ประกอบการอย่างไรมิให้ผิดพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑

ประกอบการอย่างไรมิให้ผิดพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑
 

ต.ค. ๕๑
 

หลังจากที่พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ขณะนี้กฎกระทรวงหรืออนุบัญญัติตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งได้ร่างเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนจะส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดเพื่อประกาศใช้ตามขั้นตอนกฎหมายต่อไปนั้น หลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงมีข้อสงสัยในทางปฏิบัติ เพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างพ.ร.บ.ฉบับเก่าและฉบับใหม่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวเดียวกัน สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยปฏิบัติ จึงขอแจ้งถึงแนวทางการดำเนินการที่ใช้ในปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
 

ผู้ประกอบกิจการใดบ้างที่ต้องมาขออนุญาตตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ

ถ้าท่านประกอบอาชีพ ๔ ประเภทต่อไปนี้ ท่านต้องมาขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการ ได้แก่
 

๑.ประกอบกิจการโรงหนัง หมายถึง โรงหนังทั่วๆไปที่เรารู้จัก เช่น โรงหนังตามศูนย์การค้าต่างๆ โรงหนังกลางแจ้ง รวมไปถึงการเปิดห้องเพื่อฉายหนังแผ่น (วีซีดี/ดีวีดี)แล้วเก็บเงินผู้ดู
 

๒.ประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ หมายถึง ผู้ที่ขายแผ่นวีซีดี ดีวีดีหนังต่างๆ ไม่ว่าจะเปิดขายเป็นร้าน เป็นบูธ แผงลอย ฯลฯ รวมไปถึงศูนย์บริการให้เช่าหนังแผ่นต่างๆด้วย
 

๓.ประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์ หมายถึง ผู้ที่ขายแผ่นวีซีดี ดีวีดี ซีดีรอมเกม หรือวีซีดี ดีวีดีคาราโอเกะ (ข้อนี้ต่างจากข้อ ๒ ตรงเนื้อหา แม้จะใช้วัสดุเหมือนกัน เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ ให้ความหมายของคำว่า “วีดิทัศน์” เป็นการเฉพาะว่าเป็นวัสดุที่บันทึกเกมการเล่นหรือคาราโอเกะ อย่างไรก็ดี ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ หากขอใบอนุญาตตามข้อ ๒ จะได้รับอนุญาตให้ขายแผ่นเกม/แผ่นคาราโอเกะตามข้อ ๓ ไปโดยปริยาย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรยื่นขออนุญาตตามม. ๓๘)
 

๔.ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ หมายถึง ผู้ที่เปิดร้านเกม ร้านเกมอินเตอร์เน็ต ร้านคาราโอเกะ (เฉพาะร้านที่มิได้จดทะเบียนเป็นสถานบริการ หากร้านใดมีใบอนุญาตเป็นสถานบริการจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว ร้านเกม/ร้านคาราโอเกะนั้นๆไม่ต้องมาขอใบอนุญาตจากกระทรวงวัฒนธรรมอีก)
 

อนึ่ง เนื่องจากกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการทั้ง ๔ ประเภทข้างต้น ยังอยู่ในระหว่างนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบตามขั้นตอนทางกฎหมาย ดังนั้น ในทางปฏิบัติเพื่อมิให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการที่ตั้งใจจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทางกระทรวงจึงจะออกเป็น “ใบรับ” ให้ก่อน โดยทำได้ใน ๒ กรณีคือ กรณีแรก ออกใบรับให้ก่อน โดยดูจากรูปถ่ายและที่ตั้งร้าน แล้วส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสถานประกอบการตามหลังว่ามีลักษณะที่เหมาะสมหรือตรงตามที่ยื่นเอกสารหรือไม่ ทั้งนี้ โดยยึดกฎหมายเดิมเป็นเกณฑ์ไปก่อน หรือกรณีที่สอง(ที่หลายจังหวัดดำเนินการ) คือ มีการจัดคณะทำงานจัดระเบียบสังคมออกไปตรวจก่อน แล้วจึงออกใบรับให้ ทั้งนี้ แล้วแต่กรณี ซึ่งเมื่อกฎกระทรวงออกแล้ว หากร้านใดปฏิบัติถูกต้องตามกฎ ก็สามารถออก “ใบอนุญาต” ให้ได้ทันที แต่หากร้านใดยังไม่เข้าข่ายและยังมีการปฏิบัติที่ฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่ก็อาจไม่ออกใบอนุญาตให้ ดังนั้น ช่วงนี้ จึงถือเป็นช่วงของการผ่อนผัน และจะไม่จับกุม เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงสถานประกอบการให้ถูกต้องตามที่ควรเป็นโดยใช้ระเบียบเดิมเป็นฐาน(ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ปี ๔๙)
 

