้าเราเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่บนเนินเขา แล้วรอให้ฝ่ายตรงข้ามบุกเข้ามาหาเราเอง และอย่าลืมตั้งพวก Artillery เช่นปืนใหญ่ เอาไว้บนที่สูงเสมอ เพื่อป้องกันการยิงโดนกันเอง (ยกเว้น Mortar กับ Rocket ที่มีมุมยิงสูงอยู่แล้ว เลยไม่ต้องกังวลการยิงโดนกันเองมากนัก)

การตั้งขบวนรบแบบสองแถวซ้อน เป็นรูปแบบที่มีประสิทธิภาพและพลิกแพลงรูปแบบการรบได้ดีด้วย

เทคนิกการรบทางน้ำ

การรบทางน้ำนั้นวัดกันที่กำลังเป็นหลัก ในความเป็นจริงแล้วไม่มีเทคนิคอะไรที่ทำให้กองเรือขนาดเล็กกว่าใช้พลิกสถาณการณ์ได้ แต่จริงๆ แล้วมีครับ เพียงแต่มันเป็นเทคนิกการรบที่อาศัยความทึ่มของ AI ในการชิงความได้เปรียบในการรบเท่านั้นเอง วิธีการก็คือให้กองเรือของเราแล่นเรือตามกระแสลมเพื่อให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้ แล้วล่อให้กองเรือฝ่าย AI แล่นตามเรามา เมื่อคิดว่าระยะห่างได้ที่ก็จัดการหันด้านข้างของกองเรือเราเข้าหาฝ่ายตรงข้ามที่กำลังแล่นตรงเข้ามาเพื่อจัดการยิงถล่ม ซึ่งเมื่อยิงถล่มไปชุดนึงแล้วก็ให้แล่นเรือตามกระแสลมหนีต่อทันที เมื่อทิ้งระยะห่างจนได้ระยะก็ทำแบบเดิมซ้ำอีก วนลูป Hit & Run แบบนี้ไปเรื่อยๆ วิธีนี้จะทำให้เราซัลโวฝ่ายตรงข้ามที่แล่นตามมาได้ด้วยการยิงเต็มอัตราศึกจากปืนใหญ่ด้านข้าง ส่วนอีกฝ่ายที่แล่นตามมาจะมีแค่ปืนใหญ่ด้านหน้าไม่กี่กระบอกเท่านั้นที่ยิงตอบโต้ได้ ทำให้เราได้รับความเสียหายน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่อีกฝ่ายจะได้รับ แล้วเราก็จะเอาชนะได้ในที่สุดแม้จะมีกำลังน้อยกว่าก็ตาม

คุณสามารถอาศัยความทึ่มของ AI ในการเล่นแบบ Hit & Run บนน่านน้ำและชิงความได้เปรียบด้วยกำลังรบที่น้อยกว่าได้

เมื่อผ่านช่วงกลางเกมไปแล้วและทุกอย่างไปได้สวย การยึดครองโลกก็ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้น

บทความนี้มาจากนิตยาสาร Future Gamer

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้