สำหรับผู้ประกอบการใดที่ใบอนุญาตเดิมยังไม่หมดอายุ ก็ให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุ แต่หากผู้ประกอบการใดใบอนุญาตหมดอายุหรือประกอบการใหม่ แต่ไม่มายื่นขออนุญาต และไม่มีแม้แต่ “ใบรับ” ถือว่าประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบ จะต้องถูกดำเนินคดีทันที เช่น เปิดแผงขายวีซีดี/ดีวีดีหนังแผ่น และไม่มายื่นขออนุญาต จึงไม่มีทั้งใบอนุญาตเก่า(ที่ยังไม่หมดอายุ) หรือใบรับที่แสดงว่ามายื่นขออนุญาตแล้ว เช่นนี้จะถูกจับดำเนินคดีในฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนและจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่มีใบอนุญาตตามมาตรา ๓๘ มีความผิดและโทษตามมาตรา ๗๙ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน
 

ฉาย/ขายวีซีดีและดีวีดีหนังหรือเกมต้องผ่านการเซ็นเซอร์
 

นอกจากนี้ ภาพยนตร์ (หนัง /สารคดี/การ์ตูน ฯลฯ) หรือวีดิทัศน์ (เกม/คาราโอเกะ) ที่นำไปฉาย หรือให้เช่า หรือขายตามร้าน แผงลอย และบูทต่างๆก็ต้องเป็นภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณา (เซ็นเซอร์)จากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แล้ว โดยถ้าเป็นหนังฉายในโรง ฟิล์มนั้นต้องมาผ่านการเซ็นเซอร์และมีหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ แต่ถ้าเป็นแผ่นวีซีดี ดีวีดี ก็ต้องมีสติ๊กเกอร์ที่มีหมายเลขรหัสกท. มีเครื่องหมายอนุญาตที่มีลักษณะเป็นวงรีติดอยู่ที่ปก /หรือที่หีบห่อของวีซีดี /ดีวีดีนั้นๆ หากเป็นแผ่นวีซีดี/ดีวีดีที่ไม่มีสติ๊กเกอร์ หรือมีแต่เป็นการถ่ายซีร็อก ก็ถือว่าเป็นของปลอม ผู้ขายก็จะมีความผิดฐานนำภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาไปฉายหรือขาย ตามมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา ๗๘ คือ ปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท แต่ถ้าขาย/ฉายวีดิทัศน์(เกม/คาราโอเกะ)ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจะผิดตามมาตรา ๔๗ มีโทษตามมาตรา ๘๑ คือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท สำหรับกรณีศูนย์เช่าแผ่นวีซีดี/ดีวีดีหนังต่างๆ แม้เจ้าของลิขสิทธิ์จะยินยอมให้สำเนาเพื่อให้บริการลูกค้าได้ แต่ก็ต้องสติ๊กเกอร์หมายเลขรหัสและเครื่องหมายอนุญาตติดไว้ที่แผ่นหรือหีบห่อเช่นกัน
วีซีดี ดีวีดี หรือเทปที่ขายตามชายแดนไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น หนังฝรั่ง หนังจีน เพลงคาราโอเกะจีน ถ้าซื้อมาจำหน่ายจะผิดหรือไม่
 

ในกรณีที่ซื้อตามชายแดนไทย และเทปนั้นๆมีสติ๊กเกอร์ติดตามลักษณะที่ว่าไว้ตามข้างต้น ก็สามารถขายได้ ถือว่าเป็นการขายวีซีดี/ดีวีดีที่ถูกต้องตามกฎหมาย (แต่ต้องดูด้วยว่ามิใช่ทำแผ่นและสติ๊กเกอร์ปลอม) แต่กรณีที่ซื้อหนังหรือเพลงคาราโอเกะต่างประเทศจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือไปหิ้วซื้อมาจากเมืองนอก ถ้าซื้อไปดูเป็นส่วนตัว ย่อมทำได้ แต่หากซื้อมาเพื่อขายต่อ หรือทำเป็นธุรกิจโดยเทปนั้นๆยังไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามกฎหมายไทย (คือยังไม่ผ่านการเซ็นเซอร์) ผู้ขายย่อมมีความผิดตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์พ.ศ. ๒๕๕๑ เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดว่า ภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ทุกชนิด ถ้าขาย/ฉายในไทยต้องผ่านการตรวจทั้งสิ้น ยกเว้นจะเป็นภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่อยู่ในข่ายได้รับการยกเว้น (เช่น หนังข่าว หรือทำเพื่อดูเป็นการส่วนตัว เป็นต้น) และการที่นำเทปเหล่านี้มาขายโดยพลการเช่นนี้ เท่ากับของที่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น
 

เหตุใดผู้ขายวีซีดี ดีวีดีของปลอมจึงมีใบอนุญาตขายได้
 

การขายวีซีดี/ดีวีดี ที่เรียกว่าการประกอบกิจการเช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ ซึ่งต้องมาทำใบอนุญาตให้ขายได้ตามมาตรา ๓๘ หรือ ๕๔ นั้น เมื่อผู้ประกอบการมายื่นแจ้งความจำนงพร้อมเอกสารหลักฐานว่าขอประกอบอาชีพดังกล่าว เขามิได้แจ้งว่าเขาขายของปลอม หรือของลอกเลียนแบบ และแม้ทางราชการจะออกไปตรวจร้านของเขาก่อนออกใบอนุญาต ก็เชื่อว่าจะไม่พบสิ่งที่ผิดกฎหมายในเบื้องต้น ดังนั้น จึงออกใบอนุญาตให้ แต่เมื่อออกใบอนุญาตไปแล้ว หากไปตรวจพบภายหลังว่า ผู้ประกอบกิจการนั้น ขายของปลอม หรือของที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา (ไม่ผ่านการเซ็นเซอร์) ผู้ประกอบการก็จะมีความผิดในเรื่องฉาย เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณา อันเป็นคนละประเด็นกับการมาขอใบอนุญาตขาย สรุปคือ การที่ทางราชการออกใบอนุญาตให้ ก็เพื่อให้ไปประกอบกิจการขายได้ แต่มิใช่ออกให้เพื่อไปขายของผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการจงใจมาขอเพื่อไปทำผิด ก็ต้องว่ากันเป็นกรณีๆไป ว่าจะต้องรับโทษความผิดอย่างไร และในเรื่องใดบ้าง
 

ขายแผ่นซีดีเพลง เปิดตู้เพลงหยอดเหรียญ จะถือว่าเป็นร้านประกอบการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่
 

ร้านค้า หรือแผงลอยที่ขายแต่เทปหรือแผ่นซีดีเพลง ที่มีแต่เสียงร้อง และมิได้มีภาพประกอบแบบคาราโอเกะ และไม่มีการขายแผ่นดีวีดีหรือวีซีดีภาพยนตร์อื่นในร้าน ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะไม่อยู่ในความควบคุม เช่นเดียวกับตู้เพลงหยอดเหรียญ ซึ่งไม่ภาพเคลื่อนไหวประกอบแบบคาราโอเกะ ก็ไม่ต้องมาขอใบอนุญาต นอกจากนี้ คาราโอเกะแบบที่มีแต่ตัวหนังสือและเสียงในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีภาพอื่นประกอบ ก็ไม่ต้องมาขอใบอนุญาตเช่นเดียวกัน
 

ข้อปฏิบัติของร้านเกม/ร้านเกมอินเตอร์เน็ต
 

ในระหว่างที่กฎกระทรวงตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯยังไม่ได้ประกาศใช้ เพื่อประโยชน์แก่ตัวเด็กและลดทอนปัญหาสังคม เจ้าหน้าที่ก็ยังใช้ประกาศเดิมตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยพ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นแนวทางปฏิบัติอยู่ เช่น การให้บริการเด็กต่ำกว่า ๑๘ ปียังคงห้ามเข้าก่อนบ่าย ๒ โมงตั้งแต่จันทร์ถึงศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ และห้ามเข้าหลัง ๔ ทุ่มของทุกวัน รวมทั้งการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ สารเสพติดทุกชนิดในสถานที่ให้บริการ เป็นต้น ซึ่งหากผู้ประกอบการฝ่าฝืน แม้ตามพ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๓๐ เดิมจะเอาผิดไม่ได้เพราะไม่มีบทลงโทษตามกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งกฎกระทรวงใหม่ก็ยังไม่ได้ออกมาใช้ แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่นก็สามารถดำเนินคดีเอาผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กได้ และเมื่อกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯออกมาชัดเจนแล้ว ผู้ประกอบการนั้นๆอาจไม่ได้รับพิจารณาให้ได้รับใบอนุญาตก็ได้ เนื่องจากไม่ให้ความร่วมมือและตั้งใจฝ่าฝืนระเบียบ
 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของร้านเกมนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีความตั้งใจที่จะเชิญชวนร้านเกมต่างๆให้เข้ามาร่วมโครงการ“ร้านเกมสีขาว เพื่อเยาวชน” เพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมร่วมกัน มากกว่าการออกไปตรวจจับ โดยจะทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มพื้นที่ที่ดีๆ ให้มากขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณที่ผ่านมา ก็ได้เริ่มโครงการไปแล้ว และปีงบประมาณนี้จะได้ทำต่อเนื่องขยายผลต่อไป โดยจะร่วมมือกับสสส. บริษัทไมโครชอฟท์ และบริษัทเกมต่างๆทั้งในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์แก่ร้านเกมดีๆที่ทำประโยชน์ต่อสังคมให้มากขึ้น
 

ร้านอินเตอร์เน็ตทั่วไป จะเข้าข่ายพ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่

ร้านอินเตอร์เน็ต หรืออินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หากเป็นการเปิดให้บริการหาข้อมูลทั่วไป /ส่งอีเมล์ /Chat หรือหาข้อมูลจากเวบไซต์เพื่อทำหรือพิมพ์รายงาน โดยมิได้มีการเล่นเกมจากคอมพิวเตอร์ หรือเกมที่ดาวน์โหลดมาจากอินเตอร์เน็ต หรือเล่นเกมจากแผ่นแล้ว ก็จะยังไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯและไม่ต้องมาขอใบอนุญาต แต่หากเจ้าหน้าที่ไปตรวจพบภายหลังว่าร้านอินเตอร์เน็ตนั้นๆ มีการให้บริการเล่นเกม หรือมีลูกค้าเปิดเล่นเกมไม่ว่าจากแผ่นหรือเวบไซต์ โดยผู้ประกอบการก็ปล่อยปละละเลยให้เล่น ผู้ประกอบการก็จะมีความผิดฐานเปิดบริการร้านเกม โดยไม่ขอใบอนุญาตทันที จะต้องถูกจับปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน
 

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ร้านอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่มักจะมาขอใบอนุญาตไว้ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะมีการโหลดเกมมาเล่นหรือไม่ มิฉะนั้นหากตรวจพบก็จะมีความผิดตามที่ระบุไว้ทันที
 

สถานีโทรทัศน์และสถานีเคเบิ้ลทีวีต่างๆอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่

สถานีโทรทัศน์ทุกช่องและเคเบิ้ลทีวีอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไม่ได้อยู่ภายใต้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. ๒๕๑ จึงไม่ต้องมาขออนุญาตประกอบกิจการตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมถึงการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่นำไปฉายทางทีวี ก็จะมีคณะกรรมการของแต่ละช่องเป็นผู้กำกับดูแลเอง ยกเว้นว่า จะมีการนำภาพยนตร์ เช่น ละครหลังข่าวที่ฉายทางทีวีมาทำเป็นแผ่นวีซีดีจำหน่าย แบบนี้จะต้องแผ่นวีซีดีนั้นๆมาผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก่อน จึงจะไปวางจำหน่ายได้
 

ทั้งหมดข้างต้น คงจะให้ความกระจ่างแก่ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องระดับหนึ่ง หากต้องการทราบรายละเอียดในเรื่องอื่นๆเพิ่มเติม สามารถเปิดดูได้ที่เวบไซต์ www.culture.go.th ในส่วนที่เขียนว่าสำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หรือสอบถามได้ที่ media-oncc@hotmail.com
……………………………
อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สวช. กระทรวงวัฒนธรรม
 

คำที่เกี่ยวข้อง

สมัครรับข่าว OS

คุณอาจสนใจเรื่องนี้